ชำแหละ ล่าสุด! พรบ.ที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง กระทบประชาชนส่วนใหญ่ ?

ตามที่สภานิติบัญญัติแห่งชาติรับหลักการของ ร่างพระราชบัญญัติที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับล่าสุดไปเมื่อไม่นานมานี้ ร่างกฎหมายฯฉบับล่าสุดไม่ได้เปิดเผยสู่สาธารณะ เนื่องจากร่างกฎหมายฯนี้ ส่งผลกระทบมากต่อประเทศไทย การศึกษาพิจารณาในรายละเอียดจึงเป็นสิ่งจำเป็น ดังนั้นผู้เขียนขอใช้ข้อมูลของกระทรวงการคลังที่เผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต และนำมาเสนอเป็นประเด็นปัญหาข้อสงสัยต่าง ๆ เพื่อหวังให้เป็นข้อมูลสำหรับการพิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมายฯ ในชั้นคณะกรรมาธิการ ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติเพื่อให้ร่างกฎหมายฯ ได้รับแก้ไขปรับปรุงจนมีความเป็นธรรมต่อประชาชนและประเทศชาติอย่างแท้จริง ก่อนการลงมติผ่านร่างกฎหมายฯ ดังนี้

1. หมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทเกษตรกรรม และบ้านพักอาศัยหลังหลัก

ร่างกฎหมายฯ นี้ กำหนดให้ที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทเกษตรกรรม และบ้านพักอาศัยหลังหลักอยู่ในหมวดเดียวกันโดยกำหนดให้ราคาประเมินไม่เกิน 50 ล้านบาทได้รับการยกเว้นภาษี โดยอ้างเหตุผลจากการศึกษาของสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2556 ว่า เพดานยกเว้นภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาทจะสามารถคุ้มครองประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศได้มากถึง ร้อยละ 99.96 อย่างไรก็ตามเมื่อพิจารณาในรายละเอียดพบว่า ข้อมูลที่กระทรวงการคลังประชาสัมพันธ์ยังไม่ชัดเจนว่าจะมีประสิทธิภาพตามที่กล่าวอ้าง เพราะข้อกฎหมายหมวดนี้สามารถตีความได้หลายแบบ การตีความบางแบบอาจส่งผลตรงกันข้ามกับที่กล่าวอ้าง รวมทั้งอาจมีผลกระทบที่คาดไม่ถึงตามมา ดังนี้

การตีความแบบที่ 1 จะทำให้เกษตรกรรายย่อย เกือบทั้งประเทศเดือดร้อน
หากตีความว่า “บ้านและที่ดินเกษตรกรรมต้องอยู่ในที่ดินแปลงเดียวกัน รวมแล้วราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ยกเว้นภาษี” จะกระทบเกษตรกรรายย่อย ทำให้ต้องขายที่ดินของเกษตรกรรายย่อยทั้งประเทศ เพราะ เกษตรกรรายย่อยส่วนใหญ่มีบ้านแยกกับที่ดินเกษตรกรรม

การตีความแบบที่ 2 จะทำให้เกษตรกรรายย่อย ส่วนใหญ่เดือดร้อน
หากตีความว่า “บ้านพร้อมที่ดินหลังหลักราคาไม่เกิน 50 ล้าน และ ที่ดินเกษตรกรรมแปลงหลักเดียว ราคา ไม่เกิน 50 ล้านบาท ประเมินภาษีแยกจากกัน จึงยกเว้นภาษีทั้ง 2 ประเภท” จะกระทบเกษตรกรรายย่อยที่มีที่ดินเกษตรกรรมแปลงเล็กๆ หลายแปลงกระจัดกระจายไม่ติดกัน เกษตรกรรายย่อยจำนวนมากถือครองที่ดินลักษณะนี้ หากกฎหมายมีผลบังคับ เกษตรกรจะถูกบีบให้ขายที่ดินเกษตรกรรมให้เหลือแปลงเดียว ซึ่งอาจไม่พอทำกิน

 

การตีความแบบที่ 3 การตีความแบบให้ความเป็นธรรม
หากตีความว่า “บ้านพร้อมที่ดินทุกแปลง รวมกับ ที่ดินเกษตรกรรมทุกแปลง ราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท ได้รับการยกเว้นภาษี” น่าจะยุติธรรมที่สุด เพราะการรวมที่ดินทุกแปลง บ้านทุกหลังรวมกัน คือทรัพย์สินทั้งหมดแล้ว ไม่เกิน 50 ล้านบาท คือ ประชาชน ร้อยละ 99.96 ของประเทศจริง ดังนั้นจึงน่าจะยกเลิกการจัดเก็บภาษีที่ดินและบ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป เพราะไม่ว่าคุณจะมีบ้านกี่หลังที่ไม่เกิน 50 ล้านบาทก็ถือว่าเป็นคนจน คนชั้นกลางล่าง รัฐบาลไม่ควรกักขังประชาชนทางเศรษฐกิจ ด้วยการไม่ให้สร้างเนื้อสร้างตัวด้วยจำนวนที่ดินและปลูกสร้างราคาไม่แพง จำนวนไม่กี่หลัง

การตีความแบบที่ 4 เพดานยกเว้นภาษีคงที่ ถือว่าไม่เป็นธรรม
หากตีความว่า “เพดานไม่เกิน 50 ล้านบาท (ยกเว้นภาษี) เป็นเพดานคงที่ไม่มีการปรับเปลี่ยน ” จะถือว่าไม่เป็นธรรม เพราะเพดานประเมินราคาที่ดิน 50 ล้านบาทนี้ย่อมมีมูลค่าลดลงเรื่อยๆ ในอนาคต บ้านเดี่ยวทั่วไปอาจมีราคาเริ่มต้นที่ 50 ล้านบาทในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า ทำให้คนชั้นกลางที่ได้รับการคุ้มครองลดลงเรื่อยๆ ดังนั้นเพื่อความเป็นธรรมควรกำหนดให้มีการปรับปรุงเพดานประเมินราคาที่ดินเพื่อยกเว้นภาษี โดยให้สำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นหน่วยงานทำการศึกษากำหนดเพดานยกเว้นภาษีทุกๆ 5 ปี หรือ 10 ปี ดังนั้นเพดานยกเว้นภาษีจะขยับเพิ่มขึ้นตามมูลค่าเงินปัจจุบัน ทำให้สามารถคุ้มครองประชาชนชั้นล่างที่สมควรได้รับการคุ้มครองตามความเป็นจริง

 

การตีความแบบที่ 5 การใช้ราคาประเมินที่ดินปัจจุบันเป็นหลักในการเก็บภาษีประจำปี ถือว่าไม่เป็นธรรม
หากตีความว่า “ใช้ราคาประเมินที่ดินปัจจุบันในการประเมินเพื่อเก็บภาษีของทรัพย์สินในแต่ละปี” ถือว่าไม่เป็นธรรม เป็นการเอาเปรียบประชาชน เพราะราคาประเมินใหม่ในแต่ละปี เป็นเพียงตัวเลขในกระดาษที่รัฐบาลจัดทำขึ้นเป็นระยะ ๆ ซึ่งในชีวิตจริงแล้ว ประชาชนผู้อยู่อาศัยในที่ดิน ไม่ได้มีรายได้หรือผลประโยชน์ใด ๆ จากการเพิ่มขึ้นของราคาประเมินเลยแต่อย่างใด คือ มีรายได้เท่าเดิม แต่กลับต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทุกปี เพราะมีความเจริญเข้ามาทำให้ราคาประเมินที่ดินแพงขึ้น สุดท้ายเท่ากับเป็นบีบให้คนจน คนชั้นกลางต้องขายที่ดินให้กับคนรวย เพราะไม่สามารถจ่ายภาษีได้ เมื่อประชาชนขายที่ดินได้ราคาแพงก็ต้องจ่ายภาษีซื้อขายที่ดินในราคาแพงอยู่แล้วเช่นกัน เป็นธรรมอยู่แล้ว การมีบ้านพักเพื่ออยู่อาศัย ที่ไม่ใช่การปล่อยเช่าเชิงพาณิชย์ไม่มีรายได้หรือผลประโยชน์ใด ๆ เข้ามา ต้องจ่ายภาษีเพิ่มขึ้นทุกปีนั้นย่อมไม่เป็นธรรมแน่นอน ดังนั้นจึงขอเสนอให้มีการแก้ไขหลักการนี้ใหม่ว่า วิธีการคิดภาษีที่เป็นธรรม คือ การใช้ราคาซื้อขายในสัญญาซื้อขายที่ดินของกรมที่ดินของเจ้าของคนสุดท้ายคูณด้วยอัตราเงินเฟ้อจนถึงปัจจุบัน ถึงจะถูกต้องยุติธรรมต่อประชาชน

2. หมวดที่ดินและสิ่งปลูกสร้างประเภทบ้านพักอาศัยหลังที่ 2

ข้อวิเคราะห์ในหมวดนี้มี 2 ประเด็น ดังนี้

ประเด็น 1 หลักการที่ว่า บ้านหลังที่สองขึ้นไปทุกหลัง ต้องจัดเก็บภาษี เป็นธรรมหรือไม่?

ร่างกฎหมายฯ กำหนดว่า “ที่พักอาศัยหลังอื่น ๆ” ให้ใช้อัตราภาษีในหมวดนี้ หมายความว่า ร่างกฎหมายฯ นี้ มองว่าพักอาศัยหลังอื่น ๆ ตั้งแต่หลังที่สองเป็นต้นไป เป็นเรื่องฟุ่มเฟือย เกินความจำเป็น จึงต้องเก็บภาษี เพราะกฎหมายมองว่าที่ดินและบ้านเป็นเรื่องของคน ๆ เดียว ซึ่งคน 1 คนสามารถพักอาศัยอยู่ในบ้านเพียงหลังเดียวเท่านั้น
หมายความว่า ร่างกฎหมายฯนี้มองไม่เห็นความสำคัญของสถาบันครอบครัวที่อาศัยในบ้านและที่ดินทุกหลัง คนไทยทุกคนล้วนมีครอบครัว บ้านและที่ดินพักอาศัยไม่ใช่เรื่องของคน ๆ เดียว แต่เป็นเรื่องที่สัมพันธ์กับความเป็นตายร้ายดีและอนาคตของแต่ละครอบครัว การที่หัวหน้าครอบครัวคนหนึ่งต้องมีบ้านหลายหลังเพราะความจำเป็นของครอบครัว ไม่ใช่เรื่องเกินความจำเป็นของคน ๆ เดียว แต่เป็นเพราะความจำเป็นของครอบครัว ไม่ว่าแต่งงานแล้วหรือโสดก็ตาม ทุกคนล้วนมีครอบครัว มีญาติพ่อแม่พี่น้องที่ต้องดูแลค้ำจุนกันไป ตัวอย่างง่าย ๆ ที่เห็นกันทั่วไป เช่น มนุษย์เงินเดือนมีบ้านหลายหลัง เพราะเขาโตแล้วทำงานแล้วพ่อแม่จึงยกบ้านพร้อมที่ดินให้ เขาก็รับมรดกบ้านที่ต่างจังหวัดมา แต่เมื่อมาอยู่อาศัยในกรุงเทพก็ผ่อนคอนโดฯ เล็ก ๆ ใกล้ที่ทำงานไว้ห้องหนึ่ง ต่อมาแต่งงานมีครอบครัว มีลูก 2 สองคน คอนโดฯ ก็แคบไป จึงไปซื้อทาวน์เฮาส์หลังเล็ก ๆ ชานเมือง คอนโดฯ ไว้มาอาศัยอยู่เป็นครั้งคราวเวลาทำงาน หรือเก็บไว้ให้ลูกตอนโตเข้ามาเรียนในเมือง หรืออาจผ่อนบ้านเพิ่มอีก 1-2 หลังเก็บไว้ให้ลูก

การมีบ้านต่างจังหวัด 1 หลังเก็บไว้อยู่เวลาไปเยี่ยมญาติ คอนโดฯ 1 ห้อง เก็บไว้ใกล้ที่ทำงาน เผื่อให้ลูกมาอยู่ตอนเรียน และทาวน์เฮาส์ 1 ห้องไว้อยู่รวมกันยามวันหยุดเสาร์อาทิตย์ ทั้ง ๆ ที่ทั้ง 3 แปลงมีราคารวมกันแค่ 3 ล้านบาท เป็นความจำเป็นขั้นต่ำสุดของมนุษย์เงินเดือน คนชั้นกลาง แต่กฎหมายกลับมองว่าเป็นเรื่องเกินความจำเป็น และจะต้องเสียภาษีทั้ง ๆ ที่มีมูลค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาทมาก ร่างกฎหมายฯ นี้ได้บีบบังคับให้คนชั้นกลางต้องจ่ายภาษีบ้านหลังที่สองตลอดชีวิต ถ้าเขารับไม่ไหว ก็ต้องยกเลิกไม่สร้างให้ลูก ให้ลูกไปหากินเอาเอง ทำให้สังคมไทย เปลี่ยนโครงสร้างจากสังคมครอบครัวเกื้อกูล กลายเป็นสังคมครอบครัวโดดเดี่ยว พ่อแม่ลูกต่างคนต่างเอาตัวรอด ร่างกฎหมายฯ นี้จึงกระทบสถาบันครอบครัวและวัฒนธรรมของสังคมไทยโดยไม่เจตนา

 

ประเด็น 2 มีการเปิดช่องโหว่กฎหมายไว้หรือไม่?

“กฎหมายนี้ ไม่จำกัดจำนวนบ้านพักอาศัยสำรอง เพราะระบุว่า “ที่พักอาศัยหลังอื่น ๆ” ดังนั้น ใครจะมีกี่หลังก็ได้ เช่นมี 100 หลังก็ถือว่าเป็น “ที่พักอาศัยหลังอื่น ๆ” การมีที่พักอาศัยเกิน 5 หลังขึ้นไป เช่น 50 หลัง หรือ 100 หลัง อาจกลายเป็นช่องทางหลบเลี่ยงภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างเชิงพาณิชย์มาใช้ช่องทางนี้เพราะเสียภาษีต่ำกว่า เป็นการเปิดช่องโหว่ทางให้เจ้าหน้าที่มีโอกาสทุจริต ประพฤติมิชอบในอนาคตได้ ความจริงวิธีแก้ปัญหาตามความเป็นจริง คือ ใช้หลักการ บ้านพักอาศัยทุกหลังรวมกันไม่เกิน 5 หลัง และที่ดินเกษตรกรรมทุกแปลงไม่จำกัดจำนวน รวมแล้วไม่เกิน 50 ล้านบาท ไม่เกินต้องเสียภาษีถึงจะเป็นธรรม

3. หมวดที่ดินรกร้างว่างเปล่า

ร่างกฎหมายฯฉบับนี้มองว่า “ที่ดินรกร้างว่างเปล่ามีจำนวนมาก รกร้างเพราะเจ้าของที่ดินไม่รับผิดชอบดูแลพัฒนา ปล่อยทิ้งร้าง ซึ่งสามารถนำมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งหมด การเก็บภาษีในอัตราที่แพงมาก จะสามารถกระตุ้น (บีบบังคับ)ให้เจ้าของที่ดินจำเป็นต้องปล่อยให้ที่ดินได้รับการพัฒนา ในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง เช่น เจ้าของลงทุนเอง หรือ ขายให้นายทุน หรือ รัฐยึดทรัพย์นำมาขายทอดตลาด” เป็นเรื่องน่าคิดว่า ร่างกฎหมายฯ มองเพียงมุมเดียว มีทัศนคติคับแคบเกินไปไหม? แค่ต้องการให้ ที่ดินรกร้างใจกลางกรุงเทพฯ หรือกลางใจเมืองที่มีศักยภาพในการพัฒนา ซึ่งเป็นที่ต้องการของนักลงทุน ถูกขายออกมา ถึงกับต้องเข็นกฎหมายบังคับทั่วประเทศ โดยไม่คำนึงผลกระทบต่อที่ดินว่างเปล่าในทำเลด้อยพัฒนาอื่น ๆ หรือเป็นที่ดินตาบอดถูกที่ดินอื่นปิดล้อมทุกด้านจนไม่สามารถเข้าใช้ประโยชน์ได้ หรือเป็นที่ดินในที่ห่างไกลความเจริญเข้าทำประโยชน์ยากทั่วประเทศไทยที่มีจำนวนมากมาย หรือเพราะเจ้าของที่ดินยากจนไม่มีเงินทุนพอที่จะทำประโยชน์บนที่ดินรกร้าง ถ้ารัฐยึดมาขายทอดตลาด ได้คิดไหมว่า ไม่ว่าคนธรรมดาซื้อไปได้ไป จะพัฒนาได้อย่างไร ถ้าไม่ใช่นายทุนใหญ่กว้านซื้อไป ผู้เขียนเห็นว่า ร่างกฎหมายฯนี้ มองปัญหาของประเทศเพียงผิวเผิน เพียงแค่ว่า ที่ดินสามารถใช้ทำประโยชน์ได้ทุกแปลงนั้น เป็นสิ่งไม่ถูกต้องและไม่เป็นธรรมต่อประชาชนตามที่กล่าวอ้าง ไม่สมบูรณ์เพียงพอที่จะทดแทนกฎหมายเก่าที่พิสูจน์ตัวเองไว้ดีแล้วว่าไม่กระทบประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ

 

4. หมวดการค้างชำระภาษีทีดินและสิ่งปลูกสร้าง

หมวดภาษีค้างชำระนี้ แทบจะไม่มีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทราบ ทั้งที่สำคัญมาก เพราะกำหนดให้ความผิดภาษีค้างชำระให้มีโทษยึดทรัพย์ เช่นเดียวกับโทษความผิดอาญาร้ายแรง เท่าที่ค้นได้ คือ ร่างกฎหมายฯฉบับแรก (อินเทอร์เน็ต) บัญญัติไว้ใน มาตรา ๕๑ ว่า “ถ้าผู้เสียภาษีมิได้ชำระเบี้ยปรับและเงินเพิ่มภายในเวลาที่กำหนดไว้ในหนังสือแจ้งเตือนตามมาตรา๕๐ เมื่อพ้น เก้าสิบวันนับตั้งแต่ได้รับหนังสือแจ้งเตือนดังกล่าว ให้ผู้บริหารท้องถิ่นมีอำนาจออกคำสั่งเป็นหนังสือ ยึด อายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของผู้เสียภาษี เพื่อนำเงินมาชำระภาษีค้างปรับ เบี้ยปรับ เงินเพิ่ม และค่าใช้จ่ายได้ ……” เป็นที่น่าข้องใจอย่างยิ่งว่า เหตุใดประชาชนคนธรรมดาสามัญ ที่ค้างภาษีเพราะไม่มีเงินจ่าย กลับได้รับโทษถึงขั้นยึดทรัพย์ ขายทอดตลาด (หากมาตรานี้ยังคงอยู่ในร่างกฎหมายฯล่าสุด) อยากถามว่า เรื่องสำคัญเช่นนี้ ท่านได้ถามประชาชนทั้งประเทศหรือยังครับว่าจะยอมรับหรือไม่ ? มาตรการแก้ไขปัญหาภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ค้างชำระ ด้วยการเสนอให้ งดทำธุรกรรมซื้อขายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างดังกล่าว จะดูเป็นธรรมกว่าการอายัด ยึดทรัพย์สินหรือไม่?

ที่น่าผิดหวังคือ มีการกำหนดให้ กระบวนการอายัด ยึด ขายทอดตลาดทรัพย์ ดำเนินการได้อย่างรวดเร็วโดยใช้เพียงคำสั่งปกครองของผู้บริหารท้องถิ่น ทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนกับถูกตัดสินยึดทรัพย์โดยระบบศาลเตี้ย ไม่ใช่ศาลยุติธรรม องค์กรปกครองท้องถิ่นจำนวนมากถึง 7,853 แห่ง ย่อมเกี่ยวข้องกับผู้มีอิทธิพลอำนาจในท้องถิ่นนั้นๆ จะสามารถอำนวยความยุติธรรมถูกต้องได้มากน้อยเพียงใด อีกทั้งปัญหาคอรัปชั่นในองค์กรเหล่านี้ยังค้างคาใจประชาชนทั้งประเทศตั้งแต่แรกเริ่มจนถึงปัจจุบัน

แม้ว่า นายกรัฐมนตรีมีเจตนารมณ์ที่ดีในการผลักดันกฎหมายฉบับนี้ แต่นายกรัฐมนตรีในฐานะผู้บริหารประเทศคงไม่มีเวลาศึกษาทั้งรายละเอียดและผลกระทบ ทั้งนี้คงคิดว่าผ่านกระบวนการยกร่างมาแล้ว คงจะดีแล้ว เพราะกระบวนการยกร่างกฎหมายต้องผ่านกระบวนการประชาพิจารณ์ใหญ่ 2 ครั้ง และร่างกฎหมายฯ นี้ควรทำประชาพิจารณ์ในกลุ่มประชาชน 4 กลุ่มใหญ่ทั่วประเทศ คือ 1. กลุ่มเกษตรรายย่อย 2. กลุ่มคนชั้นกลางล่าง 3. กลุ่มคนคนชั้นกลางบน และ 4. กลุ่มคนชั้นบนและคนรวย

จึงจะถือว่าได้ข้อมูลครบถ้วนเพียงพอในการยกร่างกฎหมายฯ ได้ถูกต้องเป็นธรรม แต่สิ่งที่ประชาชนกังขาคือ ทำประชาพิจารณ์มาแค่ไหน ไม่มีการเผยแพร่ผลการประชาพิจารณ์และนำเสนอข้อมูลต่าง ๆ จากภาคประชาชน ให้ได้ทราบ สิ่งที่ประชาชนทราบ คือ บางส่วนของกฎหมายที่รัฐบาลเลือกมาประชาสัมพันธ์เท่านั้นเอง และมีบางส่วนสำคัญมากที่ ไม่ให้ประชาชนได้ทราบและเข้าใจ

จึงได้แต่หวังให้ กรรมาธิการแห่งสภานิติบัญญัติแห่งชาติแก้ไขข้อผิดพลาดบางมาตราสำคัญของร่างกฎหมายฯ นี้ในขั้นตอนสุดท้ายให้หมดสิ้นไป เพื่อไม่ทำให้กฎหมายนี้กระทบทางลบต่อสถานะครอบครัวประชาชน คนจน คนชั้นกลางส่วนใหญ่ของประเทศ และสังคมไทย
ประชาชนส่วนหนึ่งเห็นว่า แม้ว่ากฎหมายที่ดินและปลูกสร้างชุดเดิมอาจมีข้อบกพร่องในเรื่องการจัดเก็บภาษีก็จริง แต่กฎหมายที่ใช้มายาวนานเหล่านี้ ได้พิสูจน์หัวใจกฎหมายสำคัญที่สุดไปแล้ว คือ ไม่เคยสร้างความเดือดร้อน และ มีความเป็นธรรมต่อประชาชน ดังนั้นการผลักดันกฎหมายที่ดินและสิ่งปลูกสร้างฉบับใหม่ให้มีผลบังคับใช้แทนกฎหมายเดิมนั้น ขอให้ยึดหลักการกฎหมายเดิมคือ หัวใจสำคัญที่สุดของร่างกฎหมายฯนี้ ไม่ใช่มุ่งแต่การเก็บภาษีได้เพิ่มขึ้น แต่เป็นการไม่สร้างความเดือดร้อนหรือมีความเป็นธรรมแก่ประชาชนแท้จริง

ท้ายสุด ผู้เขียนตั้งข้อสังเกตว่า กระทรวงการคลังในยุคหลัง ๆ มักจะบริหารโดยนักธุรกิจ จึงใช้แนวคิดธุรกิจเข้ามาบริหารจัดการ ทำให้ประชาชนรู้สึกเหมือนว่า รัฐบาลทำตัวเป็นบริษัทขนาดใหญ่บริษัทหนึ่ง เป็นพ่อค้าใหญ่ที่มองประชาชนคล้ายเป็นลูกค้ารายย่อย ขาดความเมตตาต่อประชาชน ต่างกับในอดีตที่รัฐบาลเหมือนพ่อ ประชาชนเหมือนลูก และเต็มไปด้วยความเมตตา แน่นอนว่า ประชาชนย่อมต้องการให้รัฐบาลเป็นพ่อผู้เมตตา ไม่ใช่พ่อค้าผู้แสวงหากำไร เอาเปรียบและไม่ใช่ผู้บังคับบัญชาที่ประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างเข้มงวด ประชาชนชาวไทยจึงอยู่กันด้วยความสงบสุข ความเป็นธรรมในมุมมองของประชาชน กับ ความเป็นธรรมในมุมมองของรัฐบาล อาจแตกต่างกันมาก ประชาชนอยากให้รัฐบาลยึดหลักประชาธิปไตย ยึดถือความสงบสุขของประชาชนเป็นที่ตั้ง

ร่างกฎหมายฯนี้จึงจำเป็นต้องลดความแหลมคมและความอันตรายลง ประชาชนจึงจะเดินผ่านช่องทางดำเนินการของกฎหมายไปด้วยความเต็มใจ

 

ที่มา มติชนออนไลน์