เผยแพร่ |
---|
วันที่ 12 เมษายน ในเดือน เม.ย.นี้พบว่าระดับน้ำในแม่น้ำโขงติดกับ จ.เชียงราย ชายแดนไทย-สปป.ลาว มีระดับสูงจนเข้าท่วมเกาะแก่งและริมตลิ่งตลอดแนว ซึ่งสภาพดังกล่าวแตกต่างจากธรรมชาติของแม่น้ำโขงที่ผ่านมา โดยหลายฝ่ายเชื่อว่าเกิดจากการที่เขื่อนจี่งหงซึ่งกั้นแม่น้ำโขงในเขตเมืองเชียงรุ้ง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน ประเทศจีน ห่างจาก อ.เชียงแสน ประมาณ 400 กิโลเมตร ที่มีการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนในปริมาณ 2,500-2,800 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ขณะที่อัตราการไหลเข้าของน้ำจากเขื่อนอยู่ที่ประมาณ 3,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาที อย่างไรก็ตาม ล่าสุดมีรายงานว่าทางการจีนได้ลดระดับการปล่อยน้ำออกจากเขื่อนลงกว่าครึ่งหนึ่ง ขณะที่มีกระแสว่าทางการจีนกำลังจะกลับมาสำรวจแม่น้ำโขงในจุดที่ติดฝั่งไทยโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงอีกครั้งหลังจากก่อนหน้านี้ถูกต่อต้านหนัก
โดยนายสุรนาท ศิริโชค รักษาการ ผอ.สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคสาขา จ.เชียงราย กล่าวว่า สำนักงานเจ้าท่าภูมิภาคฯ ได้รับข้อมูลจากผู้ประสานงานคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (Mekong River Commission-MRC) ว่าทางการจีนได้แจ้งหนังสือถึง MRC อย่างเป็นทางการว่าในระหว่างวันที่ 10-17 เม.ย.นี้ ทางการจีนจะลดอัตราการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงดังกล่าวลง จากเดิมระบายในปริมาณราว 2,000 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวินาทีเหลือเพียง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งจะส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงหลังจากนั้นลดลงจากระดับปกติลงไปประมาณ 1-1.50 เมตร
ด้าน น.ส.ผกายมาศ เวียร์ร่า รองประธานหอการค้า จ.เชียงราย กล่าวว่าศูนย์ควบคุมแม่น้ำล้านช้าง-แม่โขง เขตปกครองตนเองสิบสองปันนา ได้เริ่มมีการแจ้งเตือนบรรดาคนเดินเรือแม่น้ำโขงว่าได้เริ่มมีการระบายน้ำจากเขื่อนจิ่งหงล่วงหน้ามาตั้งแต่วันที่ 9 เม.ย.แล้ว โดยระบายน้ำมากในช่วงเวลา 17.00-24.00 น.จากเดิมมีการระบายน้ำในปริมาณ 2,800 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ก็เหลือเพียง 1,200 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ซึ่งก็จะมีผลทำให้พื้นที่ตอนล่างแม่น้ำโขงเขต สปป.ลาว เมียนมา และไทย จะมีระดับน้ำลดลงอย่างรวดเร็ว
ขณะที่รายงานข่าวแจ้งว่า กรมเจ้าท่า กระทรวงคมนาคมของไทยได้มีการจัดประชุมชี้แจงความเข้าใจกับหน่วยงานทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ซึ่งครั้งนี้พบว่ามีที่ปรึกษาการสำรวจภาคสนามของจีนและไทยเข้าร่วมด้วย ณ โรงแรมนาคราช อ.เชียงของ จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 10 เม.ย.ที่ผ่านมา โดยมีนายสมชาย สุขมนัสขจรกุล รองอธิบดีกรมเจ้าท่านำคณะไปให้ข้อมูล โดยแจ้งถึงสถานการณ์เกี่ยวกับแม่น้ำโขงที่ผ่านมา การออกสำรวจภาคสนามในแม่น้ำโขงของที่ปรึกษาจีนตามโครงการปรับปรุงร่องแม่น้ำโขงและทางคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบเมื่อวันที่ 27 ธ.ค.2559 ที่ผ่านมา กระทั่งมีการจัดกิจกรรมของภาคประชาชนที่ไม่เห็นด้วยเพราะเกรงจะกระทบกับระบบนิเวศ สิ่งแวดล้อม วิถีชีวิต ฯลฯ
นอกจากนี้ การแจ้งคาดการณ์ว่าที่ปรึกษาจีนจะเริ่มสำรวจภาคสนามในแม่น้ำโขงอีกครั้งช่วงเดือน เม.ย.-พ.ค.2560 นี้ หลังจากก่อนหน้านี้ได้มีการสำรวจในเขตจีน สปป.ลาว-เมียนมา และใน สปป.ลาว ตั้งแต่แขวงบ่อแก้ว แขวงอุดมไชย แขวงไชยบุรี และแขวงหลวงพระบาง ไปแล้วแต่เว้นไว้เฉพาะเขตแดนไทยระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตร โดยการสำรวจรอบใหม่จะมีตั้งแต่สามเหลี่ยมทองคำ อ.เชียงแสน จ.เชียงราย ไปจนถึง อ.เชียงของ และ อ.เวียงแก่น ถึงจุดแก่งผาไดซึ่งเป็นจุดสุดท้ายของแม่น้ำโขงที่ไหลเข้าสู่ สปป.ลาว ต่อไป
ในส่วนของกลุ่มนักอนุรักษ์นั้น นายนิวัฒน์ ร้อยแก้ว ประธานกลุ่มรักษ์เชียงของ กล่าวว่า การจะดำเนินการตามโครงการดังกล่าวควรจะมีการศึกษาประเมินผลกระทบที่เกิดจากการระเบิดเกาะแก่งในโครงการระยะหรือเฟสแรกบนพื้นที่เหนือน้ำ และศึกษาการปล่อยน้ำของจีน ศึกษาผลกระทบเรื่องเขตแดน อธิปไตย ยุทธศาสตร์ความมั่นคง การพัฒนาที่เหมาะสมกับร่องน้ำก่อนด้วย
ที่มา : มติชนออนไลน์