ชาวสวนตะวันออกเฮ โกยแสนล้าน ทุเรียนราคาดี จีนซื้อไม่อั้น-ผุดศูนย์ซื้อขายยูนนาน

ปีนี้ชาวสวนผลไม้ภาคตะวันออกเฮ ขายผลไม้ได้ราคาดี โดยเฉพาะทุเรียนราคากิโลกรัมละ 250 บาท ตั้งเป้าโกยรายได้ 5 ปี 100,000 ล้านบาท ชี้หมดยุคทุเรียนราคาถูกแล้ว ตลาดจีนยังมีความต้องการผลไม้ไทยอีกมาก ด้านพาณิชย์จังหวัดตราดพาเอกชนบุกเจรจานักธุรกิจจีนเมืองชิงหง เตรียมจดทะเบียนบริษัท เป็นศูนย์กระจายผลไม้ทั่วไทยป้อน 16 เมืองมณฑลยูนนาน

นายชาตรี บุญนาค ผู้อำนวยการสำนักส่งเสริมและพัฒนาการเกษตรที่ 3 จังหวัดระยอง ได้ประมาณการผลผลิตผลไม้ภาคตะวันออก ปี 2560 ของจังหวัดจันทบุรี-ระยอง-ตราด มีพื้นที่ยืนต้นประมาณ 730,000 ไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ให้ผลประมาณ 669,000 ไร่ แบ่งเป็น ทุเรียน ประมาณ 400,000 ตัน, มังคุด ประมาณ 110,000 ตัน, เงาะ ประมาณ 200,000 ตัน และลองกอง ประมาณ 54,000 ตัน รวมผลไม้ทั้งหมดประมาณ 780,000 ตัน

“ทุเรียนจะออกประมาณเดือนพฤษภาคม ตลาดจะกว้างมากกว่าปีที่แล้ว ความต้องการสูง เฉพาะส่งออกจีนก็มากกว่า 60% มีทุเรียนแช่แข็งอีกประมาณ 20% เหลือบริโภคภายในประเทศไม่ถึง 20% ส่วนทุเรียนตกเกรดมีโรงงานแช่แข็ง 7 แห่ง รอรับอยู่ ต้องการผลผลิตเดือนละ 30,000-40,000 ตัน ส่งผลให้ราคาทุเรียนปีนี้ค่อนข้างสูง ทำให้เริ่มเห็นแนวโน้มเกษตรกรโค่นยางทิ้งเพื่อจะกลับมาปลูกทุเรียน”

นายอาชว์ชัยชาญ เลี้ยงประยูร เกษตรจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า ข้อมูลผลผลิตทุเรียนในปีนี้เป็นการรวบรวมจากการขึ้นทะเบียนเกษตรกร “ตัวเลขจริงอาจจะมากกว่า” ปัจจุบัน ทุเรียนจันทบุรีส่งไปตลาดต่างประเทศ 75% ที่เหลือบริโภคภายในประเทศ ทำให้เกิดข้อกังวลเรื่องการผูกขาดของ “ล้ง” ที่ในจันทบุรีมีถึง 200 ล้ง แต่ขณะนี้ก็ยังมองไม่เห็นสัญญาณการผูกขาด เพราะผลผลิตทุเรียนยังไม่เพียงพอต่อความต้องการ ยังมีการแข่งขัน ทำให้ราคาดีขึ้นเรื่อยๆ

ด้าน นายจอมศักดิ์ ภูติรัตน์ ประธานกรรมการหอการค้าจังหวัดจันทบุรี กล่าวว่า “ต่อจากนี้หมดยุคทุเรียนราคาถูกแล้ว” โดยจังหวัดจันทบุรีถูกผลักดันให้เป็น “มหานครผลไม้” และเป็น “ฮับผลไม้แห่งเอเชีย” ตั้งเป้าโกยรายได้จากผลไม้ 500,000 ล้านบาท โดยเฉพาะผลผลิตทุเรียน 100,000 ล้านบาท ในระยะ 5 ปี (2559-2563) ข้อมูลจากผู้ประกอบการ ปี 2560 คาดว่าทุเรียนปริมาณจะพุ่งถึง 400,000 ตัน ตอนนี้ราคาหน้าสวน กิโลกรัมละ 120-150 บาท แต่ถ้าซื้อแผงข้างทางจะราคาประมาณ กิโลกรัมละ 200-250 บาท หากไม่มีปัญหาวาตภัยเกิดความเสียหายกับผลผลิตทุเรียนจะสร้างรายได้ประมาณ 35,000-40,000 ล้านบาท หรือเพิ่มจากปี 2559 ที่มีรายได้ 30,000 ล้านบาท ขณะที่ตลาดจีนยังมีความต้องการทุเรียนคุณภาพสูงและยังมีกลุ่มทุเรียนพรีเมี่ยม สร้างมูลค่าเพิ่มจาก “ทุเรียนอินทรีย์” ราคากิโลกรัมละ 1,500-2,000 บาท หรือขายลูกละ 3,600 บาท

นายประสิทธิ์ นาคดี พาณิชย์จังหวัดตราด กล่าวถึงแผนทำตลาดรองรับผลไม้ 4 ชนิด ประกอบไปด้วย 1. การพัฒนาตลาดและส่งเสริมเครือข่าย มีการเชื่อมการตลาดระหว่างเกษตรกรผู้ปลูก/สหกรณ์กับผู้ประกอบการค้าผลไม้และผู้ประกอบการห้องเย็นตลาดไท และ บริษัท SK Cool Storage ต้องการซื้อทุเรียนลูกและทุเรียนแช่แข็ง (แกะเนื้อ) ประมาณ 20,000 ตันลูก หรือ 300 ตู้ ตู้ละ 24 ตัน 2. การเชื่อมโยงสินค้าเกษตรและผลิตภัณฑ์สู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้าน โดยตั้งจุดรวบรวมผลผลิตและกระจายผลผลิตสู่ชายแดนประเทศเพื่อนบ้านที่สหกรณ์การเกษตรบ่อไร่ และพัฒนาจุดเดิม 2 จุด คือ สหกรณ์การเกษตรเขาสมิง กับ สหกรณ์ส่งเสริมธุรกิจภาคเกษตรจังหวัดตราด มีเป้าหมายระบายเงาะ ทุเรียน มังคุด 6,700 ตัน

  1. 3. สหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออกจังหวัดตราด ได้ประสานโรงงานแปรรูป บริษัท อาหารสากล จำกัด (มหาชน) หรือ UFC-บริษัท มาลีสามพราน บริษัท ทรอปิคอลฟู้ด อินดัสทรี ขอโควต้าเงาะ จาก 3 โรงงานเบื้องต้น 3,000 ตัน ส่วนมังคุด ปริมาณ 20,000 ตัน จะส่งตลาดไท ห้างโมเดิร์นเทรด และโรงงานแปรรูป การเชื่อมโยงสินค้าเกษตรผลิตภัณฑ์แปรรูปและเจรจาจับคู่ธุรกิจระหว่างสถาบันเกษตรกรกลุ่มเกษตรกร กับผู้ประกอบการจากเมืองชิงหง (เชียงรุ้ง) แคว้นสิบสองปันนา และผู้ประกอบการมณฑลคุนหมิง สาธารณรัฐประชาชนจีน

นายสุมิตร เขียวขจี อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตราด และที่ปรึกษากรรมการหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวว่า ต้นเดือนเมษายนที่ผ่านมา จังหวัดตราดได้จัดคณะ นำโดย รองผู้ว่าราชการจังหวัดเข้าพบกับ นายย่าน ฮาน ประธานหอการค้าสิบสองปันนา รองประธาน บริษัท สิบสองปันนา ที.พี.เอฟ. การค้า ที่เมืองชิงหง แคว้นสิบสองปันนา ซึ่งเป็นสถานที่ตั้งของศูนย์กระจายผลไม้ไทยป้อน 16 เมืองในมณฑลยูนนาน โดยมีการเจรจาตกลงทำการค้าร่วมกัน ด้วยการส่งผลไม้ทุกชนิดทั่วประเทศไทยเพื่อทำการค้าได้ตลอดทั้งปี ขณะนี้อยู่ระหว่างจดทะเบียนตั้งบริษัท

ขอบคุณข้อมูลจากประชาชาติธุรกิจ