ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ทำตาม Passion สร้างโรงน้ำชาในบ้าน หารายได้อีกทาง ช่วยพยุงสวนยาง
บางครั้งการลงทุนทำกิจการอะไรสักอย่างอาจไม่ต้องใช้เงินสักบาท หากแต่ใช้ความชื่นชอบส่วนตัว แรงบันดาลใจ และ Passion ที่มีต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งอย่างแรงกล้า ก็สามารถสร้างกิจการขึ้นมาได้แล้ว อย่าง คุณสิทธิพันธ์ พานิชกุล หนุ่มผู้หลงใหลชาและการชงชาเป็นชีวิตจิตใจมาเป็นเครื่องมือลงทุนสร้างโรงน้ำชาผิงผิง หรือ ผิงผิงทีเฮ้าส์ ขึ้นมา
โรงน้ำชาที่นำเอาชื่อลูกชายทั้ง 2 คนของเขา ผิงอัน และ สุ่ยผิง มาตั้งเป็นชื่อร้าน แปลเป็นไทยได้ว่า “ความเรียบง่าย” นี้ตั้งอยู่อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เขาอาศัยเพียงกั้นพื้นที่เล็กๆ ส่วนหนึ่งของบ้านกับโต๊ะและเก้าอี้แค่ไม่กี่ตัว มาทำเป็นโรงน้ำชาสไตล์จีน แวดล้อมด้วยชาจีนนานาชนิดและอุปกรณ์การชงชามากมายที่เขานิยมสั่งสมเป็นการส่วนตัว เนรมิตเป็นมุมเล็กๆ สำหรับคนที่เป็นคอน้ำชาอย่างแท้จริงที่อยากมา “ร่ำน้ำชา” แทนการร่ำสุรากัน
“ที่ตรัง ฝนมักตกหนักมาก บ้านผมซึ่งทำสวนยางก็ได้รับผลกระทบจากฝนตกหนัก ผมจึงหาช่องทางที่จะหารายได้เพิ่ม” คุณสิทธิพันธ์ ว่าอย่างนั้น
“ผมเป็นคนชอบจิบชามานานเป็น 20 ปี เลยใฝ่ฝันอยากมีห้องชาเล็กๆ อยู่ในบ้าน ประกอบกับมีของสะสมเกี่ยวกับชามากมาย เช่น อุปกรณ์ชงชา ปั้นชา จึงเกิดไอเดียแบ่งพื้นที่ส่วนหนึ่งของบ้านมาทำเป็นโฮมคาเฟ่หรือโรงน้ำชาสไตล์จีนจริงๆ ที่แวดล้อมด้วยอุปกรณ์การชงชาเหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ขนาดย่อมๆ เป็นพื้นที่ให้กับคนที่ชื่นชอบชาจริงๆ มาพบปะสังสรรค์กันกลุ่มเล็กๆ พร้อมกับเรียนรู้ศิลปะการชงชาไปด้วย” คุณสิทธิพันธ์ บอก

และว่า คนส่วนใหญ่มักด้อยค่าชา เพราะเห็นว่าหากินได้ง่ายๆ แค่ไปร้านติ่มซำก็หากินฟรีได้แล้ว ทั้งยังขายกันในราคาถูก แต่อันที่จริงชาจีนเกรดดีๆ นั้นมีราคาสูงมาก และให้รสกลิ่นที่แตกต่างจากชาตามท้องตลาด แต่เหนือสิ่งอื่นใด บรรยากาศระหว่างการดื่มชาต่างหาก ที่ตีราคาเป็นมูลค่าไม่ได้ เขาจึงเปิดร้านนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนสนใจชาได้รู้จักชาจริงๆ โดยเฉพาะวิธีการชงและการจิบชาซึ่งถือเป็นศิลปะอย่างหนึ่งที่ต้องอาศัยเวลาและความละเมียดละไม
“การชงชาไม่ใช่แค่เทน้ำร้อนใส่กา จีนจึงมีวัฒนธรรมการจิบชามาตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ ถ้าไปจีน บางร้านแค่ย่างเข้าร้านก็ต้องจ่ายเงินประมาณ 1,200 บาทแล้ว โดยอาจได้แค่พู่กันกับกระดาษมาเขียน ผมจึงอยากเผยแพร่และให้คนเรียนรู้วัฒนธรรม มากกว่าจะเน้นขายเพื่อเอากำไร อยากผลักดันให้คนรุ่นใหม่มาสนใจการจิบชา เขาจะรู้ว่า ชาไม่ได้ราคาถูกอย่างที่ใครๆ คิด บางชนิดแพงเกินจินตนาการด้วยซ้ำ กาต้มน้ำ ปั้นชา ใบชา น้ำที่ชงก็ต้องแมตชิ่งกัน ซึ่งมีค่าใช้จ่ายตามคุณภาพสิ่งที่เลือกใช้” เจ้าของเรื่องราว บอก
และเผย เขาเป็นคนตรังเชื้อสายฮกเกี้ยนที่ชื่นชอบอุปกรณ์ชงชา และสะสมปั้นชาสวยๆ ประกอบกับชอบบรรยากาศขณะจิบชา จึงศึกษาและสะสมความรู้เรื่องชาเรื่อยมา จนพบว่า รสชาติชาเป็นส่วนหนึ่ง แต่บรรยากาศบนโต๊ะต่างหากที่ทำให้ชายิ่งอร่อย และช่วยเพิ่มอรรถรสในการจิบชา

ส่วนวิธีการชงก็เป็นศิลปะ ชาแต่ละชนิดใช้วิธีการชงแตกต่างกันถึงจะอร่อย หรือบางครั้งแค่เปลี่ยนจอกรสชาติก็เปลี่ยน ซึ่งไม่ได้เป็นเรื่องของจินตนาการ แต่เป็นหลักทางวิทยาศาสตร์ เพราะวัสดุมีผลต่อการเรียงตัวของอนุภาคในใบชา
“วัสดุในการชงชา มีผลต่อการเรียงตัวของอณูในใบชา อย่าง หม้อต้มที่ทำจากเงิน สเตนเลส ทองแดง หรือเหล็กหล่อ น้ำที่ต้มชาออกมาจะมีคาแร็กเตอร์ไม่เหมือนกัน กาแต่ละชนิดก็ไม่ได้เหมาะกับชาทุกชนิด เช่น ถ้าใช้กาเหล็กหล่อมาชงชาอู่หลง จะทำให้รสชาออกมาหมดเลยในกาแรก ไม่ใช่ค่อยๆ ปล่อยรสกลิ่นออกมาเรื่อยๆ การชงชาไม่ใช่แค่เทน้ำร้อนใส่ชาแล้วจบ คนที่มีเซนส์จะรู้เลยว่าการใช้จอกเงินกับจอกเซรามิกใส่ชา รสชาติก็ไม่เหมือนกัน” คุณสิทธิพันธ์ อธิบาย
และบอกอีกว่า การจิบชาเหมือนอาหารที่ต้องค่อยๆ ไต่ขึ้นไป ไม่ต่างจากการกินอาหารที่เสิร์ฟเป็นคอร์ส ดังนั้น หากเสิร์ฟชาตัวที่ดีที่สุดให้ลูกค้าดื่มแต่แรก เขาอาจจะดื่มชาตัวอื่นๆ ไม่อร่อยอีกเลย
ทั้งนี้ ชาจีน มี 2 สายพันธุ์คือ ชาอู่หลงและชาอัสสัม ซึ่งสามารถแบ่งชาตามชนิดของการผลิตได้ 6 ชนิดใหญ่ๆ ได้แก่ ชาขาว ชาเขียว ชาเหลือง ชาแดง ชาดำ สุดท้ายคือ ชาอู่หลง โดยชาอู่หลงจะแยกมาอีก 3 ชนิดใหญ่ๆ คือ อู่หลงไต้หวัน อู่หลงแหยนฉาของชาวจีนฮกเกี้ยน และอู่หลงตานฉงของชาวจีนแต้จิ๋ว และยังมีชนิดแยกย่อยเป็นแขนงไปอีกมากมาย
ซึ่งที่โรงน้ำชาผิงผิงนั้น มีชาเสิร์ฟครบทุกชนิด เว้นแต่ชาเหลืองที่อาจมีแค่ครั้งคราว เพราะเป็นชาที่หายาก เน้นให้ลูกค้าซึมซับบรรยากาศการชงชา การจิบชา การสนทนาบนโต๊ะชา ไม่ได้เน้นกำไรมาก ที่ร้านจึงมีแค่โต๊ะเดียว เพราะอยากให้ลูกค้ามานั่งคุยกันอย่างเป็นส่วนตัว หากจะเข้ามาควรโทรแจ้งเจ้าของร้านก่อนสักครึ่งวันหรือ 3 ชั่วโมง เพื่อจะได้มีเวลาจัดเตรียมข้าวของและสถานที่ และต้องมีเวลาให้กับทางร้านอย่างน้อย 1 ชั่วโมง
หลายคนอาจมองว่าเจ้าของเล่นตัวไปหรือเปล่า ไม่ใช่เลย เขาแค่อยากให้ลูกค้ามาผ่อนคลาย ได้มีเวลาละเมียดละไมกับกลิ่นรสของชา เสียงหัวเราะ และความสนุกระหว่างสนทนา และเขาจะได้มีเวลาชงชาได้อย่างเต็มที่และเป็นไปตามประเพณีวัฒนธรรมที่สั่งสมมา ไม่ใช่มากินกันแบบเร่งๆ ลวกๆ แล้วก็ไป

“รองรับลูกค้าได้ครั้งละ 7-10 คน ลูกค้าต้องโทรแจ้งล่วงหน้าอย่างที่บอก หรือถ้าวอล์กอินเข้ามา ก็ต้องมีเวลาให้ผมเตรียมข้าวของอย่างน้อยครึ่งถึง 1 ชั่วโมง ลูกค้ามาจะคุยกันเองหรือชวนผมคุยด้วยก็ได้ สมมติมีลูกค้าอยู่แล้ว แต่มีวอล์กอินเข้ามาด้วยสามารถจอยกันได้ ราคาชาซึ่งเสิร์ฟเป็นกา มีตั้งแต่ 100-1,200 บาท แล้วแต่ชนิดของชา ผมมองว่าทุกองค์ประกอบมีผลต่อรสชาติชา เหมาะกับคนชอบสังสรรค์เหมือนการร่ำสุรา แต่ถ้าใครอยากอยู่เงียบๆ ก็ไม่ขัดข้อง” เจ้าของกิจการ แจง
สำหรับคุณสิทธิพันธ์ เรียนจบสาขาศิลปะการประกอบอาหารและการจัดการครัว มาจากวิทยาลัยดุสิตธานี ทำให้เขามีไอเดียในการประกอบธุรกิจ เขาบอกว่า สิ่งที่เรียนมานำมาใช้ประโยชน์ได้มาก เพราะทักษะการปรุงอาหารที่ต้องรู้จักคุมรสชาติไม่ให้เค็มไป หวานไป หรือเผ็ดไป สามารถมาประยุกต์ใช้กับการชงชาที่ต้องสังเกตว่าใส่ชาเท่าไร ใส่น้ำเท่าไร รสชาติชาจึงจะกลมกล่อม ไม่จืดหรือขมเกินไป
ปัจจุบัน เขามีรายได้หลักจากสวนยาง ส่วนโรงน้ำชาผิงผิง กับอีกหนึ่งกิจการคือ ดาหลาแคเทอริ่ง เป็นแหล่งรายได้เสริมและเป็นการทำตามแพชชันหรือสิ่งที่ชอบเป็นการส่วนตัว
และเขา บอกด้วยว่า
“ถามว่าผมลงทุนไหม ไม่ได้ลงทุนสักบาท เพราะเป็นสิ่งที่ผมสะสมอยู่แล้ว ส่วนชาผมก็ดื่มอยู่แล้ว ผมซื้อมาก็เก็บไว้ดื่มเองได้ในอนาคต จึงเรียกว่านี่เป็นธุรกิจที่ผมไม่ต้องลงทุนอะไรเลย”
(ติดตามโรงน้ำชาผิงผิงได้ที่ เพจ : Ping – Ping Teahouse)