ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 6 กันยายน จากกรณีมีข่าวผ่านสื่อออกมาว่าบริษัทยักษ์ใหญ่ผลิตยางรถยนต์ที่รับซื้อยางพาราจากภาคอีสาน จะไม่รับซื้อยางพาราที่มีการใส่กรดกำมะถัน “กรดซัลฟิวริก” ในน้ำยาง เพื่อช่วยให้ยางเซตตัวเร็ว เนื่องจากส่งผลต่อคุณภาพยางล้อรถที่ผลิตเสื่อมสภาพเร็วเกินกว่ากำหนดและไม่เป็นไปตามมาตรฐานนั้น แม้ว่าจะมีการปฏิเสธจากทั้งสองบริษัท แต่จากกระแสข่าวดังกล่าวทำเอากลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราบึงกาฬระยะแรกๆ ต่างตระหนักถึงเรื่องนี้เนื่องจากปัจจุบันราคายางพาราก็ตกต่ำอยู่แล้ว ซึ่งยางก้อนถ้วยหรือขี้ยางจะรับซื้ออยู่ที่ 24-25 บาทต่อกิโลกรัม ยิ่งมีข่าวนี้เกิดขึ้นอาจทำให้ราคายางก้อนถ้วยตกลงมาอีกก็เป็นได้ การมีข่าวเช่นนี้นับว่าไม่เป็นผลดีต่อกลุ่มเกษตรกรชาวสวนยางพาราอย่างแน่นอน เนื่องจากที่ผ่านมากลุ่มเกษตรพยายามทำตัวเป็นลูกค้าหรือผู้ขายที่ดี แม้ราคาจะตกต่ำเพียงไรก็ยังทนสู้ไม่ยอมเปลี่ยนอาชีพไปทำอย่างอื่น ความเป็นจริงแล้วทางบริษัทที่ให้ข่าวนี้ถ้าอยากจะได้คุณภาพยางก้อนถ้วยแบบไหนอย่างไรก็น่าจะมีการพูดคุยตกลงกันผ่านตัวแทนเกษตรกรชาวสวนยางหรือผ่านการยางแห่งประเทศไทยก็ได้
ด้านนายสิทธิพร ด้วงมาลา อายุ 48 ปี เกษตรกรชาวสวนยางพาราบ้านแสนเจริญหมู่ 10 ต.วิศิษฐ์ อ.เมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ กล่าวว่า เกษตรกรชาวสวนยางในจังหวัดบึงกาฬส่วนใหญ่นิยมใช้กรดกำมะถัน “กรดซัลฟิวริก” มากกว่า 80% ที่เหลือใช้กรดฟอร์มิก ถึงจะดีกว่าแต่ก็มีราคาแพง แต่ข้อดีของการใช้ “กรดซัลฟิวริก” ผสมน้ำยางก็เพราะราคาถูก ทำให้น้ำยางแข็งตัวเร็วโดยเฉพาะในช่วงหน้าฝนที่มีฝนตกต่อเนื่องในจังหวัดบึงกาฬ น้ำยางจะจับตัวแข็งเร็วมาก ส่วนราคาตกลิตรละ 18 บาท 6 ลิตร เพียงแค่ 70 บาท/1 ลิตร ผสมน้ำ 5 ลิตร ใช้หยอดกับน้ำยางพาราได้มากกว่า 500 ต้น ขณะที่กรดฟอร์มิก 4 ลิตรราคา 200 บาท
นายสิทธิพรกล่าวต่ออีกว่า แรกๆ ก็ตกใจแต่เมื่อสอบถามไปยังสหกรณ์ผู้รับซื้อเขาก็ไม่ว่าอย่างไรคงรับซื้อในราคาปกติและราคายางขึ้นลงตามปกติ ชาวสวนยางก็คงยังต้องใช้กรดซัลฟิวริกต่อไป แต่ถ้าบังคับให้ใช้กรดฟอร์มิก ก็ควรจะขึ้นราคายางพาราให้ด้วยเพราะต้นทุนสูงขึ้น ส่วนข้อเสียการใช้ “กรดซัลฟิวริก” คือมีกลิ่นเหม็นแรง