เมนูสิ้นคิด จุดติดก็ไปไกล ขยายได้แล้ว 25 สาขา “เจมส์ กะเพราถาด”

เมนูสิ้นคิด จุดติดก็ไปไกล ขยายได้แล้ว 25 สาขา “เจมส์ กะเพราถาด”

เชื่อว่าใครที่ชอบฝากท้องไว้กับศูนย์อาหารตามศูนย์การค้าหรือไฮเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ น่าจะเคยชิมหรืออย่างน้อยคุ้นหน้าคุ้นตากับร้าน “เจมส์ กะเพราถาด” ไม่มากก็น้อย เพราะนับตั้งแต่เริ่มดำเนินกิจการมาไม่ถึง 10 ปี ร้านเจมส์ กะเพราถาด ก็ขยายสาขาไปร่วม 25 แห่งแล้ว

เจมส์ กะเพราถาด เกิดขึ้นจากอดีตวัยรุ่นหัวการค้า 2 หนุ่มสาวที่ครองรักกันมาตั้งแต่ยังเรียนปริญญาตรี สาขาศิลปะการประกอบอาหารและการจัดการครัว วิทยาลัยดุสิตธานี จึงเริ่มต้นวางแผนอนาคตร่วมกันด้วยการเปิดร้านอาหารด้วยกันมาตั้งแต่สมัยนั้น จนปัจจุบันทั้งคู่เรียนจบจนมีโซ่ทองคล้องใจกันถึง 2 คนแล้ว กิจการยังคงไปได้สวยเพราะความมุ่งมั่นตั้งใจและไม่ย่อท้อต่ออุปสรรค

ย้อนกลับไปตอน คุณเจมส์ ชยากร และ คุณปุ๋ย-นภาสิริ เมืองทรัพย์ สองสามีภรรยายังเป็นแค่นักศึกษาชั้นปีที่ 1 วิทยาลัยดุสิตธานี ทั้งสองตกลงปลงใจคบหากัน และมีไอเดียที่จะทำธุรกิจเพื่อเป็นการวางแผนอนาคตร่วมกัน โดยเริ่มต้นด้วยการขายของใช้จิปาถะออนไลน์

คุณเจมส์-คุณปุ๋ย เจ้าของกิจการ “เจมส์ กะเพราถาด”

“คิดว่าถ้ามีเวลาว่างระหว่างเรียน อยากค้าขายเพื่อหารายได้เสริม จะได้ไม่ต้องรบกวนทางบ้านมากนัก”

ทั้งคู่กล่าว

“แรกๆ ไม่รู้จะขายอะไรดี เลยไปเดินสำรวจตามที่ต่างๆ ทั้งโบ๊เบ๊ สำเพ็ง ก็พบว่าสำเพ็งเป็นแหล่งรวมทุกอย่าง ไม่ต้องใช้ต้นทุนเยอะ และไม่จำเป็นต้องสต๊อกสินค้า เลยเริ่มรับมาขายทางออนไลน์ แต่ขายได้สักพักต้องหยุดไป เพราะต้องฝึกงาน ไม่มีเวลา กระทั่งต่อมามีเวลามากขึ้น มีไอเดียหาพื้นที่เปิดร้านขายของ ตอนนั้นไปได้พื้นที่ที่ตลาดรถไฟศรีนครินทร์ ซึ่งมีคนเดินเยอะมาก มองว่าเป็นทำเลที่ดี”

“เลยรีบจองพื้นที่ไว้ก่อน แล้วค่อยมาคิดว่าจะขายอะไร ตอนนั้นก็เลยไปรับของจิปาถะที่สำเพ็งมาขายเช่นเดิม เช่น ต่างหู นาฬิกา กระเป๋า แว่นตา ช่วงแรกขายดีมากเพราะเปิดใหม่ แต่สักพักยอดขายก็ตก เพราะมันเป็นสินค้าที่ซื้อใช้ครั้งเดียว ไม่ใช่สินค้าที่ต้องซื้อบ่อยๆ หรือซื้อเป็นประจำ ทำได้ 3-4 เดือนเลยต้องหยุดไป แล้วกลับมาเรียน” เจ้าของเรื่องราว เล่าอย่างนั้น

แต่คนเราลงว่ามีหัวการค้าแล้ว ก็ย่อมไม่หยุดความฝันที่จะมีกิจการเป็นของตัวเอง เช่นเดียวกับ คุณเจมส์และคุณปุ๋ย ที่ไม่เคยหยุดคิดที่จะทดลองค้าขายอะไรใหม่ๆ เลยขยับไปทดลองสินค้าใหม่ สถานที่ใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิม โดยอาศัยที่เรียนด้านการทำอาหารที่วิทยาลัยดุสิตธานี กับการมีใจรักด้านการทำอาหารเป็นทุนเดิม มาออกบูธขายอาหารที่ MBK ซึ่งนับเป็นความท้าทายมาก

เจมส์ กะเพราถาด

เพราะถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวขวักไขว่ทั้งชาวไทยชาวต่างชาติ แต่เพราะด้อยประสบการณ์ อะไรๆ จึงไม่ง่าย แต่ถึงแม้ท้ายที่สุดแล้วจะไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งสองก็ได้เรียนรู้หลายๆ เรื่องจากประสบการณ์ที่นี่

“ตอนนั้นเราได้เรียนรู้กลยุทธ์การขายจากร้านหนึ่งคือ ทุกเย็นจะเห็นคนคนหนึ่งใส่เสื้อกล้าม กางเกงขาสั้น รองเท้าผ้าใบ ดูเหมือนเป็นนักท่องเที่ยว มานั่งทานที่ร้านร้านหนึ่งแล้วคอยบอกว่าอร่อย ซึ่งทำให้คนผ่านไปผ่านมาเข้าใจว่าเขาเป็นลูกค้า เป็นนักท่องเที่ยว จนเกิดกระแสบอกปากต่อปาก แต่ที่จริงแล้วเขาเป็นเจ้าของร้านนั้นเอง ถือเป็นกลยุทธ์ที่น่าสนใจ”

“หรืออย่างในเรื่องของทำเล เราได้เรียนรู้ว่า ถ้าเป็นฟู้ดคอร์ต ทำเลร้านที่ดีที่สุดคือ ที่อยู่ด้านหน้าหรือใกล้ๆ กับโต๊ะรับประทานอาหารเลย จะขายดีกว่าร้านที่ตั้งอยู่ตรงจุดอื่น”

ดังนั้น เมื่อไปได้ล็อกที่ศูนย์อาหารเปิดใหม่ในห้างพาราไดซ์ พาร์ค ศรีนครินทร์ ซึ่งเป็นล็อกที่อยู่หน้าโต๊ะกินข้าวเลย เขาจึงตกลงใจเช่าล็อกนั้นทันที เพื่อขายกุ้งอบวุ้นเส้น ช่วงแรกเป็นเหมือนเช่นทุกครั้งคือ ขายดีมาก แต่พอสักพักยอดขายก็ตกลงตามธรรมชาติของการทำธุรกิจที่มี Product Life Cycle แต่นอกเหนือจากวัฏจักรที่ว่า เขาได้เรียนรู้ว่า กุ้งอบวุ้นเส้นไม่ใช่ข้าว คนไม่นิยมทานซ้ำหรือทานกันบ่อยๆ

สาขาในฟู้ดคอร์ต

จนมาตกผลึกว่า อาหารที่จะขายดีต้องเป็นอาหารที่สามารถทานได้ซ้ำๆ บ่อยๆ ไม่เบื่อ สุดท้ายคงไม่มีอะไรที่จะเข้าถึงลูกค้าได้ง่ายเท่ากับ “เมนูสิ้นคิด” ของใครหลายๆ คนอย่างข้าวผัดกะเพรา เพียงแต่สร้างจุดขายขึ้นมาสักหน่อยด้วยการเสิร์ฟมาบนถาด แต่ขณะกำลังไปได้สวย ก็เกิดอุปสรรคอีกจนได้

“ตอนนั้นขายดีมาก ทำเลร้านอยู่หน้าโต๊ะเลย แต่โดนร้านรอบข้างไม่พอใจที่เราขายดี แล้วร้องเรียนว่าร้านเราสร้างความเดือดร้อนเพราะมีควันเยอะ จนในที่สุดเราโดนเลิกสัญญา แต่โชคดีที่ไปได้ล็อกว่างที่ตลาดเสรีมาร์เก็ตในพาราไดซ์ พาร์ค นั่นเอง ก่อนจะย้ายร้านก็คอยบอกลูกค้าว่าเราจะย้ายไปตรงไหน เพื่อให้ลูกค้าตามไปทาน”

“และช่วงนั้นยังเจออุปสรรคอีกอย่างคือ เกิดสถานการณ์โควิดพอดี แต่ก็เป็นความโชคดีอีกครั้งที่เสรีมาร์เก็ตจดทะเบียนเป็นตลาดซึ่งเป็นสถานที่ขายของจำเป็น เลยไม่ต้องปิดหรือโดนล็อกดาวน์เหมือนสถานที่อื่น”

จังหวะที่ขายอยู่ตลาดเสรีมาร์เก็ตนั่นเอง กิจการก็เจริญเติบโต จนพวกเขาสามารถขยับขยายไปเปิดสาขาอีกมากมายตามฟู้ดคอร์ตในศูนย์การค้าและไฮเปอร์มาร์เก็ตต่างๆ เช่น บิ๊กซี โลตัส ฯลฯ เหตุผลที่เลือกเปิดร้านตามสถานที่เหล่านี้ก็เป็นผลมาจากประสบการณ์ที่เรียนรู้ว่า อาหารนั้นต้องเป็น “ร้านที่หาง่าย ทานได้บ่อยๆ” ซึ่งคงไม่มีอะไรที่ตอบโจทย์เท่ากับร้านขายผัดกะเพราที่กระจายขายอยู่ตามศูนย์การค้าต่างๆ ที่คนเข้าถึงได้ง่ายอีกแล้ว

สองเจ้าของกิจการ เผยด้วยว่า เคล็ดลับในการประสบความสำเร็จจนเปิดได้ถึง 25 สาขาในปัจจุบัน นอกจากความอร่อยที่ต้องมีแน่นอนอยู่แล้วสำหรับการขายอาหาร ต้องพยายามหาจุดเด่นหรือความแตกต่างเล็กๆ น้อยๆ จากร้านอื่น อย่างปัจจุบันที่เปลี่ยนจากถาดสังกะสีเคลือบมาเป็นถาดเมลามีนสำหรับใส่อาหาร และตอนนี้เพิ่มเมนูก๋วยเตี๋ยวเข้ามา เพราะต้องมีแผนสำรองเสมอ ถึงแม้จะขายดีมากแต่ก็อย่านิ่งนอนใจว่าปัญหาจะไม่เกิด

ลูกค้าอุดหนุน

นอกเหนือจากเรื่องอาหารแล้ว “เรื่องหลังบ้าน” ก็สำคัญ เช่น การทำบัญชี การจัดการเรื่องภาษี ต้องวางแผนให้ถูกต้องแต่แรก อย่าให้มีช่องโหว่ หรือแม้แต่พนักงาน ถ้าเราใช้แรงงานต่างด้าว ต้องดำเนินการด้านเอกสารให้ถูกต้องทุกอย่าง

คุณเจมส์-คุณปุ๋ย บอกว่า อีกเรื่องหนึ่งที่ต้องใส่ใจมากๆ คือ พนักงาน ต้องซื้อใจพนักงานให้ได้ คอยช่วยเหลือพนักงานเมื่อพวกเขาต้องการ อีกอย่างคือเขามักจะรับพนักงานที่เป็นญาติๆ แนะนำกันมา เพราะพอพนักงานไว้ใจนายจ้าง เขาจะชักชวนดึงคนดีๆ มาร่วมงานกับเรา พนักงานของร้านเจมส์ กะเพราถาด ไม่จำเป็นต้องมีฝีมือหรือประสบการณ์มาก่อน เพราะคนที่ทำไม่เป็นจะจำในสิ่งที่สอนได้ดี

แตกไลน์สินค้า

“ทุกวันนี้เราไม่ได้ทำการตลาดอะไร อาศัยการบอกปากต่อปาก เรามีแค่เพจเฟซบุ๊กไว้สื่อสารเรื่องจำเป็นกับลูกค้าหรือรับข้อคิดเห็นต่างๆ และอาศัยวางนามบัตรไว้หน้าร้านเท่านั้น” ทั้งสอง บอกอย่างนั้น

และบอกต่อว่า ทุกกิจการล้วนมีช่วงเกิดมาแล้วดับไป เพราะฉะนั้น ไม่ใช่เรื่องแปลกถ้าเราจะพยายามกอบโกยในช่วงที่ยังรุ่งเรือง แต่เพื่อความยั่งยืน จึงต้องมีแผนสำรองสำหรับช่วงที่ร่วงโรยด้วย และต้องรู้จักปรับเปลี่ยนเพื่อรับมือกับความคาดหวังของลูกค้าให้ดีที่สุด ด้วยการเปิดใจรับฟังความคิดเห็นของลูกค้า จะได้รู้ว่าควรแก้ปัญหาตรงไหนและตัดปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคต

ล่าสุด เจมส์ กะเพราถาด ยังไม่มีแนวคิดที่จะขายแฟรนไชส์ ยังเชื่อมั่นกับการทำธุรกิจด้วยตัวเอง 100% เพราะหากขายแฟรนไชส์แล้ว คนที่เอาไปทำต่อทำได้ไม่ดี ผลที่ได้อาจไม่คุ้มเสียกับคุณภาพและชื่อเสียงที่สั่งสมมา