เผยแพร่ |
---|
กลายเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในสังคมออนไลน์กรณีปัญหาโรงพยาบาลขาดทุนและขาดสภาพคล่อง นำโดยนายอานนท์ ศักดิ์วรวิชญ์ อาจารย์ประจำสาขาวิทยาการประกันภัยและบริหารความเสี่ยง คณะสถิติประยุกต์ ผู้อำนวยการศูนย์คลังปัญญาและสารสนเทศ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ออกมาพูดว่ารพ.ขาดทุนไม่ใช่แค่ 5 แห่งตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขแถลง แต่จริงๆแล้วมีมากกว่า 70 แห่ง พร้อมจี้ให้ปฏิรูปการจัดสรรเงินกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(บัตรทอง)ใหม่ เพราะเป็นสาเหตุให้รพ.ขาดสภาพคล่องจากวิธิจัดสรรเงิน ขณะเดียวกันในเพจเฟซบุ๊กของสมาพันธ์แพทย์รพศ.รพท. ยังระบุว่า ไม่มีเงินในการบริหาร แม้แต่เงินจ่ายค่าตอบแทนตามผลปฏิบัติงาน(พีฟอร์พี)
ล่าสุดเมื่อวันที่ 7 เมษายน นพ.โสภณ เมฆธน ปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สธ.)กล่าวว่า จริงๆแล้วรพ.ในสังกัด สธ. โดยเฉพาะโรงพยายบาลศูนย์(รพศ.) โรงพยาบาลทั่วไป(รพท.) ซึ่งเป็นรพ.ขนาดใหญ่กว่า 800 แห่ง รวมไปถึงโรงพยาบาลชุมชน(รพช.)ที่มีศักยภาพในการรักษาพยาบาล ที่ผ่านมาประสบปัญหาทางการเงินจริง โดยรายรับน้อยกว่ารายจ่าย แต่ที่ผ่านมาได้มีมาตรการในการแก้ไขปัญหาระยะยาว เพื่อให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งสธ. มีการประเมินทุกไตรมาสในการให้รพ.แต่ละแห่งทำบัญชีรายรับรายจ่าย รวมทั้งวางแผนการบริหารจัดการ ทั้งกรอบกำลังคน และค่าใช้จ่ายทางการเงิน ว่ามีความแตกต่างจากรพ.ลักษณะมากน้อยแค่ไหน เพื่อลดปัญหาค่าใช้จ่ายสูงเกินความจำเป็น
“ล่าสุดรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) ได้ให้สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) จัดทำรายละเอียดทางการเงินว่า จะมียอดคงเหลือจำนวนเท่าไร หลังจากจัดสรรเงินเหมาจ่ายรายหัวไปแล้ว เนื่องจากยังมีเงินก้อนอื่นๆ เช่น เงินคิดตามกลุ่มโรค หรือที่เรียกว่าดีอาร์จี เพื่อนำมาประเมินค่าใช้จ่ายร่วมกัน คาดว่าตัวเลขตรงนี้จะนำเสนอเข้ามาได้ภายใน 2 สัปดาห์ ขณะเดียวกันส่วนกรณีเรื่องเด็กแรกคลอด ที่รพ.สังกัดได้ให้บริการ และเสนอของบไปยังสปสช. แต่ยังไม่ได้เงินอีก 300 ล้านบาทนั้น ขณะนี้สปสช.กำลังจะเคลียร์เงินก้อนนี้ส่งตรงมายังรพ.” นพ.โสภณ กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่าประเด็นรพ.ขาดทุนขาดสภาพคล่องนั้น ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่าสธ.ให้ตัวเลขไม่ครบถ้วน เนื่องจากไม่ใช่แค่ 5 แห่ง แต่ในโซเชียลฯ เผยแพร่ปัญหารพ.ขาดทุนมีกว่า 100 แห่งด้วยซ้ำไป นพ.โสภณ กล่าวว่า ตัวเลขรพ.5 แห่งที่ขาดสภาพคล่องนั้นมาจากก่อนหน้านี้ที่มีการแชร์ในโซเชียลฯ ว่ามี 18 แห่ง ซึ่งใน 18 แห่งนั้นหากคำนวณทั้งหมดแล้ว โดยไม่ใช่แค่หลังหักหนี้ จะพบว่า เหลือทุนสำรองสุทธิที่ติดลบ 5 แห่งจาก 18 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็น รพ.ศ รพท. อย่างไรก็ตาม แต่หากรวมทั้งหมดที่มีปัญหาขาดสภาพคล่องยอมรับว่า ไม่ได้มีแค่นี้ เพราะรวมโรงพยาบาลชุมชนด้วย ซึ่งมีประมาณ 80 แห่ง แต่การขาดสภาพคล่องไม่ใช่ระดับวิกฤตสีแดง หรือระดับ 7 โดยทางสธ.ก็ไม่ได้นิ่งเฉย มีการออกมาตรการทั้งระยะสั้นระยะยาว รวมทั้งสปสช.ก็ต้องหันมาช่วยเหลือกัน ที่สำคัญต้องของบประมาณจากภาครัฐเพิ่ม เพราะงบประมาณด้านสุขภาพที่ได้รับไม่เพียงพอจริงๆ
ผู้สื่อข่าวถามอีกว่ากรณีที่เกิดขึ้นนั้นมีการเชื่อมโยงว่า รพ.กำลังแย่ เพราะไม่มีเงินจ่ายค่าตอบแทนพีฟอร์พี นพ.โสภณ กล่าวว่า ไม่ใช่ไม่จ่าย แต่กำลังหามาตรการช่วยเหลือ เพราะถ้ามีเงินจ่ายทันที มีหรือที่จะไม่ให้บุคลากรของตัวเอง เพียงแต่เมื่อเงินเข้ามาต้องจ่ายค่ายาก่อน แต่ทั้งหมดอยู่ในมาตรการที่กระทรวงฯ กำลังดำเนินการช่วยเหลืออยู่ ซึ่งคาดว่าจะรวบรวมข้อมูลข้อเท็จจริงทั้งหมดเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการ สธ. เพื่อเสนอของงบกลางต่อไป
ที่มา มติชนออนไลน์