กาญจน์ลุยวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ ชูตลาดออนไลน์เชื่อมตรงผู้บริโภค

“ยังสมาร์ท ฟาร์มเมอร์” เมืองกาญจน์ ผุดวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย พัฒนาเว็บไซต์เชื่อมโยงผู้บริโภค-พ่อค้าคนกลาง-เกษตรกร พร้อมลุยช่องทางเฟซบุ๊กโปรโมตผลผลิต ชี้ทิศทางความต้องการเกษตรอินทรีย์โลกเพิ่มขึ้นทุกปี

นายอิศเรศ เทียนกุล ประธานวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย และผู้ประสานงาน Young Smart Farmer ไทยแลนด์ เขต 2 ภาคตะวันตก เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย (Organic Com-munity Enterprise of Thailand : OCET) ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์รวมข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับเกษตรอินทรีย์ของไทยและสร้างการรับรู้ให้แก่ชาวต่างชาติรวมทั้งการเชื่อมโยงเครือข่ายผู้ผลิตออร์แกนิกในประเทศไทยซึ่งจะเริ่มต้นดำเนินการในจังหวัดกาญจนบุรีโดยการทำให้คนในชุมชนบริโภคกันเองก่อน และในอนาคตมีแผนจะเชิญชวนวิสาหกิจอื่น ๆ มาร่วมเป็นสมาชิกด้วย เพื่อช่วยกันพัฒนาเกษตรปลอดภัยไปสู่เกษตรอินทรีย์

สำหรับแผนการดำเนินงานมี 2 แบบ คือ การทำเว็บไซต์ organic.or.th เพื่อให้ความรู้ และเป็นช่องทางให้ชาวต่างชาติที่ต้องการปลูกหรือซื้อผลผลิตอินทรีย์ ได้สื่อสารกับเกษตรกรผู้ปลูกและพ่อค้าคนกลางโดยตรง ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำเว็บไซต์และวางโครงสร้าง อีกส่วนหนึ่งคือ ช่องทางเฟซบุ๊กวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย เพื่อโปรโมตสินค้าเกษตรอินทรีย์ของสมาชิก โดยจะมีการจดบันทึก จัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ

ทั้งนี้เกษตรกรที่ปลูกเกษตรอินทรีย์และเข้าร่วมกับวิสาหกิจเกษตรอินทรีย์ฯ ทางวิสาหกิจก็จะช่วยยกระดับให้เกษตรกรได้มาตรฐานเกษตรอินทรีย์ไทยแลนด์ หรือมาตรฐานระดับสากล (IFOAM) ด้วย

ปัจจุบันวิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์แห่งประเทศไทย มีการแปรรูปผลผลิตทางการเกษตร คือ ชา ซึ่งมีทั้งหมด 9 ชนิดโดยรับซื้อวัตถุดิบจากเกษตรกรในอำเภอเมือง ไทรโยค ท่ามะกา ด่านมะขามเตี้ย บ่อพลอย พนมทวน และหนองปรือ ซึ่งได้ยื่นขอจดทะเบียนโอท็อปเรียบร้อยแล้ว มีกำลังการผลิต 1,000 ซอง/วัน จำหน่ายกระป๋องละ 20 ซอง ราคา 150 บาท เน้นลูกค้ากลุ่มรักสุขภาพ

นายอิศเรศกล่าวอีกว่า สำหรับทิศทางเกษตรอินทรีย์ของไทยนั้นกำลังเชิดหัวขึ้น ผู้บริโภคต้องการสูง แม้ปัจจุบันภาครัฐได้ให้การสนับสนุน แต่ก็ยังมีความขัดแย้งว่าจะเป็นไปในทิศทางไหน รวมถึงความต้องการผลผลิตเกษตรอินทรีย์ทั้งโลกก็เพิ่มขึ้นเช่นกัน เนื่องจากประชาชนรับรู้ถึงพิษภัยของสารเคมีแต่ก็ยังถูกกฎหมายแต่ละประเทศกดดัน อีกทั้งมาตรฐานต่าง ๆ ก็ยังขัดกันอยู่

นอกจากนี้ เกษตรกรรุ่นใหม่ หรือผู้ที่ต้องการทำเกษตรอินทรีย์ยังประสบปัญหา 2 ส่วน คือ พ่อแม่ไม่ยอมเปลี่ยนความคิด อยากให้ทำการเกษตรแบบเดิม คือ การใช้สารเคมีและเป็นเกษตรเชิงเดี่ยว เพราะไม่กล้าเปลี่ยนแปลง อีกทั้งเกษตรกรรุ่นใหม่ได้รับข้อมูลมาผิด ๆ ในการทำเกษตร เพราะในยุค 4 จี องค์ความรู้ที่ได้รับมีเยอะและรวดเร็ว แต่ก็ไม่สามารถบอกได้ว่าสิ่งไหนควรทำหรือไม่ควรทำ

“สังคมออร์แกนิกจะเข้มแข็งได้นั้น ต้องเกิดจากการยอมรับสินค้าของชุมชนด้วยกันเองก่อน ถ้าเกษตรกรปลูก ผลิต แปรรูปแล้วคนในชุมชนไม่ซื้อ ต้องคิดก่อนว่าไม่ซื้อเพราะอะไร เพราะการสื่อสารไม่เข้าใจ หรือไม่มั่นใจในความปลอดภัย ดังนั้นถ้าเราสร้างความมั่นใจให้กับคนในชุมชนได้ ก็จะเป็นเรื่องที่ดี และขยายไปสู่ชุมชนอื่น ๆได้” นายอิศเรศกล่าว

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์