กิน ‘ปลาสลิด’ ตากแห้ง ระวัง ‘ดีดีที-ฟอร์มาลิน’

กรณีที่มีรายงานว่า พอมีการใช้ยาฆ่าแมลง (ดีดีที) ฉีดกันแมลงตอมปลาสลิดตากแห้ง และมีการใช้ฟอร์มาลินเพื่อป้องกันไม่ให้ปลาเน่าเสียนั้น

นพ. พูลลาภ ฉันทวิจิตรวงศ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) มีความห่วงใย เนื่องจากประเทศไทยได้มีประกาศห้ามใช้ดีดีที หรือไดคลอโรไดฟีนิลไตรคลอโรอีเทน (dichlorodiphenyltichloroethane) ซึ่งเป็นวัตถุอันตรายทางการเกษตรและสาธารณสุขที่ห้ามมีการผลิต นำเข้า ส่งออก และมีไว้ในครอบครอง ตั้งแต่ปี 2546 เนื่องจากเป็นสารเคมีที่มีพิษและค่อนข้างสลายตัวช้า ไม่ละลายในน้ำ แต่สามารถละลายได้ในน้ำมัน ทำให้พบว่ามีการตกค้างในห่วงโซ่อาหาร และสะสมในดิน น้ำ และสิ่งแวดล้อมได้นานถึง 150 ปี หากมนุษย์ได้รับดีดีทีในปริมาณมาก จะทำให้ระบบประสาทส่วนกลางถูกขัดขวาง พบอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เวียนศีรษะ ปวดศีรษะ และอาจมีผลต่อการทำงานของตับ หรือโลหิตจาง และทำให้เกิดโรคมะเร็งได้

นพ. พูลลาภ กล่าวอีกว่า อย. และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) ได้มีการสุ่มตรวจตัวอย่างผัก ผลไม้ เนื้อสัตว์ เพื่อหาสารตกค้างโดยเฉพาะยาฆ่าแมลงเป็นประจำอยู่แล้ว ทั้งนี้ อย. ได้ออกกฎหมายควบคุมปริมาณดีดีทีตกค้างในผลิตภัณฑ์อาหารตั้งแต่ ปี 2538 กำหนดให้ตรวจพบการตกค้างของดีดีทีในเนื้อสัตว์น้ำ หอย และสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง ไม่เกิน 1 มิลลิกรัม ต่ออาหาร 1 กิโลกรัม ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเรื่องอาหารที่มีสารพิษตกค้าง กรณีพบว่า มีการใช้หรือครอบครองสารดีดีทีจะมีความผิดตาม พ.ร.บ. วัตถุอันตราย พ.ศ. 2535 มีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

“กรณีตรวจพบดีดีทีในปลาสลิดตากแห้งในปริมาณที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค จัดเป็นอาหารไม่บริสุทธิ์ มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ หากตรวจพบฟอร์มาลินในปลาสลิด ซึ่งเป็นวัตถุที่ห้ามใช้ในอาหารในปริมาณที่อาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค มีโทษจำคุกไม่เกิน 2 ปี ปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ เช่นเดียวกัน” นพ. พูลลาภ กล่าว และว่า เพื่อความปลอดภัย ก่อนซื้อปลาสลิดผู้บริโภคควรสังเกตสภาพแวดล้อมของสถานที่จำหน่าย เนื่องจากปกติแล้วอาหารจำพวกปลาตากแห้งมักมีแมลงวันตอม แต่หากไม่พบแมลงวันตอมก็อย่าวางใจซื้อ ก่อนกินควรล้างให้สะอาดและนำไปผ่านความร้อนให้สุกก่อน หากไม่แน่ใจในคุณภาพ หรือความปลอดภัยของอาหาร หรือพบเห็นผลิตภัณฑ์สุขภาพที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือไม่ได้รับความปลอดภัยจากการบริโภค ให้ร้องเรียนที่สายด่วน 1556 หรือร้องเรียนผ่าน Oryor Smart Application หรือ สสจ. ทั่วประเทศ เพื่อ อย. จะได้ดำเนินการตรวจสอบและดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทำผิดต่อไป

 

ขอบคุณข้อมูลจากมติชนรายวัน