นวัตกรรม “มจพ.” เพื่อเกษตรกรชาวสวนยาง เพิ่มมูลค่า สร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์

ปีนี้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) ได้นำเสนอผลงานนวัตกรรมยางพารา ในงาน “วันยางพาราบึงกาฬ 2560” อย่างยิ่งใหญ่ โครงการนวัตกรรมยางพารา มจพ. ตอบโจทย์ 2 ข้อ แนวทางแรก โชว์ผลงานนวัตกรรมใหม่ ได้แก่ ถนนยางพาราดินซีเมนต์ ผิวถนนกันลื่น บล็อกปูถนนจากยางพารา อิฐมวลเบาจากยางพารา แนวทางที่ 2 โชว์นวัตกรรมเพื่อการแก้ปัญหาภาคเกษตร เช่น นวัตกรรมสารกำจัดกลิ่นโรงงานยางพารา สารใส่น้ำยางพารา IR เร่งการตกตะกอนเพื่อนำน้ำกลับมาใช้ใหม่  

นวัตกรรมยางพาราดังกล่าว เป็นผลงานวิจัยของ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิศวกรรมวัสดุและกระบวนการผลิต ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและกระบวนการ บัณฑิตวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์นานาชาติสิรินธร ไทย-เยอรมัน (TGGS) และรองผู้อำนวยการฝ่ายส่งเสริมงานวิจัยและนวัตกรรม สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.)

ผศ.ดร.ระพีพันธ์ แดงตันกี

การจัดนิทรรศการในครั้งนี้ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ ได้นำเสนอการใช้สูตรส่วนผสมน้ำยางพาราดัดแปลงสำหรับทำถนนยางพาราดินซีเมนต์ โดยพัฒนาน้ำยางให้สามารถยึดเกาะซีเมนต์และวัสดุอื่นๆ เพิ่มความทนทานต่อแรงดึงและความทนทานต่อแรงฉีกขาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลดความเปราะให้กับพื้นปูนและซีเมนต์ สามารถป้องกันการซึมผ่านของน้ำได้ จากแนวคิดดังกล่าว สามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มยางพาราได้หลากหลายรูปแบบ ได้แก่

 

ถนนยางพาราดินซีเมนต์

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ ได้ทดลองสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์สายแรกในจังหวัดบึงกาฬ บนเส้นทางบ้านโคกนิยม หมู่ที่ 2 ตำบลวังชมภู อำเภอพรเจริญ เชื่อมโยงกับ บ้านตาลเดี่ยว หมู่ที่ 4 ตำบลท่าสะอาด อำเภอเซกา จังหวัดบึงกาฬ ระยะทาง 300 เมตร ความกว้าง 5 เมตร ถนนยางพาราเส้นนี้ใช้สารโพลิเมอร์สังเคราะห์ร่วมกับน้ำยางพารา ในรูปแบบ Polymer Soil Cement สามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้หลายรูปแบบ ทั้งถนนดินลูกรัง หรือผสมกับคอนกรีตก็ได้ การสร้างถนนด้วยเทคนิคนี้สะดวก รวดเร็ว สามารถสร้างถนนได้ วันละ 500-600 เมตร มีต้นทุนก่อสร้างถนนที่ถูกลงและได้โครงสร้างถนนที่แข็งแรงขึ้น เมื่อเจอฝนตก ถนนก็ไม่ลื่น แถมช่วยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศอีกต่างหาก

การสร้างถนนยางพาราดินซีเมนต์สายแรกในจังหวัดบึงกาฬ

นอกจากนี้ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ ยังได้ศึกษาวิจัย เรื่อง “ถนนเรืองแสง (LUMINESCENT ROAD)” ผิวถนนทำจากยางพารา เป็นส่วนประกอบ และสามารถเรืองแสงในที่มืดได้นาน 6 ชั่วโมง “ถนนกันลื่น” (ANTI-SLIP ROAD) ผิวถนนทำจากยางพาราเป็นส่วนประกอบหลัก ลดการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ “ผิวถนนจากยางพารา หรือยางมะตอยเทียม” (NR-RUBBER ROAD SURFACE) ผิวถนนทำจากยางพาราผสมหินคลุก ใช้สำหรับปูผิวทางสัญจร  ทางจักรยานและสวนสาธารณะ รวมทั้ง “อิฐบล็อกผสมน้ำยางพารา” โดยนำเศษขี้เถ้าโรงไฟฟ้าชีวมวลมาใช้เป็นวัสดุหลักในการผลิตอิฐบล็อก ผสมน้ำยางพาราดัดแปลง ช่วยให้อิฐบล็อกมีความแข็งแรง ทนทาน และมีน้ำหนักเบา

ขณะเดียวกัน ทางนักวิจัยของ มจพ. ได้นำเสนอนวัตกรรมสำหรับช่วยแก้ไขปัญหาภาคเกษตร ได้แก่ “สารจับยาง IR” (INNnnovation Rubber) คุณสมบัติของสาร IR เป็นสารประกอบอินทรีย์ใช้สำหรับจับเนื้อยาง เพื่อให้แยกส่วนของเนื้อยางออกจากน้ำ สามารถใช้ได้กับน้ำยาง ที่มีค่า DRC ต่ำได้ทั้งหมด มีประสิทธิภาพการจับเนื้อยางมากถึง 99.99% ไม่มีผลต่อคุณสมบัติเชิงกลของยางพารา การนำไปใช้ประโยชน์สามารถแยกเนื้อยางออกจากน้ำยางได้ทุกชนิด เช่น น้ำยางที่โดนฝน น้ำยางสดผสมแอมโมเนีย น้ำยางข้น และหางน้ำยาง เป็นต้น

สารจับยาง IR เป็นนวัตกรรมใหม่ของการกรีดยางสู้ฝน

“สารจับยาง IR เป็นนวัตกรรมใหม่สำหรับช่วยแก้ปัญหาภาคการผลิต เพราะบ่อยครั้งที่เจอฝนตกระหว่างกรีดยาง ทำให้น้ำยางได้รับความเสียหายจนต้องทิ้งยางไป สารจับยางตัวนี้ช่วยให้ชาวสวนยางไม่ต้องกลัวฝนอีกต่อไป เพราะหยดสารจับยางในถ้วยยาง จะช่วยให้ยางจับเป็นก้อนได้ทันที ผลงานชิ้นนี้ ใช้งานง่าย สะดวก ที่สำคัญมีราคาถูก และคุ้มค่ากับการใช้งาน” ผศ.ดร. ระพีพันธ์ กล่าว

ผงน้ำใส SC (Super Clear) เป็นผงเร่งตกตะกอนแบบเฉียบพลัน เป็นนวัตกรรมใหม่ล่าสุด เพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมที่ดี  ช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำสะอาดและการบำบัดน้ำเสีย สำหรับใช้ในภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม “ผงแร่กำจัดกลิ่น ODL” เป็นนวัตกรรมที่ผลิตมาจากผงแร่ธรรมชาติ นำมาใช้กำจัดกลิ่นเหม็นทุกประเภท โดยเฉพาะน้ำเสียจากอุตสาหกรรมยางพารา

ปุ๋ยดรอส

“ปุ๋ยดรอส” เป็นงานวิจัยปุ๋ยสายพันธุ์ใหม่สำหรับเกษตรกรไทย เร่งให้พืชมีการเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ช่วยเกษตรกรให้มีคุณภาพชีวิตที่ดียิ่งขึ้น ผลงานชิ้นนี้เข้าประกวดชิงเงินรางวัล 2 ล้านบาท จากรายการเดอะมาสเตอร์ออฟอินโนเวชั่น ซึ่งเป็นเกมโชว์สุดยอดนวัตกรรม ช่อง Smart SME ของ ทรูวิชั่นส์ มาแล้ว

ผศ.ดร. ระพีพันธ์ เล่าว่า โดยพื้นฐาน ปุ๋ยที่ใช้ในเมืองไทยมี 2 ประเภท คือ ปุ๋ยเคมี และปุ๋ยอินทรีย์ ปุ๋ยแต่ละชนิดมีข้อดี ข้อเสียที่แตกต่างกัน ปุ๋ยเคมีเมื่อนำไปใช้งาน จะเห็นผลเร็วในระยะ 2-3 วัน แต่ปุ๋ยเคมีจะถูกใช้งานหมดภายใน 20-30 วัน ส่วนปุ๋ยอินทรีย์ กว่าจะเห็นผลต้องใช้เวลานาน การใช้ปุ๋ยทั้ง 2 ชนิด มาใช้งานจึงมีช่องว่างอยู่มาก ผมจึงเกิดแนวคิดที่จะผลิตปุ๋ยรูปแบบใหม่ ที่มีอายุการใช้งานได้ยาวขึ้น และมีประสิทธิภาพในการปรับปรุงดินไปพร้อมๆ กัน และประหยัดต้นทุน เพราะใช้แค่ 1 ครั้ง ต่อฤดูกาลเท่านั้น

ผิวถนนจากยางพารา หรือยางมะตอยเทียม

จากแนวคิดดังกล่าว ผศ.ดร. ระพีพันธ์ ได้พัฒนาปุ๋ยดรอส ที่มีประสิทธิภาพสูง เพราะเนื้อปุ๋ยดรอสมีส่วนผสมของธาตุอาหารหลักที่พืชต้องการในปริมาณมาก (ไนโตรเจน ฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม) รวมทั้งธาตุอาหารรอง (แคลเซียม แมกนีเซียม ซิลิกอน กำมะถัน แมงกานีส ทองแดง ฯลฯ) เมื่อนำปุ๋ยดรอสไปใช้งาน พืชจะได้ธาตุอาหารหลัก (NPK) และธาตุอาหารรองครบถ้วนในครั้งเดียว เหมาะสำหรับใช้งานกับพืชทุกชนิด ไม่ว่าจะเป็นพืชไร่ พืชสวน

“โดยทั่วไป นาข้าว จะใส่ปุ๋ยเคมี 2 ครั้ง ต่อรอบ คือช่วงหลังปลูกและช่วงต้นข้าวตั้งท้องออกรวง หากใช้ปุ๋ยดรอส เกษตรกรลงทุนใส่ปุ๋ยเพียงแค่ครั้งเดียว ต่อการปลูกข้าว 1 รอบ เท่านั้น ปุ๋ยดรอสจะทำหน้าที่แปลงธาตุไนโตรเจนที่อยู่ในดิน ให้กลายเป็นปุ๋ยอีกครั้งหนึ่งด้วย เมื่อใส่ปุ๋ยดรอสเพียง 1 ครั้ง จะมีอายุการใช้งานนานถึง 6 เดือน ช่วยประหยัดต้นทุนค่าใช้จ่ายแล้ว ยังได้ประโยชน์สองต่อ เพราะปุ๋ยดรอสจะทำหน้าที่บำรุงต้นพืชแล้ว ยังช่วยบำรุงดินควบคู่กันไปด้วย” ผศ.ดร. ระพีพันธ์ กล่าว

หากใครสนใจอยากทดลองใช้ปุ๋ยดรอส อดใจรออีกสักนิด ผศ.ดร. ระพีพันธ์ วางแผนเปิดการจำหน่ายภายในปีนี้อย่างแน่นอน โดยจำหน่ายปุ๋ยดรอสในราคาต่ำกว่าปุ๋ยเคมีทั่วไป ประมาณ 40-50% ที่ผ่านมา ทาง มจพ. ได้ศึกษาอัตราการใช้ปุ๋ยดรอสกับพืชเศรษฐกิจแต่ละชนิด เช่น นาข้าว อ้อย ยางพารา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว หากใครสนใจผลงานนวัตกรรมของ มจพ. สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกลและกระบวนการ โทร. (02) 555-2000 ต่อ 2907 หรือติดต่อโดยตรงกับ ผศ.ดร. ระพีพันธ์ แดงตันกี ทาง อี-เมล  [email protected]