จุดอ่อนของยักษ์ค้าปลีก

คอลัมน์ จัตุรัสนักลงทุน โดย ชาย มโนภาส

ก่อนยุคต้มยำกุ้งในปี 1997 หุ้นค้าปลีกยังไม่ได้รับความนิยมเท่าไรนัก จนกระทั่งหลังวิกฤตเกิดการควบรวมกิจการของค้าปลีกไทยกับต่างชาติ ซึ่งนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาการบริหารการจัดการ ตามมาด้วยการขยายสาขาอย่างรวดเร็ว ทำให้หุ้นค้าปลีกในช่วงที่ผ่านมาปรับตัวสูงขึ้นเป็นอย่างมาก

ในขณะที่หุ้นค้าปลีกของไทยยังคงสามารถทรงราคาอยู่ได้ในระดับสูงแต่เป็นที่น่าสังเกตว่าราคาหุ้นค้าปลีกระดับโลกบางบริษัทกลับเคลื่อนไหวไปในทิศทางที่อ่อนตัวกว่าค่าเฉลี่ยของตลาดเป็นไปได้หรือไม่ว่ากิจการที่นักลงทุนเคยเชื่อว่าแข็งแกร่งดุจหินผา รับเงินสดก่อนแล้วค่อยจ่ายซัพพลายเออร์ในอีก 60-90 วันถัดไป กำลังเข้าสู่จุดอิ่มตัว และเริ่มสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดให้กับคู่แข่งรายใหม่ที่เล็กกว่า แต่ปรับตัวได้รวดเร็วกว่า ค้าปลีกยักษ์ใหญ่จะยังคงขยายตัวได้ในระดับสูงหรือไม่ ? และอุปสรรคสำคัญคืออะไร ?

กิจการค้าปลีกขนาดยักษ์มักมีจุดเริ่มจากการประสบความสำเร็จในระดับภูมิภาค เสร็จแล้วจึงขยายไปในระดับประเทศ ซึ่งช่วงนี้เป็นช่วงที่กิจการขยายได้รวดเร็วมาก ราคาหุ้นก็ตอบสนองไปในทิศทางเดียวกัน

ปัญหาของค้าปลีกขนาดยักษ์มักเริ่มเกิดขึ้นเมื่อกิจการในประเทศดูเหมือนจะโตช้าลงจึงต้องอาศัยการออกไปโตในต่างประเทศเพื่อช่วยขับเคลื่อนแต่กลายเป็นว่าหลายบริษัทประสบปัญหาการทำธุรกิจค้าปลีกในต่างแดน

ในปี 2012 Rajiv Lal ศาสตราจารย์อาวุโส ผู้เชี่ยวชาญทางด้านค้าปลีก แห่ง Harvard Business School ได้เขียนบทความชื่อ “Retail Doesn′t Cross Borders” ซึ่งพอสรุปใจความได้ว่า ปัญหาของค้าปลีกเวลาไปโตในต่างแดนนั้นต้องใช้เวลานานมาก กว่ากิจการนั้น ๆ จะเริ่มมีกำไร

อย่างห้าง Walmart เริ่มเข้าสู่ประเทศจีนในปี 1995 มาถึงจุดคุ้มทุนในปี 2010 กินเวลากว่า 15 ปี ทั้งนี้เป็นเพราะว่าธุรกิจค้าปลีกขนาดยักษ์อย่างร้านดิสเคานต์สโตร์นั้นจะมีต้นทุนคงที่ (Fixed Cost) ที่สูงมาก ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนสร้างสาขา ขยายศูนย์กระจายสินค้า และระบบขนส่ง แต่เนื่องจากอัตรากำไรสุทธิบางมาก อย่าง Walmart ทำได้ 3% Carrefour ทำได้ 1.71% และ TESCO ทำได้ 0.4% กว่ากำไรจะเข้ามามากพอกับค่าใช้จ่ายต่าง ๆบริษัทต้องใช้เวลายาวนานพอสมควร

นอกจากการออกไปโตต่างประเทศเป็นเรื่องยากลำบาก การโตในประเทศก็ดูเหมือนจะมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดมากขึ้น หุ้นของ TESCO ยักษ์ค้าปลีกของอังกฤษ ซึ่งเคยอยู่สูงถึง 480 ปอนด์ในปี 2007 กลับตกฮวบ มาเหลือแค่ราว 185 ปอนด์ในปัจจุบัน

นอกเหนือจากปัญหาเรื่องการบริหารจัดการภายใน คู่แข่งอย่างร้าน ALDI กับ LIDL จากเยอรมนี ก็เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ความสามารถทำกำไรของ TESCO ลดลง ALDI เป็นร้านขายของขนาดกลาง ใกล้เคียงกับซูเปอร์มาร์เก็ต ทำให้ขยายสาขาได้สะดวกกว่า ในร้านจำกัดจำนวนสินค้าที่มาลง ทำให้ลดการสต๊อกสินค้า โฟกัสการขายเฮาส์แบรนด์ และเน้นการจัดร้านที่เรียบง่าย ทั้งหมดนี้ทำให้ ALDI สามารถขายสินค้าได้ต่ำกว่าซูเปอร์มาร์เก็ตทั่วไปถึง 40%

แม้ว่าตอนนี้ดัชนี Nikkei 225 ของญี่ปุ่นจะอยู่ใกล้กับจุดสูงสุดในรอบ 5 ปี แต่หุ้นค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่าง Seven and I Holdings เจ้าของร้านเซเว่นในญี่ปุ่น และแฟรนไชส์ในอีกหลายประเทศกลับอยู่ในระดับต่ำกว่าจุดสูงสุดในรอบ 5 ปี ถึงราว 25% แม้ว่าในไตรมาสล่าสุด กำไรของบริษัทยังสามารถเติบโตได้เล็กน้อย แต่รายได้รวมของบริษัทที่เคยเติบโตสูงถึง 30% ในปี 2013 และ 10% ในปี 2014 กับกลายมาเป็นติดลบราว 8-9% ในสองไตรมาสล่าสุด

สำนักข่าว Bloomberg วิเคราะห์ว่า กิจการค้าปลีกของญี่ปุ่นกำลังเผชิญปัญหาประชากรสูงวัย ซึ่งทำให้แนวโน้มการบริโภคลดลง และผู้หญิงญี่ปุ่นเข้าสู่ตลาดแรงงานมากขึ้น จากที่เมื่อก่อนมักจะทำหน้าที่แม่บ้านเป็นหลัก นอกจากนั้น Seven and IHoldings ยังต้องเจอการแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น จากการควบรวมกิจการระหว่าง Family Mart และ Circle K ซึ่งเป็นร้านสะดวกซื้อคู่แข่งของบริษัท

ตลาดในประเทศที่อิ่มตัว การแข่งขันที่สูงขึ้น และการขยายงานในต่างประเทศต้องใช้เวลานานกว่าจะมีกำไร กำลังบีบคั้นยักษ์ค้าปลีกซึ่งเคยเป็นหุ้นร้อนแรงในอดีตให้อ่อนแอลง หุ้น Carrefour ยักษ์ค้าปลีกของฝรั่งเศส จากที่เคยอยู่ที่ 55 EURO ในปี 2007 กลับลดลงเหลือแค่ 21 EURO ในปัจจุบัน

กิจการค้าปลีกยักษ์ใหญ่หลายบริษัทมีมูลค่ากิจการลดลงเมื่อเทียบกับเมื่อสิบปีก่อน

แต่กระนั้นก็ตามยังมียักษ์ธุรกิจค้าปลีกอย่างCOSTCO(คล้าย ๆ MAKRO ในเมืองไทย) หรืออย่าง TJ Maxx ร้านขายเสื้อผ้าแบรนด์เนมแบบลดราคา ซึ่งมูลค่ากิจการและยอดขายยังคงสามารถเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง นักลงทุนคงต้องเลือกเป็นรายบริษัท อ่านข้อมูลเฉพาะเป็นราย ๆไปเพื่อเข้าใจกลยุทธ์ว่า บริษัทยักษ์ค้าปลีกนั้น ๆ เอาใจใส่ลูกค้าขนาดไหน

เท่าที่ผมสังเกต ยักษ์ค้าปลีกต่างชาติบางบริษัทเน้นเอาใจผู้ถือหุ้นมากเกินไป โดยจ่ายเงินปันผลสูง ๆ และเน้นซื้อหุ้นคืนเพื่อทำให้กำไรต่อหุ้นโตไว ๆ แต่ไม่ได้เน้นการพัฒนาบริการอะไรใหม่ ๆ เพื่อลูกค้าเลยในการทำธุรกิจผมคิดว่าลูกค้าสำคัญที่สุด เพราะหากบริษัทถูกแย่งลูกค้าไปแล้ว ต่อไปจะเอาเงินจากไหนมาเอาใจผู้ถือหุ้นกันละครับ

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์