‘ปิยะสกล’ ประกาศนโยบาย ‘เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต’ 1 เม.ย. รพ.ไหนเก็บเงินก่อน 72 ชม.มีโทษ!

เมื่อวันที่ 31 มีนาคม ที่ศูนย์ประชุม อิมแพ็ค ฟอรั่ม เมืองทองธานี นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ(สพฉ.) สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข(สป.สธ.) กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ(สบส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) สำนักงานประกันสังคม(สปส.) กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง สมาคมโรงพยาบาลเอกชน วิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย ร่วมแถลงข่าว “นโยบายเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” (Universal Coverage for Emergency Patients : UCEP) หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ เรื่อง “หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการกำหนดค่าใช้จ่ายในการดำเนินการผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต” เมื่อวันที่ 28 มีนาคม 2560 ที่ผ่านมา

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า ที่ผ่านมาประเทศไทยมีสิทธิสุขภาพมากมาย แต่อาจมีความเหลื่อมล้ำในการรักษาบางจุด แต่นับจากนี้ กรณี ครม. อนุมัตินโยบายรัฐบาล ที่เรียกว่า “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต มีสิทธิทุกที่” ซึ่งหมายถึงประชาชนทุกคนไม่ว่าสิทธิสุขภาพใดก็ตาม เมื่อเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤตภายใน 72 ชั่วโมง ต้องได้รับการรักษาพยาบาลอย่างเต็มที่ โดยโรงพยาบาลที่ใกล้บ้าน หรือจุดเกิดเหตุที่สุด โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย และเมื่อพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงแล้วก็ต้องทำการส่งต่อไปยังโรงพยาบาลในสิทธิต่อไป ซึ่งจะมีผลตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2560

นพ.ปิยะสกล กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายช่วง 72 ชั่วโมงนั้น ทางภาครัฐได้ร่วมกันหารือกับทุกภาคส่วน ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง กองทุนประกันสังคมและกองทุนสิทธิรักษาพยาบาลข้าราชการ และสมาคมโรงพยาบาลเอกชน จนได้กำหนดอัตราการค่ารักษาพยาบาลขึ้น แบ่งออกเป็นกว่า 3,000 รายการ ในกรณีฉุกเฉินวิกฤตเท่านั้น ซึ่งเป็นราคาที่ตกลงร่วมกันห้ามคิดเกินจากนี้ โดยจะเป็นการจ่ายของแต่ละกองทุน ซึ่งประชาชนไม่ต้องกังวล หากอยู่ใน 72 ชั่วโมงไม่ต้องจ่ายเงิน แต่หลังจากนั้นจะต้องส่งต่อไปโรงพยาบาลตามสิทธิ ซึ่งในส่วนรพ.สังกัด สธ.ได้มีการจัดเตรียมต่างๆ เพื่อให้สำรองเตียงไว้แล้ว รวมทั้งรพ.ของสังกัดอื่นๆทั้งมหาวิทยาลัย ทหาร ตำรวจ เป็นต้น อย่างไรก็ตาม หากใครฝ่าฝืนมติครม.ในการเรียกเก็บเงินผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตจะมีโทษทั้งจำทั้งปรับ และหากรุนแรงอาจถึงขั้นเพิกถอนใบประกอบการได้ แต่เชื่อว่าไม่ถึงขั้นนั้น เพราะรพ.ทุกแห่งพร้อมช่วยเหลือประชาชนให้รอดพ้นวิกฤตฉุกเฉินร่วมกัน

ร.อ.นพ.อัจฉริยะ แพงมา เลขาธิการ สพฉ. กล่าวว่า หากใครมีข้อสงสัยหรือข้อถกเถียงเรื่องอาการเจ็บป่วยฉุกเฉินว่าเข้าขั้นวิกฤตหรือไม่อย่างไรนั้น ขณะนี้ได้ตั้งศูนย์ประสานคุ้มครองสิทธิผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตขึ้น โดยสามารถติดต่อมาได้ที่โทร.02 872 1669 ตลอด 24 ชั่วโมง ซึ่งศูนย์ดังกล่าว เป็นผู้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดกรณีที่มีปัญหาเกี่ยวกับการวินิจฉัยในการคัดแยกผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤต

พล.อ.ต.เฉลิมพร บุญสิริ ประธานวิทยาลัยแพทย์ฉุกเฉินแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากนี้จะมีการติดคำนิยาม “เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤต” หน้าห้องฉุกเฉินของรพ.ต่างๆ เพื่อให้ญาติผู้ป่วย และประชาชนทั่วไปได้รับทราบ ซึ่งจะเป็นเบื้องต้นเท่านั้น เนื่องจากข้อเท็จจริงแพทย์ฉุกเฉินทราบเรื่องนี้แล้ว อย่างไรก็ตาม สำหรับกลุ่มอาการฉุกเฉินวิกฤต หลักๆ มี 6 กลุ่ม คือ 1.หมดสติ ไม่รู้สึกตัว ไม่หายใจ 2.หายใจเร็ว หอบเหนื่อยรุนแรง หายใจติดขัดมีเสียงดัง 3.ซึมลง เหงื่อแตก ตัวเย็น หรือมีอาการชักร่วม 4. เจ็บหน้าอกเฉียบพลัน รุนแรง 5.แขนขาอ่อนแรงครึ่งซีก พูดไม่ชัด แบบปัจจุบันทันด่วน หรือชักต่อเนื่องไม่หยุด และ 6. หรือมีอาการอื่นร่วม ที่มีผลต่อการหายใจระบบการไหลเวียนโลหิต และระบบสมองที่อาจเป็นอันตรายต่อชีวิต

นพ.สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย รองปลัดสธ. กล่าวว่า สำหรับค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นโรงพยาบาลเอกชนเรียกเก็บจากกองทุนต่าง ๆ ส่วนระบบสำรองเตียงรับผู้ป่วยหลังพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงจากภาคเอกชนนั้น ในเขตกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุขได้ประสานให้โรงพยาบาลรัฐทุกสังกัดรวมทั้งโรงพยาบาลในเขตปริมณฑลรองรับ ส่วนภูมิภาคนั้น ส่วนใหญ่เป็นรพ.สังกัด สธ.อยู่แล้ว ซึ่งเตรียมพร้อมเรื่องเตียงรองรับเช่นกัน

นพ. พงษ์พัฒน์ ปธานวนิช นายกสมาคมโรงพยาบาลเอกชน กล่าวว่า ที่ผ่านมารพ.เอกชนทุกแห่งก็ให้การดูแลผู้ป่วยฉุกเฉินด้วยวิชาชีพอยู่แล้ว ส่วนในเรื่องค่าใช้จ่ายนั้นก็เป็นไปตามข้อตกลงร่วมกัน เพียงแต่ขอย้ำว่า เมื่อพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมงแล้ว หากผู้ป่วยต้องการรักษาตัวต่อที่รพ.เอกชนก็ต้องจ่ายในอัตราปกติของรพ.เอกชนนั้นๆ เนื่องจากก็มีต้นทุนที่แตกต่างกัน แต่หากต้องการส่งต่อไปรพ.ตามสิทธิก็จะเป็นไปตามระบบ ซึ่งตรงนี้ภาครัฐยืนยันว่าเตรียมระบบรองรับแล้ว

“ที่ผ่านมาระบบการส่งต่อผู้ป่วย ยังไม่มีการจัดการ ทำให้ส่งต่อผู้ป่วยไม่ได้ก็มี แต่เมื่อนโยบายนี้ชัดเจนว่า เตรียมพร้อมทั้งรพ.ในสิทธิ ทั้งเตียงรองรับผู้ป่วยกลับคืน ก็ถือว่าเป็นเรื่องดี แต่ประชาชนก็สามารถเลือกได้ว่า เมื่อพ้นวิกฤต 72 ชั่วโมง จะอยู่รพ.เอกชนตามเดิม หรือจะส่งต่อ ซึ่งหากอยู่ตามเดิมก็ต้องจ่ายตามระบบปกติ” นพ.พงษ์พัฒน์ กล่าว

ที่มา มติชนออนไลน์