ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เรียกร้องสิทธิมาอย่างต่อเนื่อง สำหรับ กลุ่มหลากหลายทางเพศ ล่าสุดกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว (สค.) ร่วมกับมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ จัดงานสัมมนา “ร่างพ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ศ. …” ซึ่งระบุถึงสิทธิกลุ่มประชากรเพศทางเลือก ในงาน “เสวนา (ร่าง) พ.ร.บ.การรับรองเพศ พ.ศ. …” ณ โรงแรมเอเชีย ปทุมวัน กรุงเทพฯ
ไตรรัตน์ ฟ้าปกาสิต นิติกรชำนาญการ กรม สค. กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.รับรองเพศ พ.ศ. … เป็นกฎหมายทางเลือกให้ประชากรกลุ่มเพศทางเลือก ที่สามารถยื่นคำร้องให้คณะกรรมการพิจารณารับรองใน 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มผ่าตัดแปลงเพศแล้ว กลุ่มที่อยากผ่าตัดแปลงเพศแต่ไม่มีเงิน และกลุ่มที่ไม่สามารถผ่าตัดแปลงเพศได้ด้วยเหตุผลต่างๆ ซึ่งทั้งหมดต้องมีคุณสมบัติ อาทิ มีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ไม่มีคู่สมรส ไม่มีบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ ได้แสดงออกถึงเพศที่แตกต่างจากเพศกำเนิดแก่บุคคลทั่วไปทราบติดต่อกันไม่น้อยกว่า 2 ปี และหากได้รับการพิจารณา ก็จะมีการแก้ไขในเอกสารต่างๆ อาทิ มีสิทธิ หน้าที่ และความรับผิดชอบ เหมือนผู้ที่มีเพศนั้นโดยกำเนิดทุกประการ, มีสิทธิขอเปลี่ยนเพศ ชื่อหรือคำนำหน้าชื่อบุคคลในเอกสารหลักฐานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงมีกองทุนการรับรองเพศ เพื่อให้ทุนแปลงเพศกับกลุ่มที่อยากผ่าตัดแปลงเพศแต่ไม่มีเงิน
ภายในงานเปิดให้แสดงความเห็นอย่างกว้างขวาง แม้ผู้แทนจาก สค.จะกล่าวยอมรับว่าร่างกฎหมายนี้ เป็นเพียงขั้นตอนการศึกษาและรับฟังความเห็น กว่าจะเป็นรูปร่างและนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา คงใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 2 ปี
แต่คนที่ทำงานด้านความเท่าเทียมทางเพศก็แสดงความ “กังวล” ถึงเงื่อนไขต่างๆ อาจไม่สร้างความเปลี่ยนแปลง รวมถึงไปละเมิดสิทธิซ้ำ เนื่องจากให้ความสำคัญถึงการต้องผ่านการผ่าตัดแปลงเพศ ถึงจะได้สิทธิตามกฎหมาย ทั้งที่ความเป็นจริงการผ่าตัดแปลงเพศยังมีผลกระทบต่อร่างกายในระยะยาว ขณะที่บางคนเสนอให้ใช้แนวทางการรับรองเพศของประเทศอาร์เจนตินา ไอร์แลนด์ ที่ให้สิทธิประชาชนเลือกเอง โดยไม่ต้องยื่นคำร้อง มีเงื่อนไข และให้คณะกรรมการพิจารณาอย่างนี้ ทว่าก็มีความกังวลของผู้ชายบางกลุ่ม ที่กลัวจะถูกหลอกให้แต่งงานและไม่มีลูก เพราะไม่สามารถตรวจสอบได้
ด้าน พงศ์ธร จันทร์เลื่อน รองประธานมูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ กล่าวว่า แม้กฎหมาย 2-3 ปีที่ผ่านมาพยายามบรรจุเรื่องเพศหลากหลายเข้าไป แต่กรอบคิดผู้จัดทำก็ยังติดอยู่กับ 2 เพศและลัทธิผู้ชายเป็นใหญ่ บางครั้งคนเขียนอาจเจตนาดีในการเขียน แต่เขียนแล้วกฎหมายจะสอดคล้องกับความจริงสักเท่าไหร่ก็เป็นอีกเรื่อง ฉะนั้น การมีกฎหมายที่จะครอบคลุมพลเมืองส่วนนี้ ก็ต้องเขียนอย่างเข้าใจและรับรองให้ถูกต้อง