พาณิชย์แจงปมจดสิทธิบัตร “ใบกระท่อม” ขัดกฎหมายไทยไม่รับจด

พาณิชย์ ยัน กฎหมายไทยไม่รับจดสิทธิบัติการวิจัยใบกระท่อมในไทย พร้อมปัจจุบันเองก็ยังไม่มีผู้เข้ามาขอจดแต่อย่างไร ส่วนกรณีที่จะนำพันธ์ุพืชไทยไปต่อยอด ต้องแบ่งปันผลประโยชน์ด้วย

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า จากมีกระแสข่าว จะมีนักวิจัยบางประเทศ เช่น ญี่ปุ่น ได้ทำการวิจัย ใบกระท่อม และจะนำไปยื่นจดสิทธิบัตรในสหรัฐฯ ญี่ปุ่น รวมทั้งในไทย นั้น และมีหลายฝ่ายให้ความเป็นห่วงและกังวล จะมีการรับจดในไทย รับว่าเรื่องนี้ คงไม่เกิดขึ้นเนื่องจาก พ.ร.บ. สิทธิบัตร พ.ศ. 2522 และที่แก้ไขเพิ่มเติมของไทย ไม่อนุญาตให้มีการจดสิทธิบัตรพืช หรือสารสกัดจากพืช อีกทั้ง กฎหมายสิทธิบัตรไทยรับจดเฉพาะกรณีกระบวนการ หรือวิธีการที่ใช้ในการสกัดที่มีการพัฒนาขึ้นใหม่หรือต่อยอดไปจากวิธีการเดิมทั่วๆ ไปเท่านั้น ไม่รับจดสิทธิบัตรสารสกัดใหม่ที่เกิดขึ้น

อย่างไรก็ดี โดยกฎหมายสิทธิบัตรของไทยจะไม่อนุญาตให้บุคคลใดถือสิทธิแต่เพียงผู้เดียว (exclusive rights) กับสิ่งที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่น กระท่อมเป็นพืชพื้นเมืองทั่วไปที่มีอยู่ตามธรรมชาติ จึงไม่ต้องกังวลว่าไทยจะรับจดสิทธิบัตร ให้นักวิจัย ทั้งนักวิจัยไทยและต่างชาติ และจากการตรวจสอบของ กรมทรัพย์สินทางปัญญาไม่พบกรณีนักวิจัยญี่ปุ่น ยื่นคำขอจดสิทธิบัตรสารสกัดใบกระท่อมในไทย

สำหรับข้อกังวล กรณีที่จะมีต่างชาติจะเอาพืชไทยไปพัฒนาต่อยอดโดยไม่ขออนุญาตก่อน และไม่แบ่งปันผลประโยชน์ นั้น ไทยมีกฎหมายคุ้มครองพันธุ์พืช ภายใต้การกำกับดูแลของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ซึ่งกำหนดว่าใครจะเอาพันธุ์พืชไทยไปใช้ต้องขออนุญาตก่อน และต้องเจรจาแบ่งปันผลประโยชน์ ซึ่งสอดรับกับอนุสัญญาว่าด้วยความหลากหลายทางชีวภาพ (Convention on Biodiversity หรือ CBD) ซึ่งไทยเป็นสมาชิก และหากบริษัทยาข้ามชาติซึ่งเป็นประเทศสมาชิก CBD และให้สัตยาบันอนุสัญญานี้แล้ว เช่น อังกฤษ สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนี และญี่ปุ่น เป็นต้น จะเอาใบกระท่อมซึ่งเป็นพืชพื้นเมืองของไทยไปพัฒนาต่อยอดก็ต้องขออนุญาตและเมื่อได้รับอนุญาตแล้วต้องแบ่งปันผลประโยชน์ให้ไทย ในฐานะเป็นสมาชิก CBD เช่นกัน ทั้งนี้อาจต้องมีการพิสูจน์ว่ากรณีที่นำไปใช้ในเชิงพาณิชย์เป็นพืชพื้นเมืองของไทยเท่านั้นหรือไม่

อย่างไรก็ดี บริษัทของประเทศเหล่านี้จะไม่สามารถเข้ามาตั้งฐานการผลิตยาที่สกัดจากใบกระท่อมในไทย หรือส่งออกมาไทยได้ หากไม่ได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เพราะกระท่อมซึ่งใบมีสารเสพติด ให้โทษถือว่าห้ามผลิต จำหน่ายในประเทศ และห้ามนำเข้าตั้งแต่ต้น

อย่างไรก็ดี เพื่อเตรียมการรองรับการเจรจาจัดทำความตกลงระหว่างประเทศขององค์การทรัพย์สินทางปัญญาโลก (WIPO) ด้านการคุ้มครองทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่น และการแสดงออกทางวัฒนธรรมดั่งเดิม ซึ่งไทยร่วมกับประเทศกำลังพัฒนา อยู่ระหว่างผลักดันให้มีการกำหนดเงื่อนไขการบอกแหล่งที่มา ขออนุญาตก่อนใช้ และแบ่งปันผลประโยชน์กับประเทศหรือชุมชนเจ้าของทรัพยากรพันธุกรรม กรณีการนำสมุนไพร ทรัพยากรพันธุกรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นไปใช้ก่อนยื่นขอรับจดทะเบียนสิทธิบัตร

อีกทั้งกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้จัดหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของไทย เช่น  กรมวิชาการเกษตร กรมการแพทย์แผนไทย สำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ เป็นต้น ไปเมื่อกลางเดือนสิงหาคม 2559 และหน่วยงานของไทยอยู่ระหว่างจัดทำฐานข้อมูลพืชสมุนไพร ทรัพยากรพันธุกรรม ภูมิปัญญาท้องถิ่นของไทย เพื่อให้เจ้าหน้าที่ภาครัฐ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียสามารถใช้เป็นแหล่งข้อมูลเพื่อติดตาม ตรวจสอบ และบังคับใช้ ตามเงื่อนไขการขออนุญาตก่อนใช้ และแบ่งปันผลประโยชน์ให้ประเทศ/ชุมชน ภายใต้ระบบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

นอกจากนี้ กระท่อมอยู่ในบัญชีสารเสพติดให้โทษ ประเภทที่ 5 ตาม พ.ร.บ. ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ของกระทรวงสาธารณสุข ห้ามผู้ใดผลิต นำเข้า จำหน่าย ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง หากจะดำเนินการต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีก่อน ส่วนที่มีผู้เสนอว่าสมควรถอดใบกระท่อมออกจากบัญชียาเสพติด เพื่อให้สามารถผลิตขาย  ในไทยและส่งออกสร้างรายได้นั้น คงต้องมีการแก้ไขกฎหมายซึ่งต้องทำอย่างรอบคอบ พิจารณาเหตุผลประกอบ เช่น ประเด็นที่ว่าใบกระท่อมเป็นสมุนไพร มีฤทธิ์บวกมากกว่าลบ มีหลักฐานทางวิทยาศาสตร์สนับสนุนน่าเชื่อถือเพียงใด