ผู้เขียน | ยศพิชา คชาชีวะ |
---|---|
เผยแพร่ |
ใจเย็นก่อน เพื่อนลงหุ้น เปิดร้านอาหาร จะแตกหักกัน เพราะ “พริกขี้หนู”
“ไม่ไหวแล้วพี่ ผมทำกับหุ้นส่วนไม่ได้แล้ว คิดไม่ตรงกันสักเรื่อง” เพื่อนรุ่นน้องคนหนึ่งทิ้งตัวนั่งบนโซฟาที่โรงเรียนแม่บ้านทันสมัย แล้วถอนหายใจใหญ่ หน้าตาเคร่งเครียด เขาหุ้นเปิดร้านอาหารกับเพื่อนแบบ 50:50 ทำมาได้ 5-6 เดือน
“คิดดูซิพี่ ขนาดเรื่องพริกขี้หนู หุ้นส่วนเขาก็มาจ้ำจี้พูดอยู่นั่น ให้ใช้พริกขี้หนูสวนเท่านั้น อย่าไปเอาพริกขี้หนูเม็ดใหญ่มาใช้ มันไม่หอม ผมก็ไปเที่ยวหามา 2-3 ตลาด แถวร้าน แต่ของมันมีไม่สม่ำเสมอ พ่อค้าก็เลยบอกให้เอาพริกขี้หนูอันนี้ซิ หอมเหมือนกัน ผมก็เอามา หุ้นส่วนเขาก็ว่าผม ทำไมแค่นี้หาซื้อไม่ได้”
เจ้ารุ่นน้องถอนหายใจอีกเฮือกหนึ่ง ดื่มน้ำโฮกใหญ่
“ยังไม่หมดนะพี่ เขาบอกให้ผมทำ LINE MAN ผมก็ทำ ผมก็สมัคร แต่มันไปติดเอกสารบริษัท มันเลยช้า เขาก็ว่าผมอีก ทำไมแค่สมัคร LINE MAN แค่นี้ตั้ง 2 เดือนยังไม่เสร็จ ผมทำนะพี่ ไม่ใช่ไม่ทำ” ลมหายใจเขาหายไปอีกหนึ่งหอบ
“แล้วยังเรื่องต้นทุนอีก เดือนที่แล้วผมขายได้ 2 แสน ต้นทุนอาหาร 7 หมื่น เขาก็บอกมันเยอะไป ซื้ออะไรนักหนา เขาก็ไม่เข้าใจ ก็มันมีวัตถุดิบที่ซื้อสต๊อก ต้นทุนมันเลยสูง จะให้ผมเปลี่ยนเจ้าซื้อวัตถุดิบทันที บอกผักเจ้านี้ถูกกว่า แต่มันเปลี่ยนไม่ได้ทันที ไหนจะรอบส่ง ของไม่ตรงสเปก ราคา อีกเยอะแยะ ของเจ้านี้แพงกว่าอีกเจ้าก็จริง แต่คุณภาพมันโอเค เขาก็บอก ไม่ลองแล้วจะรู้ได้ไง”
ยังมีอีกหลายเรื่องที่เจ้าน้องชายคนนี้ระบายให้ผมฟัง พอหมดเรื่องระบาย ผมเลยถามเขาถึงเรื่องการบริหารงาน การตัดสินใจต่างๆ การปฏิบัติงาน ได้ความกระจ่างและเห็นปัญหาขึ้นมาทันที
คือ อย่างนี้ครับ 2 คนนี้เขาลงทุนกันคนละ 50:50 โดยมีข้อตกลงกันตั้งแต่ตอนเปิดร้านว่า เจ้ารุ่นน้องคนนี้เป็นคนบริหารงานและปฏิบัติงานเพราะเพิ่งลาออกจากงานเก่ามาเพื่อตั้งใจทำร้านอาหารนี้ ส่วนเขาขอดูห่างๆ เพราะไม่มีเวลามาลงเต็มตัว 2 คนไม่ค่อยได้คุยถกปัญหาร้านกันสักเท่าไหร่ เนื่องจากอีกคนไม่ค่อยว่างนั่นเองปล่อยให้เพื่อนทำไป
ยิ่งมา 2 เดือนหลัง เจ้ารุ่นน้องขอหุ้นส่วนกลับไปทำงานบริษัท จันทร์ถึงศุกร์ เนื่องจากเงินไม่พอใช้ ร้านยังได้กำไรไม่มากพอแบ่ง บางเดือนก็ขาดทุน ปัญหาการปฏิบัติงานเลยทวีคูณ งานที่ร้านปล่อยให้พนักงานทำกันไปตามตำแหน่งงาน เขามีเวลามาดูแค่เสาร์-อาทิตย์ ยิ่งสร้างความไม่พอใจให้หุ้นส่วนมากขึ้น เพราะผิดข้อตกลงตั้งแต่แรก งานเลยยิ่งช้าใหญ่ ความขัดใจสะสมมากขึ้นเรื่อยๆ
แนวปฏิบัติงานของเพื่อนรุ่นน้องก็เป็นคนละแบบกับหุ้นส่วน คือเขาเป็นคนละเอียด คิดอะไรต้องเป็นขั้นตอน คิดจาก 1 ไป 10 มองภาพผลรวม ไม่มองรายละเอียดเล็กๆ ระหว่างทางที่ทำจะเจอเรื่องอะไรมั่ง มีอุปสรรคอะไรมั่ง งานต่างๆ เลยมักจะช้า กว่าจะไปถึงปลายทาง ขณะที่หุ้นส่วนของเขาเป็นคนคิดเร็ว ทำเร็ว ไม่ชอบขั้นตอน นึกอยากทำอะไรก็ทำ ใจร้อน
ผมเลยเห็นปัญหาของ 2 คนนี้อยู่ 2 เรื่องใหญ่
ภาระทั้งเรื่องการบริหารงาน การปฏิบัติงานตกอยู่กับเพื่อนรุ่นน้องคนเดียว งานจึงช้า เก็บรายละเอียดได้น้อย ไม่เป็นไปตามเป้าหมาย และตอนนี้เขาไม่ค่อยมีเวลามาปฏิบัติงาน คุมงานได้เต็มตัว
แนวความคิดกับแนวปฏิบัติงานของทั้งคู่อยู่กันคนละขั้ว
เพื่อนคนนี้บอกผมว่า เห็นถ้าจะต้องเลิกร้าน เลิกหุ้นส่วน ทั้งๆ ที่ทำมาแค่ไม่กี่เดือน ผลประกอบการจริงๆ ยังพอเห็นทางกำไร แต่ทำแล้วมันกลุ้มใจ ผมเลยบอกเขาว่า “ใจเย็นๆ ยังมีหนทางแก้ไข” ว่าแล้วผมให้เขานัดหุ้นส่วนอีกคนมาคุยพร้อมกัน มีผมเป็นคนกลาง
พอถึงเวลาเจอหน้ากัน ทั้งคู่ก็เย็นลงแล้ว และระลึกถึงความเป็นเพื่อนตั้งแต่เรียนหนังสือ ลึกๆ ทั้งคู่ยังเสียดายสิ่งที่ทำมาด้วยกัน จะเลิกซะกลางคันมันดูเสียเหลี่ยมกำนัน ขายขี้หน้าคนอื่นเขาอยู่เอาการ
เรานั่งคุยกัน 3 คน ผมก็ชี้ให้เห็นว่าปัญหาที่เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอะไร
ทางแก้ง่ายนิดเดียว “ต้องคุยกันอย่างเปิดอก” ติดขัดกันเรื่องอะไรบ้าง บอกความจริงแก่กัน อย่าปล่อยให้ผ่านเลย
ปัญหาเรื่องแนวความคิดกับแนวปฏิบัติงานที่ต่างกันต้องคุยกันเป็นเรื่องๆ และสิ่งสำคัญคือ “การประนีประนอม” เอนตัวมาคนละครึ่งทาง แทนที่จะต้องทำเต็มสิบเหลือแค่ 6 อีกคนทำ 1 แล้วไป 10 เลย ก็ขอให้ก้าวแค่ 5 อย่าเอาความคิดตนเองเป็นศูนย์กลาง มองเหรียญทั้ง 2 ด้าน
ส่วนเรื่องการปฏิบัติที่ทั้งคู่ไม่ค่อยมีเวลาเข้าร้านแล้ว จำเป็นต้องสร้างทีมงานที่เข้มแข็ง อาจจะเป็นพนักงานที่มีอยู่แล้ว หรือถ้าจำเป็นต้องจ้างเพิ่มก็ต้องจ้าง ให้มาเป็นคนปฏิบัติแทน ซึ่งสามารถแยกกระจายความรับผิดชอบไปให้พนักงานได้หลายคน ไม่จำเป็นต้องรวมศูนย์คนเดียวอย่างที่ผ่านมา
ทั้ง 2 คนถอยจากการปฏิบัติเต็มร้อยมาเป็นบอร์ดบริหาร พูดคุยให้บ่อยขึ้น หาทางแก้ปัญหา แนวทางการทำงานอาจจะไม่ถูกใจทั้งคู่บ้าง วิธีการเปลี่ยน แต่ได้เป้าหมายเดียวกัน
ทั้ง 2 คนเริ่มพูดคุย มองแนวทางต่างๆ อย่างประนีประนอมมากขึ้น ยกตัวอย่างเรื่อง พริกขี้หนู แถวร้านหาไม่ได้ แต่หุ้นส่วนมีแม่ครัวที่หาได้ประจำ เดี๋ยวให้จัดส่งมาให้ทุกอาทิตย์ ปัญหามันก็จบได้สั้นๆ
เรื่อง “พริกขี้หนู” นี้เป็นตัวอย่างอย่างดีของธุรกิจที่มีหุ้นส่วน ไม่ว่าจะเป็นพี่น้อง เพื่อนสนิท มักจะเกิดข้อขัดแย้งจนนำไปสู่ความแตกหักได้เสมอ การเป็นหุ้นส่วนไม่ว่าจะกี่หุ้นจึงจำเป็นต้องมีการพูดคุยกันอย่างจริงใจ ไม่ปิดบัง ไม่เห็นด้วยเพราะอะไร มีเหตุผลใดที่ต้องทำหรือไม่ทำ ตรงไหนที่สามารถจูนให้ใกล้เคียงกันได้มากที่สุด หนทางที่ดีที่สุดคืออะไร เรื่องไหนผ่อนปรนกันได้บ้าง
ข้อสำคัญ “อย่าแข็งมา แข็งไป” หัวแตกด้วยกันทั้งคู่ครับ