เอาจริง! ธุรกิจอาหารสะเทือน หลัง อย.ชง”ลดเกลือ”ในอาหาร เหตุคนไทยรับเกลือเกิน2-3เท่า/วัน

กระแส “ภาษีน้ำตาล” ยังไม่จางจากอุตสาหกรรมเครื่องดื่ม ล่าสุดขยายไปถึง “อุตสาหกรรมอาหาร” ที่ต้องจับตามองความเคลื่อนไหวของแต่ละสินค้าต่อยุทธศาสตร์ “ลด” ปริมาณการบริโภคเกลือ/โซเดียมลงเฉลี่ย 30% ในปี 2568

ล่าสุด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข ผนึกกำลังเครือข่ายลดบริโภคเค็มและองค์การอนามัยโลก ได้จัดงานประชุมพิจารณามาตรการควบคุมโซเดียมในอาหาร พร้อมเชิญผู้ประกอบการเอกชนที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือ อาทิ ตัวแทนจากผลิตภัณฑ์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป กลุ่มเครื่องปรุงรส อาทิ น้ำปลา เป็นต้น

ถือเป็นการเดินหน้ายุทธศาสตร์อย่างจริงจัง หลังจากสมัชชาสุขภาพแห่งชาติได้ผลักดันเรื่องนี้มาเป็นปี ซึ่งคนไทยรับเกลือ (โซเดียม) จากอาหารที่บริโภคสูงถึง 4,351.7 มิลลิกรัมต่อวัน หรือมากกว่าปริมาณที่ร่างกายต้องการ 2-3 เท่า จากไม่ควรเกิน 2,000 มก.

ซึ่งมีตัวเลขปี 2555-2558 พบว่า แหล่งโซเดียมที่ได้รับจากผลิตภัณฑ์อาหารสำเร็จรูปมากที่สุด คือ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป อาหารแช่เย็นแช่แข็ง โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป ขนมขบเคี้ยวกลุ่มปลาเส้น มันฝรั่งทอด และสาหร่าย โดยข้อมูลจากสำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติเกี่ยวกับการบริโภคอาหารของไทย (2556-2559) ในประชากร 8,478 คนพบว่าคนไทยอายุ 3 ปีขึ้นไปบริโภคบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป 57.8% โจ๊กกึ่งสำเร็จรูป 7.3% ขนมขบเคี้ยวจากมันฝรั่ง 44.5% สาหร่ายปรุงรส 24.4% ปลาเส้น 22.7%

การบริโภคเกลือมากเกินเกิดความเสี่ยงโรคต่าง ๆ อาทิ ความดันโลหิตสูง โรคไต ซึ่งค่าใช้จ่ายในการล้างไตเฉลี่ย 240,000 บาทต่อคนต่อปี ไม่รวมค่ายาและอื่น ๆ โดย สปสช.ต้องใช้งบฯเพิ่มขึ้นจากปี 2558 อยู่ที่ 5,247 ล้านบาทเป็น 6,318 ล้านบาทในปี 2559 ซึ่งถ้ารวมงบฯในสิทธิ์อื่น ๆ อาทิ ประกันสังคมและสวัสดิการข้าราชการ ทำให้รัฐต้องใช้งบฯสูงกว่า 1 หมื่นล้านบาทต่อปี

โดยยุทธศาสตร์ “ลดบริโภคเกลือและโซเดียม” ใน 8 ปี (2559-2568) มุ่งสร้างและขยายเครือข่ายความร่วมมือ ควบคู่กับให้ความรู้และสร้างวัฒนธรรมการบริโภคอาหารโซเดียมต่ำ เพิ่มช่องทางเข้าถึงอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีโซเดียมต่ำ ผลักดันภาคอุตสาหกรรมอาหารและร้านอาหารให้ผลิตอาหารลดปริมาณโซเดียม

ดร.ทิพย์วรรณ ปริญญาศิริ ผู้อำนวยการสำนักอาหาร สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การประชุมครั้งแรกเพื่อรับฟังความเห็นจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งขั้นต่อไปจะแก้ปัญหาทีละกลุ่มสินค้า โดยจะเรียกผู้ประกอบการรายกลุ่มผลิตภัณฑ์มาหาแนวทางร่วมกัน โดยเริ่มจากกลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป

แนวทางจับมือกันปักธงยุทธศาสตร์ Salzs ผลักดันมาตรการลดโซเดียมในกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารมีหลายแบบ อาทิ ปรับสูตรอาหาร, ติดฉลากโภชนาการ, ติดสัญลักษณ์ในผลิตภัณฑ์อาหารเกลือสูง อาทิ อาหารกึ่งสำเร็จรูปกลุ่มบะหมี่และโจ๊ก อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง ผงหรือก้อนปรุงรส, เก็บภาษีเกลือโซเดียม เป็นต้น

ก่อนหน้านี้ได้จัดทำฉลากโภชนาการแบบจีดีเอ (Guideline Daily Amouts) หรือ “ฉลากหวาน มัน เค็ม” แสดงคุณค่าทางโภชนาการ, จัดทำสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” ติดบนแพ็กเกจจิ้งสินค้า อาทิ ไวไวหอยลายผัดฉ่า และมาม่าขี้เมาแห้ง เป็นสูตรที่มีโซเดียมน้อยกว่ามาตรฐานกำหนด ล่าสุดได้ขยายระยะเวลาขอขึ้นทะเบียนการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการทางเลือกสุขภาพฟรีถึง 30 มิ.ย.นี้ จากปกติเรียกเก็บค่าธรรมเนียม 10,000 บาท/ ผลิตภัณฑ์/3 ปี

ผศ.นพ.สุรศักดิ์ กันตชูเวสศิริ ประธานเครือข่ายลดบริโภคเค็มเสริมว่า เครือข่ายได้รณรงค์เรื่องนี้มา 3 ปีพบว่าเริ่มบริโภคเกลือลดลงบ้างแล้ว เบื้องต้นขอความร่วมมือภาคอุตสาหกรรมปรับสูตรลดปริมาณเกลือ โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเค็มสูง อาทิ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป โจ๊ก ผงปรุงรส เครื่องปรุงรสชนิดก้อน น้ำปลาซีอิ๊ว อาหารแช่เย็นและแช่แข็ง อาหารแปรรูป ซึ่งปกติการปรับลดลงทีละน้อยจะไม่ทำให้ผู้บริโภครู้สึกว่ารสชาติเปลี่ยนไป

“ตอนนี้ทั่วโลกตื่นตัว มี 50 ประเทศเริ่มปรับสูตร ส่วนใหญ่ขอความร่วมมือ มีบางประเทศออกกฎหมาย”

สเต็ปถัดไปจะออกกฎหมายควบคุมปริมาณเกลือในอาหารแต่ละชนิด ติดป้ายเตือนหน้าแพ็กเกจจิ้งในอาหารที่มีเกลือสูง

มาตรการสุดท้าย คือ “ภาษีเกลือ”

“ถ้าผู้ประกอบการตกลงกันไม่ได้ภายใน 3-6 เดือนก็จะเริ่มมาตรการ 2 ส่วนภาษีน่าจะใช้เวลา 2-3 ปี”

สำหรับผู้ประกอบการต่างยินดีให้ความร่วมมือ แต่ยังติดใจว่าหากปรับสูตรจะทำให้มีผลกับ “ยอดขาย”

ตัวแทนจากบริษัท วันไทยอุตสาหกรรมการอาหาร จำกัด ผู้ผลิตยำยำ มองว่าถ้าผู้บริโภคยังติดรสชาติอาหาร โดยไม่ได้ปรับพฤติกรรมก็จะส่งผลต่อยอดขายของผู้ประกอบการ

“ถ้าปรับสูตรใช้วัตถุดิบอื่นทดแทนเกลือที่เป็นวัตถุดิบราคาถูก รัฐควรจะช่วยให้สิ่งทดแทนมีราคาถูกลง หรือเปิดโอกาสให้สินค้าปรับราคาเพิ่มขึ้น”

ตัวแทนบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปไวไวและมาม่าเสนอว่า หากผู้บริโภคไม่ยอมรับสินค้าที่มีการปรับสูตรไป ทำให้สินค้าขายไม่ได้ ดังนั้นภาครัฐต้องช่วยประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนตระหนักถึงอันตรายของการทานเกลือมากเกินไป

หลายประเทศที่มีมาตรการออกมา อาทิ อังกฤษเริ่มมาตั้งแต่ปี 2546 ลดบริโภคเกลือได้ 0.9 กรัม/วัน แคนาดาเริ่มปี 2557 ออกกฎหมายให้ร้านอาหารแสดงปริมาณโซเดียมและพลังงาน

โดย “การปรับสูตรอาหาร” เป็นกลยุทธ์สำคัญที่ได้ผลและเป็นที่ยอมรับ ควบคู่ให้ความรู้ผู้บริโภค

ยังมีธุรกิจ “ภัตตาคาร-ร้านอาหาร” อยู่ในกลุ่มที่ต้องช่วยกันลดปริมาณการใช้เกลือ ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่าจะมีความเคลื่อนไหวอย่างไร

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์