ผู้เขียน | พารนี ปัทมานันท์ /เรื่อง-ภาพ |
---|---|
เผยแพร่ |
เชอรี่ เข็มอัปสร กับบทไม่ง่าย “ผู้ประกอบการที่มองปัญหาให้เป็นโอกาส”
เป็นนางเอกอยู่ในความนิยมชมชอบมานาน ปัจจุบันผันตัวเป็น “นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม” และผู้ประกอบการเต็มตัว กับจุดยืนชัดเจน “ขอเป็นส่วนเล็กๆ ทำให้โลกดีขึ้น”
“แรงบันดาลใจ ผันตัวเองมาเอาจริงเอาจังด้านสิ่งแวดล้อม น่าจะเริ่มต้นตอนปี 2559 ที่มีปัญหาภัยแล้งเกิดขึ้นทั่วประเทศ แล้วก็ย้อนกลับไปเมื่อปี 2554 มีน้ำท่วมหนักมากเกิดขึ้นหลายพื้นที่ 2 เหตุการณ์นี้ทำให้รู้สึกกำลังเกิดอะไรขึ้นกับโลกของเรา ประเทศของเรา แล้วในฐานะคนตัวเล็กๆ คนหนึ่ง จะสามารถแก้ปัญหาสิ่งเหล่านี้ได้ยังไง”เชอรี่-เข็มอัปสร สิริสุขะ นางเอกสาวคนดัง เริ่มต้นบรรยายอย่างนั้น
ก่อนเผยบนเวทีเสวนาในงานมหกรรมรวพลัง SME ไทย จัดโดยกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เมื่อเร็วๆ นี้ ต่อว่า ราวปี 2559 ได้จัดตั้งโครงการ Little Forest เป็นโครงการด้านสิ่งแวดล้อมโครงการแรกของตัวเอง ไม่หวังผลกำไร ทำต่อเนื่อง 3 ปี ปลูกต้นไม้ 2 หมื่นต้น ที่ อ.วังชิ้น จ.แพร่ มีพันธมิตรจำนวนหนึ่งเข้ามาร่วมกันดำเนินโครงการ ซึ่งได้ความร่วมมือกับคนในพื้นที่เป็นอย่างดี

“การจะทำอะไรสักอย่าง ต้องมีการสื่อสารเพื่อความเข้าใจและสิ่งที่ต้องการร่วมกัน ระหว่างนั้นจึงพูดคุยกับคนในชุมชน จนทราบเขาทำอาชีพสวนส้ม เลยหาทางช่วยเพิ่มผลิตผล แต่เมื่อทำโครงการสิ่งแวดล้อมไม่หวังผลกำไรมาได้สักพัก เห็นถึงความไม่ยั่งยืน เลยคิดทำยังไงให้ยั่งยืน ประกอบกับเมื่อ 4 ปีที่แล้ว ช่วงโควิด หลายคนมีความยากลำบากในการขายผลิตผล เลยนำ 2 เรื่องมารวมกัน คือได้ช่วยเกษตรกร และแก้ปัญหาป่าไม้จากการทำการเกษตรด้วย” เชอรี่ เข็มอัปสร บอกอย่างนั้น
ก่อนเล่าต่อ พอนำ 2 เรื่องมารวมกัน จึงจัดตั้งเป็น บริษัท สิริอัปสร จำกัด ทำสินค้าแบรนด์ สิริไท มาจากชื่อต้นของนามสกุล และ ไท คือความเป็นอิสระ ที่อยากให้เกษตรกร มีความอิสระในการตั้งราคาขายได้ และมีความภาคภูมิใจในการเป็นชาวนา
“ปี 2559 เราเริ่มที่ผลิตผลข้าว เพราะมองว่าเกษตรกรไทยส่วนใหญ่ปลูกข้าว และข้าว เป็นเหมือนสัญลักษณ์อย่างหนึ่งของไทย ต่อมาเปิดบริษัททำแพลตฟอร์มด้านสิ่งแวดล้อม สื่อสารให้กับกลุ่มคนที่กว้างขึ้น เพื่อสามารถสร้าง Impact ได้ มากยิ่งขึ้น ล่าสุดเปิดบริษัทให้คำปรึกษาด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และการปกครองอย่างมีธรรมาภิบาล หรือ ESG เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” เชอรี่ เข็มอัปสร เผยถึงธุรกิจที่ดูแล
ก่อนบอกต่อ ในโลกปัจจุบัน การใส่ ESG เข้าไปในองค์กร ไม่ว่าจะขนาดเล็กหรือขนาดใหญ่นับว่ามีความจำเป็นมาก เพราะการทำอะไรสักอย่าง ไม่มีใครสามารถเติบโตคนเดียว แต่ต้องไปพร้อมๆ กันทั้งสิ่งแวดล้อมและสังคม ซึ่ง สิริไท แบรนด์ของเธอนั้น ก็นำเรื่อง ESG มาจับ

ปัจจุบัน แบรนด์ สิริไท มีผลิตภัณฑ์น่าสนใจหลากหลาย อาทิ ข้าวอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์จากชาวนาที่ทำเกษตรแบบฟื้นฟูผืนป่า สบู่จากน้ำมันรำข้าวออร์แกนิก เทียนเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ไอศกรีมวีแกน แปรรูปจากข้าว และเครื่องดื่มคอมบูฉะ ทำจากข้าวหอมมะลิและข้าวก่ำน้อย เป็นต้น
“ช่วงรับข้าวมาขาย ตอนนั้นเราสร้างแบรนด์ สิริไท คือนอกจากเป็นข้าวอินทรีย์ 100 เปอร์เซ็นต์ เราต้องปรับแพ็กเกจจิ้ง เน้นเป็นขวดพลาสติก เพราะมองว่าระบบของประเทศไทย การบรรจุในขวดพลาสติก มันสามารถนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่ายกว่า ซึ่งเราคิดทุกรายละเอียด เช่น เป็นขวดพลาสติกใส ที่ฉลากกับขวด ไม่ติดสติกเกอร์ลงไป ทำให้เวลาคนที่ไปใช้งานสามารถทิ้งไป และนำกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้ง่าย ฉลากทำจากกระดาษรีไซเคิล 100 เปอร์เซ็นต์”
“พอทำแบบนี้ ด้านหนึ่งเรารับซื้อข้าวมาในราคาที่สูงจากชุมชน แพ็กเกจจิ้ง ก็ราคาสูง ทำให้การ ไปต่อ ในฐานะผู้ประกอบการค่อนข้างยาก แต่เรามีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนชุมชนต่อไป เลยเป็นที่มาของการแปรรูป” นางเอกสาว เผยถึงที่มาของการแตกไลน์ผลิตภัณฑ์

ก่อนเล่าต่อ ในช่วงต้นของการทำธุรกิจ เป็นการขายออนไลน์ ซึ่งการขายไอศกรีมออนไลน์นั้น ไม่สะดวกสบายนัก จึงต้องขยายช่องทางการขายไปทางออฟไลน์ด้วย
“ตอน Explore ผลิตภัณฑ์ มีทั้งลองผิดลองถูก ก่อนหน้านี้เคยทำครัวซองต์ขาย แต่ไม่เวิร์กในแง่ของการส่ง การควบคุม การผลิต อายุจัดเก็บ แม้จะอร่อยมากก็ต้องหยุดไป และยังไม่รู้จะไปต่อยังไง ที่พูดมานี้เพราะอยากเป็นกำลังใจให้กับเอสเอ็มอีสามารถลองผิด-ลองถูกได้ ไม่จำเป็นต้องมีผลิตภัณฑ์ตัวนี้ไปตลอดกาล ถ้าลองแล้วไม่เวิร์กต้องเปลี่ยนไปตามสิ่งที่ควรจะเป็น” เชอรี่ เข็มอัปสร บอกอย่างนั้น
ก่อนเผยตรงๆ
“ทำธุรกิจช่วง 4 ปีแรก ไม่มีอะไรง่ายเลยค่ะ เพราะต้องเจอกับช่วงโควิดด้วย มีหลายบริษัทขนาดเล็กต้องปิดตัวลง ซึ่งเข้าใจมากๆ เลยว่าเกิดจากอะไรบ้าง ในแง่ของเงินทุน คนทำงาน หรือแม้แต่อุปสรรคปัญหาที่ต้องเจอ จึงอยากจะบอกว่าเวลาเจอปัญหาต้องแกะออกมาแล้วแก้เป็นส่วนๆ ไป อย่านำทุกอย่างมารวมกันแล้วมันใหญ่ จะทำให้หมดกำลังใจ แล้วเลิกทำไป”

“สมมติว่าสามารถแก้ปัญหาให้จบได้ 1 อย่าง พอแก้ได้จะมีกำลังใจขึ้นมา มีประกายและความหวังเกิดขึ้น แล้วทำให้สามารถทำต่อไปได้ ซึ่งโอกาสทำธุรกิจสำหรับเอสเอ็มอีนั้น ต้องบอกว่าองค์กรใหญ่ๆ เขากำลังมองหาแบรนด์ที่จะทำความร่วมมือด้วยกัน แต่แบรนด์นั้นๆ ต้องมีจุดยืนชัดเจน ต้องมีแง่มุมใดแง่มุมหนึ่งที่จะเข้าไปแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมหรือสังคมก็ตาม”
“ทุกอย่างที่พูดมา คืออยากจะบอก ถ้าเรามองปัญหาให้เป็นโอกาส เราก็จะมีโอกาส การที่เชอรี่ อยากแก้ปัญหาภัยแล้ง ณ ปี 2559 นั้น แล้วก็ทำต่อเรื่อยมา จนมาเป็นโอกาสได้ทำธุรกิจเพื่อสังคม ซึ่งถ้าไม่ได้มองปัญหามาก่อน ก็อาจมาไม่ถึงจุดนี้ จุดที่คิดว่าจะแข็งแกร่งขึ้นเรื่อยๆ นับจากนี้” นางเอกสาวคนดัง ทิ้งท้ายอย่างนั้น