สมรภูมิฟาสต์แฟชั่นเดือด H&M-ZARA สปีดสาขาหนีคู่แข่ง

ด้วยโมเดลธุรกิจที่รวดเร็วและยืดหยุ่นกว่าแบรนด์แฟชั่นเดิม ๆ ทั้งการนำสินค้าซีซั่นใหม่มาวางขายเพียงไม่กี่วันหลังงานแฟชั่นโชว์และการบริหารซัพพลายเชนที่ช่วยสร้างความได้เปรียบด้านราคาทำให้แบรนด์ฟาสต์แฟชั่นกลายเป็นกลุ่มที่มาแรงในวงการแฟชั่น โดยเฉพาะ 2 แบรนด์ใหญ่จากภาคพื้นยุโรปที่แข่งขันกันอย่างดุเดือดอย่าง “ซาร่า” ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติสเปนของบริษัทอินดิเท็กซ์ (Inditex) ซึ่งครองอันดับ 1 อยู่ และ “เฮชแอนด์เอ็ม” คู่แข่งจากสวีเดน ที่ไล่มาเป็นอันดับ 2

โดยปีนี้ทั้ง 2 แบรนด์ต่างประกาศแผนธุรกิจที่ใกล้เคียงกัน ทั้งเพื่อแข่งขันกันเองและเร่งเครื่องทิ้งห่างผู้เล่นรายอื่น ๆ อย่าง ยูนิโคล

สำนักข่าว “นิกเคอิ” รายงานว่า “อินดิเท็กซ์” และ “เฮชแอนด์เอ็ม” ได้ประกาศแผนธุรกิจสำหรับปี 2560 นี้ ซึ่งไปในทิศทางเดียวกัน โดยเฉพาะการเพิ่มความหลากหลายของสินค้าและราคาด้วยการผลักดันซับแบรนด์เพื่อรับดีมานด์ลูกค้าทุกระดับกำลังซื้อโดย“อินดิเท็กซ์” จะเดินหน้าผลักดันร้านซับแบรนด์อย่าง “เบิร์ชก้า” (Bershka) และ “พูลแอนด์แบร์” (Pull&Bear) รวมถึง “ซาร่าโฮม” ร้านสินค้าตกแต่งบ้าน พร้อมเป้าขยายสาขาทุกแบรนด์รวม 280 สาขาเท่ากับปีที่แล้ว เช่นเดียวกับ “เฮชแอนด์เอ็ม” ที่จะโฟกัสขยายสาขาร้านซับแบรนด์ “คอส” (COS) และ “มอนคิ” (Monki) ทั้งในตลาดเดิมและตลาดใหม่ซึ่งจะรุกเข้าไปในปีนี้ อาทิ เวียดนาม และนิวซีแลนด์ โดยตั้งเป้าเปิดสาขาใหม่ทั้งหมด 430 สาขา

นอกจากนี้ ทั้ง 2 แบรนด์ยังตั้งเป้าขยายระบบอีคอมเมิร์ซให้ครอบคลุมมากขึ้น เพื่อให้รับกับไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคยุคปัจจุบัน โดยปีนี้ “อินดิเท็กซ์” จะเพิ่มช่องทางอีคอมเมิร์ซในไทย และอินเดีย เป็นประเทศที่ 44 และ 45 ต่อจากมาเลเซีย และสิงคโปร์ซึ่งเปิดเมื่อต้นปี ส่วน “เฮชแอนด์เอ็ม” จะเพิ่มอีก 6 ประเทศ จากเดิมที่ครอบคลุม 35 ประเทศ

ทั้งนี้ “พาโบล อิสลา” ซีอีโอของอินดิเท็กซ์ อธิบายว่า กลยุทธ์มุ่งเน้นซับแบรนด์และอีคอมเมิร์ซ รวมถึงการรุกตลาดใหม่ ๆ จะช่วยสร้างการเติบโตได้ต่อเนื่องและรวดเร็ว เห็นได้จากปีที่แล้วซึ่งเปิดตลาดใหม่ใน 5 ประเทศ อาทิ เวียดนาม โคลอมเบีย และคาซัคสถาน จนมีร้านทั้งหมด 7,292 สาขา ใน 93 ประเทศทั่วโลก ช่วยให้รายได้เติบโตถึง 12% เป็น 2.33 หมื่นล้านยูโร และกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้น 9% มาอยู่ที่ 4 พันล้านยูโร

ขณะที่ผู้เล่นอันดับ 1 และ 2 ของตลาดขับเคี่ยวกันอย่างดุเดือดนี้ คู่แข่งรายอื่นต้องรับแรงกดดันเพิ่มขึ้นตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น “ชาร์ล โวค” (Charles Vogele) แบรนด์จากสวิส ซึ่งต้องปล่อยให้ธุรกิจในประเทศฮอลแลนด์ที่มีร้าน 95 สาขาประกาศล้มละลายไป และ “ยูนิโคล” ฟาสต์แฟชั่นสัญชาติญี่ปุ่นที่ต้องปรับลดเป้ายอดขายปี 2563 ลงจาก 5 ล้านล้านเยน เป็น 3 ล้านล้านเยน ก่อนจะมุ่งขยายสาขาในระดับโลก และเน้นด้านอีคอมเมิร์ซมากขึ้นเพื่อตามให้ทันผู้นำตลาด

ผลกระทบนี้สะท้อนให้เห็นว่าจุดขายเดิมของฟาสต์แฟชั่นอย่างสินค้าดีราคาถูก นั้นไม่เพียงพอที่จะใช้แข่งขันกับแบรนด์ระดับผู้นำตลาด เนื่องจากทั้ง “อินดิเท็กซ์” และ “เฮชแอนด์เอ็ม” นั้นได้สร้างเครือข่ายโลจิสติกส์ไว้ทั่วโลก ทั้งยังเดินหน้าลงทุนด้านระบบข้อมูลที่ช่วยให้สามารถส่งสินค้าได้เร็วในต้นทุนต่ำ โดยหลังจากแฟชั่นโชว์ของเฮชแอนด์เอ็มที่ปารีส ซึ่งหลังจบงานสินค้าที่นางแบบใส่เดินบนแคตวอล์กก็เข้าร้าน พร้อมให้ลูกค้าช็อปได้ทันที

ด้วยการแข่งขันที่ดุเดือดนี้ น่าจะทำให้ฟาสต์แฟชั่นเป็นตลาดที่น่าจับตามอง โดยเฉพาะด้านกลยุทธ์ใหม่ ๆ ที่ผู้เล่นระดับรองจะนำมาใช้แก้เกมเพื่อไล่ให้ทันกับผู้นำตลาด

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์