ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต IGNITE THAILAND
ในการแถลงวิสัยทัศน์ “เตรียมทัพกำลังคน สร้างอุตสาหกรรมอนาคต” IGNITE THAILAND : Future Workforce for Future Industry เมื่อเร็วๆ นี้
โดยมี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้รับมอบหมายจาก นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ให้เป็นประธานในการแถลง ร่วมด้วย นางสาวศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ที่ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล

สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) หน่วยงานภายใต้กระทรวง อว. เปิดเผยว่า ได้ดำเนินโครงการสนับสนุนการพัฒนากำลังคนในอุตสาหกรรมเป้าหมายที่กระทรวง อว. กำลังขับเคลื่อน ได้แก่ เซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง ปัญญาประดิษฐ์ และยานยนต์ไฟฟ้า โดยเป็นโครงการที่เดินหน้าพัฒนากำลังคน ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว
อาทิ โครงการ STEMPlus แพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนสมรรถนะสูงตอบการลงทุนของภาคผลิตและบริการ ที่มีหลักสูตรฝึกอบรมระยะสั้น สำหรับกำลังคนที่อยู่ในอุตสาหกรรม โดยมีแรงจูงใจให้บริษัทเอกชนที่ส่งบุคลากรมาฝึกอบรม สามารถนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมไปลดหย่อนภาษีได้ 250%
ปัจจุบันมีหลักสูตรด้านอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 150 หลักสูตร ด้าน EV 124 หลักสูตร ด้าน AI 313 หลักสูตร ตั้งเป้าผลิตกำลังด้านเซมิคอนดักเตอร์และอิเล็กทรอนิกส์ขั้นสูง 12,500 คนต่อปี ด้าน EV 24,000 คนต่อปี ด้าน AI 8,000 คนต่อปี

โครงการ Coop+ หรือ สหกิจศึกษารูปแบบพิเศษ ที่เปิดโอกาสให้นักศึกษาที่เรียนในสาขาที่เกี่ยวข้องกับเซมิคอนดักเตอร์มาพัฒนาทักษะเพิ่มเติมและฝึกงานกับภาคอุตสาหกรรม หลังจบการศึกษาแล้วยังสามารถทำงานกับบริษัทได้ทันที โดยตั้งเป้าผลิตกำลังคนผ่าน Coop+ 1,500 คนต่อปี เริ่มนำร่องไปแล้วกับ 8 บริษัทชั้นนำ ขณะที่ด้าน EV และ AI ก็จะใช้รูปแบบเดียวกัน ตั้งเป้าผลิตกำลังคนด้าน EV 500 คนต่อปี และด้าน AI 500 คนต่อปี
โครงการจัดทำหลักสูตรแซนด์บ็อกซ์ด้านเซมิคอนดักเตอร์ ทั้งระดับปริญญาตรีและโท โดย 15 มหาวิทยาลัย ตั้งเป้าผลิตกำลังคนให้ได้ 1,300 คนต่อปี ขณะเดียวกัน สอวช. ร่วมกับ สป.อว. และ บพค. จัดทำโครงการส่งเสริมและพัฒนาทักษะตามโจทย์ความต้องการจ้างงานของประเทศ GenNX Model ซึ่งเป็นรูปแบบการพัฒนาทักษะการทำงานผ่านการฝึกอบรมระยะสั้นแบบเข้มข้น
โดยปรับรูปแบบการฝึกอบรมให้สอดคล้องกับความต้องการและบริบทของประเทศไทย โดยได้มีการจัดการอบรมหลักสูตรนักพัฒนาซอฟต์แวร์แล้ว จำนวน 7 รุ่น และหลักสูตรผู้ดูแลผู้สูงอายุมืออาชีพ จำนวน 2 รุ่น นอกจากนี้ ยังมีการขยายผลโครงการไปยังมหาวิทยาลัย และภาคเอกชนในการพัฒนาหลักสูตรร่วมกัน