เผยแพร่ | |
---|
รพ.สุขภาพจิต BMHH ในเครือเวชธานี พบผู้ป่วยโรคซึมเศร้า เข้ารักษาเป็นอันดับหนึ่ง
วันที่ 4 มิถุนายน 2567 พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH กล่าวว่า ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกกำลังเผชิญปัญหาด้านสุขภาพจิตมากขึ้น โดยข้อมูลของกรมสุขภาพจิต พบว่า คนไทยมีปัญหาด้านสุขภาพจิตประมาณ 10 ล้านคน และเข้าถึงการรักษาเพียง 38% เท่านั้น อีกทั้งการดูแลผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิตไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีเรื่องของอารมณ์และความรู้สึกเข้ามาเกี่ยวข้อง ทำให้เกิดผลกระทบต่อคนหลายกลุ่ม ทั้งคนรอบข้าง คนในครอบครัว หรือแม้แต่เพื่อนร่วมงาน
โรงพยาบาล BMHH ในเครือโรงพยาบาลเวชธานี จึงตั้งใจที่จะดูแลรักษาผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต ตั้งแต่ก่อนป่วย ป่วย ไปจนถึงการฟื้นฟู โดยตลอดระยะเวลา 9 เดือนที่เปิดให้บริการ พบว่า ผู้เข้าใช้บริการมีอายุเฉลี่ย 32 ปี บวกลบ แบ่งเป็น คนไทย 88% และชาวต่างชาติ 12%
พญ.ปวีณา ศรีมโนทิพย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH
โดยมีผู้เข้ารับการรักษาโรคซึมเศร้า เป็นอันดับ 1 สอดคล้องกับข้อมูลของกรมสุขภาพจิต ที่พบว่า คนไทยเป็นโรคซึมเศร้าสูงถึง 1.5 ล้านคน รองลงมาคือ โรควิตกกังวล และความเครียด ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มคนอายุระหว่าง 20-40 กว่าปี เป็นกลุ่มวัยทำงาน กลุ่มที่กำลังสร้างครอบครัว และกลุ่มที่เป็นเสาหลักของบ้าน
สำหรับการให้บริการของโรงพยาบาล BMHH มุ่งเน้นในเรื่องความปลอดภัยของผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่เป็นหลัก เพราะผู้ป่วยบางกลุ่มโรคมีความเสี่ยงที่จะทำร้ายตัวเองและเจ้าหน้าที่ โดยอุปกรณ์ต่างๆ ภายในโรงพยาบาลจะไม่ใช้วัสดุมีคมและเชือกที่อาจนำมาใช้เป็นอาวุธได้
เช่น ตึกจะใช้กระจกเทมเปอร์ที่ไม่แตกเป็นเศษมีคม ภายในห้องผู้ป่วยไม่มีข้าวของเครื่องใช้ที่แตกได้ เช่น กระเบื้อง หรือของมีคม เช่น มีด ส้อม ถังขยะในห้องผู้ป่วยจะใช้แบบฝาสวิงไม่มีก้านเหล็ก ชุดผู้ป่วยใช้เป็นยางยืดแทนเชือก ส่วนผ้าม่านก็ใช้แบบไม่มีเชือก รวมถึงใช้ขอแขวนแทนราวแขวนผ้า และไม่มีลูกบิดประตู เพื่อป้องกันการแขวนคอ แม้แต่ต้นไม้ในสวนก็เลือกประเภทที่มีกิ่งเปราะบางหักง่ายรับน้ำหนักมากไม่ได้
โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH
นอกจากนี้ ยังมีระบบการควบคุมภายในที่เข้มงวด เพื่อป้องกันความเสี่ยงต่างๆ เช่น ล็อกประตูจากด้านในไม่ได้ หรือประตูทุกทางที่ผู้ป่วยสามารถวิ่งออกไปได้จะมีระบบ Alarm เตือนเมื่อมีคนเปิดประตู และหากเป็นผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงสูงอาจจะต้องล็อกห้องจากด้านนอก ซึ่งทุกห้องจะมีกล้องวงจรปิดต่อมายังเคาน์เตอร์พยาบาลทำให้สามารถเห็นกิจกรรมที่ผู้ป่วยกระทำได้ตลอดเวลา
และบางพื้นที่จะถูกกำหนดไม่ให้ผู้ป่วยออกไปคนเดียว ต้องมีเจ้าหน้าที่คอยดูแลด้วย และบัตรของพนักงานทุกคนจะมีสิทธิ์ไม่เท่ากันในการเข้าถึงบริเวณต่างๆ รวมถึงมีการออกแบบบริการให้สอดคล้องกันไปด้วย โดยเจ้าหน้าที่ของโรงพยาบาลต้องทำงานตามแผนงานอย่างเคร่งครัด เพราะระบบรักษาความปลอดภัยคงไม่สามารถป้องกันได้ 100% ซึ่งโรงพยาบาลจะมีการฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ถึงวิธีการทำงานต่างๆ
พญ.ปวีณา กล่าวต่อว่า แม้โรงพยาบาลจะมุ่งเน้นเรื่องความปลอดภัยเป็นที่ตั้ง แต่ก็ไม่ต้องการให้มีภาพที่น่ากลัวคล้ายห้องขัง จึงเน้นความเป็นธรรมชาติให้มากที่สุด เพราะสัญชาตญาณของมนุษย์จะผูกพันและรู้สึกสบายเมื่ออยู่กับธรรมชาติ
เช่น การเลือกใช้อิฐสร้างตัวตึก ที่แม้จะดูมีความแข็งแรง แต่ขณะเดียวกันไม่ได้รู้สึกว่าแข็งกร้าว ดูมีความอบอุ่นให้ความรู้สึกเป็นบ้าน เพื่อให้คนที่เดินเข้ามาไม่ต้องกังวลเหมือนมาคุยกับเพื่อนหรือมาพักผ่อน ส่วนที่จอดรถก็เน้นสีธรรมชาติ และสิ่งสำคัญต้องสว่าง เพราะผู้ป่วยสุขภาพจิตจะไม่ชอบความมืดสลัว และจะหลีกเลี่ยงการใช้สีดำ รวมถึงสีที่ดูแล้วทำให้เกิดความรู้สึกหม่นหมอง
โรงพยาบาลเฉพาะทางด้านสุขภาพจิต BMHH
โดยจะเน้นโทนสีธรรมชาติและดูอารมณ์ของสีด้วย ได้แก่ สีเขียว สีฟ้า และสีเบจ ซึ่งเป็นสีกลางๆ ที่ไม่กระตุ้นอารมณ์ของผู้ป่วยและดูอบอุ่น ทำให้รู้สึกสบายเข้าได้กับทุกสี สีฟ้าให้ความรู้สึกเย็น สงบ ในขณะที่สีเขียวเป็นความสดชื่น ซึ่งสีดังกล่าวถูกนำมาใช้กับชุดแต่งกายของพนักงานที่ใช้เป็นชุดสครับ (scrubs) เพื่อความคล่องตัวในการทำงาน ส่วนสีอื่นที่อาจเอามาเติมบ้างจะเป็นสีเหลืองเป็นการเพิ่มพลังบวก นอกจากนี้ โรงพยาบาลยังช่วยให้ผู้เข้ามารู้สึกผ่อนคลายด้วยเสียงดนตรีบรรเลง อีกทั้งยังมีหนังสืออ่านเล่นที่ให้พลังบวกสำหรับญาติผู้ป่วยในช่วงนั่งรอผู้ป่วยอีกด้วย
พญ.ปวีณา กล่าวทิ้งท้ายว่า “ปัจจุบันคนไทยเปิดกว้างมากขึ้น และภาพจำเกี่ยวกับโรงพยาบาลจิตเวชก็เปลี่ยนไปจากเดิม และรู้ว่าการปรึกษาจิตแพทย์เป็นทางออกหนึ่งในชีวิต ซึ่งขณะนี้โรงพยาบาลสามารถรองรับผู้ป่วยนอก 26 ห้อง และผู้ป่วยใน 30 เตียง
ซึ่งเรามีวิสัยทัศน์ต้องการพัฒนาโรงพยาบาลให้ไปในเชิงการรักษาเฉพาะทางมากขึ้นในอนาคต เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับสิ่งที่ดีที่สุดและเหมาะสมที่สุด โดยมีแผนจะเปิดเป็นศูนย์เฉพาะทางเพิ่มเติม เช่น ศูนย์รักษาโรคซึมเศร้า เป็นอีกทางเลือกสำหรับผู้ป่วยที่พร้อมจะมาใช้บริการในภาคเอกชน”