ถอดบทเรียน “สตาร์ตอัพ” อาเซียน ปัญหาและอุปสรรคของไทย

ทุกวันนี้ประเทศในอาเซียนต่างให้ความสำคัญกับธุรกิจ “สตาร์ตอัพ” อย่างจริงจัง และมองว่าจะเป็นอนาคตเศรษฐกิจระดับใหม่ ล่าสุด “Kejora Ventures” ดาวรุ่งแห่งธุรกิจเงินร่วมลงทุน (Venture Capital-VC) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2557 โดยมีการลงทุนในธุรกิจแล้วกว่า 29 ธุรกิจ

ล่าสุดได้เข้ามาเปิดตัวสำนักงานในประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ถือเป็นสาขาที่ 4 หลังเปิดสำนักงานในฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และสิงคโปร์

Kejora Ventures ตั้งเป้าหมายระดมทุนไว้ที่ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งขณะนี้สามารถระดมทุนได้กว่า 1 ใน 3 จากงาน Kejora Star Capital II Fund โดยสามารถดึงผู้ร่วมลงทุนที่มีศักยภาพอย่าง Baristo Pacific Group ผู้ประกอบการธุรกิจยักษ์ใหญ่จากอินโดนีเซีย, Hubert Burda Media บริษัทสื่อจากเยอรมนี และเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ดังนั้น “ชัชวาลย์ เจียรวนนท์” กรรมการบริหาร บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) จึงได้เข้าไปนั่งเป็นกรรมการที่ปรึกษาประจำกองทุนในประเทศไทย

พร้อมกันนี้ กองทุน Kejora ได้ประกาศให้เงินสนับสนุนสตาร์ตอัพดาวรุ่ง 6 ราย ได้แก่ C88 Fintech Group, Qareer Group Asia, Etobee, Investree, Pawoon และ MoneyTable ซึ่งมันนี่เทเบิ้ลเป็นสตาร์ตอัพด้านฟินเทคจากประเทศไทย

โดยเป้าหมายการลงทุนของ Kejora Ventures ในระยะเริ่มแรกจะเน้นการลงทุนสตาร์ตอัพใน 3 สาขาหลัก ได้แก่ ไฟแนนซ์, เอชอาร์ และโลจิสติกส์

ทำไมต้องลงทุน อาเซียนŽ

“Sebastian Togelang” ผู้ร่วมก่อตั้ง Kejora Ventures กล่าวว่า อาเซียนเป็นตลาดที่น่าสนใจในการลงทุนด้านสตาร์ตอัพ เพราะมีครบในทุกปัจจัยที่เกื้อหนุน ได้แก่ ประชากรวัยเยาว์ที่มีมากกว่าครึ่งและเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมถึงโอกาสในอนาคต หมายถึง ลงทุนในตอนที่อะไร ๆ ยัง “ราคาถูก” เพื่อเก็บเกี่ยวและขายในตอน “ขาขึ้น”

หากอาเซียนผนึกกำลังด้านสตาร์ตอัพ สร้างเครือข่าย กระจายบริการไปได้มากกว่าภายในประเทศของตนเอง จะสามารถดันภูมิภาคเล็ก ๆ แห่งนี้ ให้กลายเป็น “ฮับซิลิกอนวัลเลย์” ได้ไม่ยาก

“อาเซียนเป็นภูมิภาคที่เปลี่ยนแปลงเร็วมาก ผมมองว่าตอนนี้อาเซียนเหมือนกับจีน เมื่อราวปี 2006 ที่สตาร์ตอัพและอีคอมเมิร์ซกำลังเริ่มพัฒนา เพราะฉะนั้น นี่คือเวลาประจวบเหมาะของการลงทุน ยูนิคอร์นใกล้เข้ามาแล้ว”

ข้อจำกัดหนึ่งของประเทศอาเซียนคือมีขนาดเล็ก จำนวนประชากรจึงน้อยตาม การจะไปสู้กับจีน หรือสหรัฐอเมริกา ที่มีจำนวนประชากรที่พร้อมจะโดดเข้าใช้แพลตฟอร์มอย่างเต็มความสามารถคงไม่ได้ การผนึกกำลังกันเพื่อให้ได้จำนวนผู้ใช้งาน 750 ล้านคน จากทั้งภูมิภาคอาเซียน จึงเป็นกลยุทธ์สำคัญ

“P to P”Ž และ ”คนรุ่นใหม่Ž” คีย์ซักเซส

กองทุน Kejora ได้มีการลงทุนสตาร์ตอัพดาวเด่นมากมาย ซึ่งที่น่าจับตามองที่สุด คงหนีไม่พ้น “C88” สตาร์ตอัพฟินเทค (Financial Technology) ระดับยูนิคอร์น (มูลค่าเกิน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ)

“Karl Knoflach” ผู้ร่วมก่อตั้ง C88 บอกว่า หัวใจแห่งความสำเร็จของสตาร์ตอัพฟินเทค คือ รูปแบบ P to P ที่ตัดตัวกลางออก ทำให้ผู้บริโภคเลือกได้มากขึ้น ในราคาที่ถูกกว่าเกิดการครอสเซลลิ่ง (Cross Selling) ตัวอย่างที่เห็นชัดคือตลาดจีน ซึ่งมีศักยภาพด้านจำนวนประชากร ทำให้ตลาดเติบโตอย่างรวดเร็วจนหายใจไม่ทัน

สำหรับตลาดอาเซียน ศักยภาพด้านประชากรก็เป็นสิ่งสำคัญ อาเซียนถือว่าเป็นดาวเด่นด้านประชากรอายุน้อย ที่สามารถเติบโตทันกับการพัฒนาเศรษฐกิจ และสิ่งที่น่าตื่นเต้นมาก ๆ คือการที่รัฐบาลประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเร่งเครื่องด้านสตาร์ตอัพตามกันมาติด ๆ ใน 2-3 ปีที่ผ่านมา การหาเงินทุนเพื่อสนับสนุนในช่วงเริ่มต้นก็ง่ายขึ้น เนื่องจากมีคนพร้อมจะลงขัน ทำให้ตอนนี้ตลาดอาเซียนถือว่าพร้อมแทบทุกด้านที่จะลงทุนด้านสตาร์ตอัพ

โอกาสของการเป็น ฮับŽ สตาร์ตอัพ

การเข้าร่วมเป็นพาร์ตเนอร์กับ Kejora ทำให้ดูเหมือนว่า สตาร์ตอัพหลาย ๆ บริษัทจะสามารถขยายตัวได้มากกว่าภายในประเทศตัวเอง อย่างไรก็ตาม การก้าวเป็นฮับสตาร์ตอัพอาจจะยังไม่เกิดขึ้นในเร็ววันนี้สำหรับภูมิภาคอาเซียน

“Iman Kusnadi”
ผู้ร่วมก่อตั้งและซีโอโอของ Etobee สตาร์ตอัพด้านโลจิสติกส์สำหรับสินค้าและบริการทุกประเภท (ดีลิเวอรี่เซอร์วิส) แห่งอินโดนีเซีย มาพร้อมกับการเติบโตของอีคอมเมิร์ซเผยว่า ในอีกไม่กี่ปีข้างหน้า อาเซียนจะสามารถเป็นตลาดแห่งเทคโนโลยีได้ แต่การเป็นซิลิกอนวัลเลย์ อาจจะต้องใช้เวลาอีก เนื่องจากความพร้อมของแต่ละประเทศไม่เท่ากัน

“สำหรับประเทศไทยถือว่ายังเด็กสำหรับสตาร์ตอัพในวันนี้ฟิลิปปินส์กับอินโดนีเซียอาจจะได้เพราะในเมืองใหญ่ ๆ เป็นเมืองที่ขับเคลื่อนด้วยเทคโนโลยี ส่วนสิงคโปร์ก้าวล้ำไปกว่านั้น คำตอบของผมคืออาจจะเป็นไปได้ แต่แค่ในบางพื้นที่เท่านั้นสำหรับการเป็นซิลิกอนวัลเลย์”

ขณะที่ “J. P. Ellis” ซีอีโอและผู้ร่วมก่อตั้ง C88 ให้ความเห็นว่า อาเซียนสามารถก้าวเข้ามาเป็นซิลิกอนวัลเลย์ของสตาร์ตอัพได้ อาจจะ 10-20 ปีข้างหน้า เนื่องจากซิลิกอนวัลเลย์ หมายถึง ที่ที่เทคโนโลยีถูกคิดค้นขึ้น และอาเซียนมีเครื่องมือพร้อมที่จะสร้างเทคโนโลยี ไม่ว่าจะเป็นมหาวิทยาลัย สถาบันวิจัย โอกาสด้านเศรษฐกิจ และนวัตกรรมใหม่ ความสำคัญของการเป็นซิลิกอนวัลเลย์ คือ ความต้องการที่จะผลิตเทคโนโลยีใหม่ ๆ และทดลองโมเดลธุรกิจใหม่ ๆ กับคนรุ่นใหม่ที่ยินดีที่จะรับมันมาใช้

ปัญหา & อุปสรรค อาเซียนŽ

ปัญหาหลักของการลงทุนและขยายสตาร์ตอัพออกนอกประเทศในอาเซียน ที่ได้รับการพูดถึงจากนักลงทุน 2 เรื่องใหญ่ก็คือ ความแตกต่างด้านวัฒนธรรม และมาตรการกำกับกฎหมายของบางประเทศที่มีความเข้มงวดมาก ทำให้อาจไม่เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ

“Knoflach” แห่ง C88 มองว่า มาตรการกำกับกฎหมายบางประเทศที่เข้มงวดเกินไป เช่น กรณีประเทศไทยควรจะมีการผ่อนคลายกฎหมายกำกับดูแลลงบ้าง ให้เอื้อต่อนักลงทุนต่างชาติ เพราะซิลิกอนวัลเลย์จะสำเร็จขึ้นได้ ส่วนหนึ่งมาจากสิ่งแวดล้อมด้านกฎหมายที่เอื้อต่อการเติบโต ซึ่งจะเห็นตัวอย่างได้จากทั่วโลก

สำหรับซีอีโอของ Etobee ระบุว่า มีความสนใจที่จะลงทุนในประเทศไทย แต่อาจจะยังไม่ใช่เวลานี้ เพราะยังมีเรื่องที่ต้องเตรียมพร้อมอีกมาก อย่างหนึ่งคือกำแพงด้านภาษา ธุรกิจของเขาคือธุรกิจด้านการขนส่ง ดังนั้นแอปพลิเคชั่นในไทยจะต้องเป็นภาษาไทยเพื่อให้คนไทยเข้าใจ และยอมรับการใช้งาน นั่นหมายถึงการต้องหาทีมงานคนไทยที่สามารถแปลภาษาและทำงานสอดคล้องไปกับสตาร์ตอัพของเขาได้ จึงจะต้องเป็นคนที่เข้าใจและใช่จริง ๆ นอกจากนั้นยังรวมถึงการหาพาร์ตเนอร์ที่สามารถเข้าใจในตัวธุรกิจที่จะสนับสนุน การเข้าร่วมกับ Kejora ครั้งนี้เชื่อว่าน่าจะทำให้สามารถขยายตลาดไปไกลได้มากกว่าประเทศอินโดนีเซียแน่นอน

อย่างไรก็ตามสิ่งที่ซ่อนอยู่ภายใต้ความฝันสวยหรูของกระแสสตาร์ตอัพก็คือประเด็นเรื่อง “ฟองสบู่” สตาร์ตอัพ ที่กำลังปะทุขึ้นในหลาย ๆ ประเทศ เพราะทุกฝ่ายประเมินมูลค่าของสตาร์ตอัพสูงเกินจริง ให้เงินทุนสนับสนุนที่ขึ้นอยู่กับการคาดหวังและความฝันมากกว่าโมเดลธุรกิจ
ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์