ผู้เขียน | พารนี ปัทมานันท์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วิทยาลัยนานาชาติจีน ม.รังสิต เร่งสร้างบัณฑิต ขึ้นแท่นผู้บริหารกิจการจีนในไทย
“ปัจจุบัน นักลงทุนจีน กลายเป็น นักลงทุนเบอร์หนึ่งที่สำคัญในการมาลงทุนในประเทศไทย ที่เวลานี้ แซงญี่ปุ่นไปแล้ว ด้วยเหตุปัจจัยเรื่องของกำแพงภาษี เป็นสำคัญ”
ดร.กัญจน์นิตา สุเชาว์อินทร์ คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยข้อมูลให้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ รับทราบอย่างนั้น
ก่อนขยายความให้ฟังต่อ จากการไปสัมภาษณ์ผู้ประกอบการจีน ที่ย้ายฐานการผลิตมาลงทุนในไทย ส่วนใหญ่มาด้วยประเด็นกำแพงภาษีกันทั้งนั้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า ธุรกิจโซลาร์เซลล์ และอีกหลายธุรกิจ และสิ่งที่ตามมาก็คือ “ซัพพลายเชน” ที่เกี่ยวข้อง
“ยกตัวอย่างให้เห็นภาพ อย่าง ธุรกิจยางล้อรถยนต์ ก่อนที่จะเกิดสงครามการค้า จีน เป็นผู้ส่งออกยางล้อรถยนต์ไปที่สหรัฐอเมริกา ปีหนึ่ง 80 เปอร์เซ็นต์ แต่หลังจากที่เกิดสงครามการค้า เกิดกำแพงภาษี ยอดจาก 80 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 10 เปอร์เซ็นต์ จีน เขาก็สะเทือน”
“แต่ก่อนที่เขาจะสะเทือน จนเกิดภาวะช็อก จีนได้มีการเตรียมการย้ายฐานการผลิต ไปตามประเทศต่างๆ ซึ่งไทย เป็นหนึ่งในฐานการผลิตนั้น สรุปคือ ถ้าพี่ใหญ่ 2 คนตีกัน เราก็มีหน้าที่คอยสนับสนุนส่วนที่ทำให้ธุรกิจเกิดการขับเคลื่อนต่อไปได้ กระทั่งทุกวันนี้ จีนกลายเป็นนักลงทุน ที่ทรงอิทธิพลในระดับเศรษฐกิจของบ้านเราพอสมควรแล้ว” ดร.กัญจน์นิตา อธิบายให้เห็นภาพ
ความต้องการตลาดเปลี่ยน ต้องรีแบรนดิ้ง
แล้วสถาบันอุดมศึกษา ซึ่งมีหน้าที่ผลิตบัณฑิตคุณภาพป้อนเข้าสู่ตลาดแรงงาน อย่าง มหาวิทยาลัยรังสิต จะเป็นส่วนหนึ่งของระบบเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งมีประเทศจีน เป็นจิ๊กซอว์ ตัวสำคัญ อย่างไรได้บ้าง
ประเด็นนี้ ดร.กัญจน์นิตา บอกว่า เมื่อปี 2549 มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นมหาวิทยาลัยแรก ที่บุกเบิกนำนักศึกษาจีนมาเรียนหลักสูตรบริหารธุรกิจด้วยภาษาจีน โดยให้ชื่อว่า Chinese Business School
กระทั่งปี 2556 มีการ รีแบรนดิ้ง เพราะมองว่าถ้าเป็น Chinese Business School จะถูกตีกรอบอยู่แค่บริหาร แต่ในตลาดแรงงานปัจจุบันนั้น ไม่ใช่แค่งานบริหารซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด หากต้องมี Skill ด้านภาษาจีนกับวิชาชีพอื่นด้วย
มหาวิทยาลัยรังสิต จึงปวารณาตัว เป็นฐานการผลิตบัณฑิตที่มีคุณสมบัติ ที่ได้ทั้งภาษาจีนด้วย และมีวิชาชีพด้วย เลยเปลี่ยนชื่อ Chinese Business School เป็น International Chinese College ตั้งเป้าว่า ภาษาจีน ต้องเป็นภาษาอินเตอร์ที่ควบคู่ไปกับภาษาอังกฤษ
“เดิมทีฐานนักศึกษาที่มาเรียนกับเรา ตั้งแต่ปี 2549-2556 นั้น 100 เปอร์เซ็นต์เป็นนักศึกษาจีน กระทั่งตัวเองเข้ามาเป็นผู้บริหาร ปี 2556 มองว่า นักศึกษาจีนพอเขาเรียนจบแล้วเขาก็กลับประเทศเขา ไปเข้าสู่อุตสาหกรรมบริการในประเทศของตัวเอง ทีนี้แล้วในประเทศไทยเราจะได้ประโยชน์อะไรจากจุดนี้ได้บ้าง ในฐานะที่ตัวเองเรียนทางด้าน Linguistics เลยมองว่าเราจะทำยังไงให้เด็กไทยสามารถเข้าไปเรียนรวมกับนักศึกษาจีนให้ได้ ซึ่งมันเป็นโจทย์ที่ยากมาก” คณบดีวิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยรังสิต เผยอย่างนั้น
ปูพื้นฐานภาษาแบบเข้มข้น ผุดหลักสูตร 1+2+1
ก่อนขยายความให้ฟังต่อ ในการที่จะผสมผสานนำนักศึกษา 2 กลุ่ม ที่ระดับภาษาต่างกันมากมาเรียนรวมกัน กลุ่มหนึ่งเป็นเจ้าของภาษา กลุ่มหนึ่งเรียนในฐานะภาษาต่างประเทศ แล้วจะเรียนรวมกันอย่างไร จึงต้องทำการปรับหลักสูตรใหม่ ให้สามารถเรียนไปพร้อมกันได้ โดยนักศึกษาไทย จะต้องมีการ Intensive ภาษา ช่วง Summer ก่อน เรียกว่า “ช่วงเก็บตัว”
“เราออกแบบการเรียนภาษาแบบ Intensive ให้นักศึกษาไทย 6 วิชา เป็นการเรียนแบบกลุ่มเล็กๆ เรียนแบบ Intensive เข้มข้น จันทร์-ศุกร์ เจออาจารย์ภาษาจีน คนจีน ทุกวัน เด็กไทยหลายคนที่มาเจอเราช่วง Summer จะบอก อาจารย์คะ หนูมาเรียน 3 เดือนตรงนี้ มากกว่าหนูเรียนภาษาจีนมาทั้งชีวิตอีก” ดร.กัญจน์นิตา เผย
ทั้งนี้ เด็กไทยที่รับเข้ามาเรียนร่วมกับเด็กจีนนั้น เริ่มมีขึ้นในปีการศึกษา 2557 โดยเด็กไทยเรียนร่วมรุ่นแรก มี 10 คน แต่เหลือตลอดรอดฝั่ง เรียนจนจบได้รับปริญญา เหลือแค่ 3 คนเท่านั้น จึงต้องทำการ “ถอดบทเรียน” ว่าเกิดอะไรขึ้น กระทั่งพบว่า เด็กรู้สึกว่ายาก ขาดความมั่นใจในการเรียน จึงต้องขอแรงครูอาสาจากทางแผ่นดินใหญ่ เข้ามาติวประกบเด็กกลุ่มนี้ กระทั่งเปอร์เซ็นต์ของการตกออกของเด็กไทย ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ถึงกระนั้น จำนวนบัณฑิตไทยที่จบจากวิทยาลัยนานาชาติจีน ก็ยังมีไม่มาก ราวปีละ 3-4 คน ไม่ใช่จำนวนที่จะตอบโจทย์ตลาด เพราะผู้ประกอบการจีนในไทยนั้น Request เด็กไทย เยอะมาก แล้วเราจะทำยังไงเพื่อสามารถป้อนบัณฑิตเข้าไปในท้องตลาดได้จริง
เมื่อมีการทบทวนแนวทางใหม่ พบเด็กไทยมีความรู้ด้านภาษาดีขึ้น แต่อยากมีประสบการณ์ตรงที่ประเทศจีน เลยเป็นที่มาของการสร้างความร่วมมือกับทางมหาวิทยาลัยเฉิงตู ประเทศจีน เป็นหลักสูตร 2 ปริญญา ทำเป็นหนึ่ง บวกสอง บวกหนึ่ง หนึ่งหัว-หนึ่งท้าย เรียนที่ม.รังสิต ตรงกลาง 2 ปี ไปแลกเปลี่ยนที่เมืองจีน ในหลักสูตรเดียวกัน เป็นหลักสูตรบริหารธุรกิจ ไม่ใช่การไไปเรียนภาษา
“การวางหลักสูตร 1+2+1 เพราะต้องการให้เด็กไทยเข้ามาแล้วได้เจอกับเด็กจีน รู้จักบุคลิกนิสัยใจคอกันก่อน พอปี 2 ปี 3 ไปต่อที่มหาวิทยาลัยเฉิงตู ปี 4 กลับมา เพื่อไปฝึกงานเนื่องจากมีบริษัทจีนในไทย รอให้เด็กไทยไปฝึกงานกันเยอะมาก เราต้องการที่จะเชื่อมเลย ว่าจบปุ๊บ มีบริษัทจีนรอ ให้คุณไปฝึกงาน แล้วถ้าเขามองว่าคุณหน่วยก้านดี เขา Recruit ต่อเลย” ดร.กัญจน์นิตา บอกมาอย่างนั้น
มองเห็นโอกาส แล้วเดินไปพร้อมกัน
เมื่อถามถึงความต้องการแรงงานของธุรกิจจีนในประเทศไทย ดร.กัญจน์นิตา เผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ได้จัดงานเสวนาเรื่องของโอกาสทางการค้าบริษัทจีนในประเทศไทยและจัดอีเวนต์ จ๊อบแฟร์ โดย 12 บริษัทจากผู้ประกอบการจีน เข้ามาร่วมงาน ทุกบริษัท แต่ก่อนขอแค่เด็กรู้ภาษาจีนก็ใช้ได้แล้ว แต่ปัจจุบันไม่ใช่ เริ่ม Request เยอะขึ้น ขอรู้ภาษาจีนแล้ว รู้บัญชีด้วย รู้วิศวะมีรึเปล่า รู้เรื่องโลจิสติกส์ ไหม
“ตอนนี้สิ่งที่ธุรกิจจีนในประเทศไทย กำลังขาดคือ ผู้บริหารระดับกลาง ที่เป็น HR ที่เป็นคนทำบัญชี เขาไม่มีคนกลุ่มที่ได้ภาษาจีนและสามารถสื่อสารกับผู้บริหารระดับสูงได้ ที่ผ่านมาจึงใช้แค่ผู้ช่วยที่เป็นล่าม” คณบดี ท่านเดิม เผยให้ทราบอย่างนั้น
เมื่อถามถึง คุณสมบัติของเด็กไทยที่เหมาะมาเรียนหลักสูตรความร่วมมือ 2 ปริญญานี้ ดร.กัญจน์นิตา บอกจริงจัง ต้องมีคุณสมบัติเป็นนักสู้ มีความชื่นชอบภาษาจีน ในระดับที่เอาไปใช้งาน อยากเป็นนักธุรกิจ และชอบงานบริหาร และมองเห็นโอกาสดด้วย
อย่างไรก็ตาม โอกาสที่รออยู่นั้น ก็มาพร้อมกับความท้าทาย เพราะเรียนภาษาอย่างเดียวว่าเหนื่อยแล้ว ต้องมาบวกกับวิชาชีพด้วย ฉะนั้นเด็กไทย ต้องมีความทุ่มเทต่อเนื่อง นอกจากนี้ ครอบครัวต้องพร้อมที่จะสนับสนุนด้วย
“ต้องบอกว่าทางวิทยาลัยนานาชาติจีน อยากให้เด็กไทยมาเรียนกัน ถึงขนาดขออนุญาตท่านผู้บริหารมหาวิทยาลัย อนุมัติทุนให้เด็กไทยในสัดส่วนถึง 30 เปอร์เซ็นต์ แต่ต้องขอสัมภาษณ์ก่อน เพราะเด็กที่เราอยากจะ Groom เด็กที่อยากจะพัฒนาออกไปนั้น ต้องเป็นเด็กที่คิดตรงกับเรา” ดร.กัญจน์นิตา บอกอย่างนั้นก่อนยกตัวอย่าง น่าสนใจ
มีน้องคนหนึ่ง ซึ่งมารับการสัมภาษณ์เพื่อขอรับทุน ตอนที่สัมภาษณ์ไม่สามารถที่จะคุยกันรู้เรื่องเลย เพราะว่าเน็ตบ้านน้องโปรต่ำมาก ทราบเบื้องต้นแค่เพิ่งย้ายมาจากโคราช มาอยู่กับคุณพ่อคุณแม่ที่ปทุม คุณแม่เปิดร้านส้มตำ ไก่ย่าง เลยขออนุญาตพาคุณแม่ มาคุยในวันถัดไป
“คุณแม่ น่ารักมาก มาพร้อมกับคุณพ่อ อาจารย์ก็ถามคุณแม่ก่อนเลย ว่าคุณแม่ เข้าใจใช่ไหมคะว่า หลักสูตรนี้มันเป็นหลักสูตรที่จะต้องอาศัยตัวน้องค่อนข้างเยอะ ในการที่จะต้องขยันหรือความทุ่มเทค่อนข้างมาก และจำเป็นที่จะต้องอาศัยในเรื่องของเงินทุนเงินรอน แม้ว่าจะได้รับทุนแล้วก็ตาม”
“คุณแม่ บอกทราบ แต่ยังอยากให้ลูกเรียนอยู่ จะนำเงินที่สะสมมาส่งให้ลูกเรียนอันนี้ และให้เหตุผล ช่วงที่คุณแม่ไปซื้อของที่ตลาดไท แล้วปรากฏตัวหนังสือจีนเยอะมาก เห็นผู้ประกอบการ เห็นคนที่เข้ามาทำธุรกิจเป็นคนจีนทั้งนั้นเลย เลยมองว่า เราจะอยู่ในสิ่งแวดล้อมแบบนี้โดยที่ไม่รู้ภาษาจีน โดยที่ไม่รู้วิชาชีพ ไม่ได้ และรู้แค่ภาษาจีนก็อาจจะไม่พอ”
“อาจารย์ เลยต้องย้ำบอก คุณแม่คะ ถ้าอยากจะให้ลูกรู้ภาษาจีนอย่างเดียว มีหลายหลักสูตรมากเลยในประเทศไทย และเป็นหลักสูตรที่ไม่ได้ต้องใช้เงินทุนเงินรอนเยอะมาก อันนี้พูดตรงๆ คุณแม่คิดยังไง คุณแม่บอกเลยว่า ไม่ค่ะ คือจะกัดฟันส่งให้ลูกเรียนอันนี้” ดร.กัญจน์นิตา เล่าส่งท้าย
…
ปีการศึกษา 2567 วิทยาลัยนานาชาติจีน มหาวิทยาลัยรังสิต กำลังเปิดรับนักศึกษาไทย เข้าศึกษาต่อในหลักสูตรบริหารธุรกิจระดับปริญญาตรี ดำเนินการเรียนการสอนด้วยภาษาจีนภายใต้ความร่วมมือระหว่าง มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเฉิงตู ประเทศจีน เด็กไทยคนไหน คิดว่าตัวเองมีคุณสมบัติ และมองเห็นโอกาส คงตัดสินใจได้ไม่ยาก