พลิกโฉม ประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน

พลิกโฉม ประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน

จากการเสวนาหัวข้อ “พลิกโฉม ประสบการณ์การท่องเที่ยวไทย สู่มาตรฐานใหม่ที่ยั่งยืน” จัดโดยแกร็บ ประเทศไทย เมื่อเร็วๆ นี้

ดร.พิพัฒน์ เหลืองนฤมิตชัย กรรมการผู้จัดการ และหัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าวตอนหนึ่งว่า การท่องเที่ยว เป็นเครื่องจักรสำคัญมาก ของเศรษฐกิจไทยในรอบหลายปีที่ผ่านมา ก่อนสถานการณ์โควิด-19 บ้านเรามีนักท่องเที่ยว ประมาณ 40 ล้านคน ซึ่งดูเหมือนจะเป็นจำนวน ที่ “ตึง” แล้ว

ถ้ารับเข้ามามากกว่านั้น อาจพบกับข้อจำกัดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น สนามบิน ทรัพยากรธรรมชาติ ผู้คนจะเริ่มบ่นจำนวนนักท่องเที่ยวเยอะ มีการทำลายทรัพยากร ความสวยงามที่บ้านเรามี ดังนั้น การตั้งเป้าที่จำนวนอย่างเดียวอาจไม่พอแล้ว

“ถ้าต้องการให้การท่องเที่ยว เป็นแรงผลักดันทางเศรษฐกิจที่ดี อาจต้องหันมามองประเด็น การเพิ่มมูลค่า ให้มากขึ้น เพราะต้นทุนการรับนักท่องเที่ยวนั้นก็มีอยู่ ที่ผ่านมาเห็นชัดว่า พอเจอโควิด เราปิดเกาะไป เกาะต่างๆ กลับมาสวยขึ้น ประเด็นตรงนี้ น่าจะเป็นเป้าที่สำคัญเหมือนกัน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

และว่า นอกเหนือจาก จำนวนนักท่องเที่ยวที่ตั้งเป็นเป้าแล้ว ทุกฝ่ายต้องคิดต่อ จะทำอย่างไร ให้มีการเพิ่มมูลค่าจากการเป็น “จุดหมายปลายทาง” มาเป็น “จุดหมายปลายทางมีมูลค่าที่นักท่องเที่ยวพร้อมจะจ่ายเพิ่ม” คือ จะทำกันอย่างไรให้ผลประโยชน์จากการท่องเที่ยว แพร่กระจายไปหาผู้คนและพื้นที่ ให้ได้มากที่สุด ไม่ใช่กระจุกตัวแค่ 5 จังหวัดหลัก

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อ แนวโน้มการท่องเที่ยวหลังสถานการณ์โควิดนั้น มีการเปลี่ยนแปลงไป อย่างรูปแบบการท่องเที่ยวในไทย ก่อนเกิดโควิด เรามีชาวจีน เป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มสำคัญ แต่จนถึงขณะนี้นักท่องเที่ยวจีน ยังไม่กลับมาแล้วจะหานักท่องเที่ยวจากที่ไหน การกระจายความเสี่ยง การเพิ่มฐานนักท่องเที่ยว การเพิ่มตลาดการท่องเที่ยว จึงเป็นอีกหนึ่งประเด็นน่าพิจารณา

ดร.พิพัฒน์ กล่าวต่อว่า ปัจจุบัน เทรนด์การท่องเที่ยวเปลี่ยนไป เรื่องแรก คือผู้คนใช้เทคโนโลยีในการหา สถานที่ท่องเที่ยว เดี๋ยวนี้แทบไม่มีใครโทรหาเอเยนต์ด้านการท่องเที่ยวแล้ว เรื่องที่สองคือ ปัญหาสิ่งแวดล้อม ที่ผ่านมา ตนได้พูดคุยกับเพื่อนชาวยุโรป เขาบอกว่าปีนี้ไม่เดินทางแล้ว เพราะคาร์บอนฟุตพรินต์ โควตาของตัวเขา ตอนนี้เต็มแล้ว

“2 เรื่อง ที่ยกตัวอย่างมานี้ กำลังจะกลายเป็นดีมานด์ของผู้บริโภค ดังนั้น ประเทศจุดหมายปลายทาง ต้องมีการเตรียมตัวในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐานที่จะตอบโจทย์พวกเขาหรือไม่” หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร กล่าว

และบอกเพิ่มเติมเกี่ยวกับประเด็นความเชื่อใจและความปลอดภัยว่า เรื่องการจัดการความเสี่ยง ในการควบคุมสถานการณ์วิกฤตนั้น บ้านเราทำได้ดีมากน้อยแค่ไหน เราสามารถควบคุมภาพลักษณ์ที่ดีได้อย่างไรบ้าง เพราะบางอย่างแม้เคยถูกสร้างไว้ดี แต่เมื่อมีเหตุให้ถูกทำลาย สิ่งดีๆ เหล่านั้นอาจหายไปได้อย่างรวดเร็ว จึงคิดว่าเรื่องเหล่านี้อาจเป็นประเด็นที่น่ากังวล

ดร.พิพัฒน์ กล่าวด้วยว่า ปัจจุบัน ทุกฝ่ายยอมรับ การท่องเที่ยว มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ แต่ตนมองว่า จะทำอย่างไรให้การสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวในวันนี้ ไม่ไปรบกวนความสามารถในการสร้างรายได้ ของคนเจนถัดไปด้วย

“รายได้จากการท่องเที่ยว เกิดจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อมต่างๆ หากมีการใช้มากเกินไป ย่อมทำให้ลูกหลานเราเหลือทรัพยากรน้อยลง กระทบการส่งผ่านทรัพยากรข้ามเจน ฉะนั้น ต้องมีการดูแลทรัพยากรที่ใช้ร่วมกัน การบริหารจัดการเกี่ยวกับการใช้ทรัพยากรการท่องเที่ยว จึงมีความจำเป็นอย่างมาก” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

และว่า การบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยว ได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ มิติที่ 1 คือบริหารจัดการทรัพยากรการท่องเที่ยวอย่างไร ไม่ให้เกิดต้นทุนที่หนักเกินไป และมิติที่ 2 เรื่องของความยั่งยืน ส่งต่อรุ่นสู่รุ่น

“ทุกวันนี้ เรานำทรัพยากรเข้ามาอยู่ในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจทำให้อุตสาหกรรมอื่นได้รับผลกระทบ ตัวอย่างที่เห็นชัดคือ เรื่องของแรงงาน ที่พากันเข้ามาในอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ จนมีการตั้งคำถามทำให้แรงงานในอุตสาหกรรมอื่นหายไปหรือเปล่า แต่สิ่งที่สำคัญมากกว่าคือ แรงงานที่เข้ามาในอุตสาหกรรมท่องเที่ยวนั้น สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่เศรษฐกิจได้มากน้อยแค่ไหน” ดร.พิพัฒน์ กล่าว

และว่าต่อเกี่ยวกับประเด็น การสร้างความเชื่อมโยงอุตสาหกรรมท่องเที่ยวกับอุตสาหกรรมอื่น เช่น คนดูซีรีส์เกาหลีแล้ว อยากกินบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปบ้าง

“อุตสาหกรรมการท่องเที่ยว สามารถเชื่อมโยง-เกี่ยวข้อง กับหลายอุตสาหกรรม ถ้าเราขายประสบการณ์ในการมาของนักท่องเที่ยว แล้วนำไปต่อยอดหรือเชื่อมโยงกับอุตสาหกรรมอื่นได้ เชื่อว่าจะสามารถสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นได้” ดร.พิพัฒน์ กล่าว