สปส.ลดเงินสมทบ ‘ผู้ประกันตน’ กว่า 7 แสนคนใน 12 จังหวัด หลังมติ ครม.ช่วยพื้นที่ประสบอุทกภัย

เมื่อวันที่ 22 มีนาคม พล.อ.ศิริชัย ดิษฐกุล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีคณะรัฐมนตรี(ครม.) ได้มีมติเห็นชอบประกาศกฎกระทรวงแรงงาน เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขให้ลดหย่อนการออกเงินสมทบของนายจ้าง และผู้ประกันตนในท้องที่ที่ประสบภัยพิบัติอย่างร้ายแรง พ.ศ. …. ว่า แม้ว่าปัจจุบันเหตุการณ์ภัยพิบัติ ได้ยุติแล้ว แต่ประกาศกระทรวงแรงงานดังกล่าว จะมีผลย้อนหลังไปตั้งแต่เดือนมกราคม 2560 ซึ่งมาตรการลดเงินสมทบตามประกาศกระทรวงแรงงานจะช่วยแบ่งเบาภาระและความเดือดร้อนให้นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ประกันตน โดยกำหนดให้ลดอัตราเงินสมทบในการส่งเงินเข้ากองทุนประกันสังคมประจำงวดเดือนมกราคม ถึงเดือนมีนาคม 2560 ซึ่งมีจังหวัดที่ได้รับผลกระทบ 12 จังหวัด คือ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช กระบี่ ตรัง พัทลุง สงขลา ยะลา ปัตตานี นราธิวาส ระนอง และประจวบคีรีขันธ์

นพ.สุรเดช วลีอิทธิกุล เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม(สปส.) กล่าวถึงขั้นตอนดำเนินการภายหลังมติ ครม.ดังกล่าว ว่า นายจ้าง ลูกจ้าง และผู้ประกันตน มาตรา 33 และ มาตรา 39 ใน 12 จังหวัดที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย จะได้รับการลดอัตราเงินสมทบลงในอัตราร้อยละ 2 โดยผู้ประกันตนมาตรา 33 จ่ายเพียง ร้อยละ 3 ของฐานเงินเดือน จากเดิมที่จ่ายร้อยละ 5 ต่อเดือน ส่วนผู้ประกันตนตามมาตรา 39 ส่งเงินสมทบในอัตราเดือนละ 280 บาท จากเดิมในอัตรา 432 บาท ทั้งนี้ ในส่วนของผู้ประกันตนมาตรา 33 ที่ผู้ประกอบการนายจ้างเป็นผู้นำส่ง สปส.จะมีหนังสือแจ้งให้มารับเงินคืน ขณะที่มาตรา 39 จะคืนให้เมื่อผู้ประกันตนมาติดต่อจ่ายเงินสมทบ หรือ หากลืมนำส่งเงินสมทบในงวดเดือนมีนาคม สปส.จะยกยอดเงินที่ต้องคืน เป็นส่งเงินสมทบต่อให้ทันที เพื่อป้องกันการขาดสิทธิ ทั้งนี้ สำหรับ 12 จังหวัดที่ประสบอุทกภัยนั้น มีสถานประกอบการ 36,350 แห่ง และผู้ประกันตนรวม กว่า 710,440 คน

 

ที่มา มติชนออนไลน์