ครม.ไฟเขียวสินเชื่อรอบใหม่ 1.5 หมื่นล้าน ช่วยเอสเอ็มอี 3,000 ราย ทำเงินหมุนเวียน 6.8 หมื่นล้าน

นายณัฐพร จาตุศรีพิทักษ์ ที่ปรึกษารมว.พาณิชย์ เปิดเผยว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบมาตรการให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ผ่านโครงการสินเชื่อ SMEs Transformation Loan ของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) วงเงินสินเชื่อ 15,000 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนดอกเบี้ยต่ำ สร้างความเข้มแข็งให้ผู้ประกอบการ และกระตุ้นการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจไทย โดยให้กู้รายละไม่เกิน 15 ล้านบาท ระยะเวลา 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% ต่อปีในช่วง 3 ปีแรก และปีที่ 4-7 คิดอัตราดอกเบี้ยเอ็มแอลอาร์ตามที่ธพว.กำหนด โดยรัฐบาลชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้ 2% ใน 3 ปีแรก

สำหรับกลุ่มเป้าหมายของโครงการแยกเป็นดังนี้คือ ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่เป็นนิติบุคคล ทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่ ประกอบด้วย ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบทางด้านเศรษฐกิจและมีปัญหาด้านสภาพคล่อง, ผู้ประกอบการใหม่ (สตาร์ตอัพ) หรือผู้ประกอบการที่มีนวัตกรรม และผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่มีศักยภาพ หรือมีแนวโน้มเติบโตเข้าสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 และเอสเอ็มอี 4.0 เช่น เอสเอ็มอีในกลุ่มธุรกิจนิวเอสเคิร์ฟและเอสเอ็มอีที่ส่งออกหรือขยายธุรกิจในต่างประเทศ ขณะเดียวกันจะต้องไม่เป็นลูกหนี้ที่โอนหนี้หรือรีไฟแนนซ์มาจากสถาบันการเงินอื่น และเมื่อรวมกับสินเชื่อจากสถาบันการเงินอื่นต้องรวมแล้วไม่เกิน 100 ล้านบาท ณ วันยื่นขอสินเชื่อ

อย่างไรก็ตาม ทางธพว. ขอเวลา 1 เดือนนับจากวันที่ครม. อนุมัติโครงการ เพื่อจัดระบบบริหารจัดการก่อนที่จะเปิดให้เอสเอ็มอียื่นขอสินเชื่อ โดยมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดการยื่นขอสินเชื่อ ภายใน 12 เดือน นับจากวันที่ครม. อนุมัติโครงการหรือจนกว่าจะเต็มวงเงิน ซึ่งทางบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) จะค้ำประกันสินเชื่อตามโครงการให้เอสเอ็มอี

ขณะเดียวกันจะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องใช้เงินงบประมาณจากรัฐบาลมาดำเนินการรวม 2,250 ล้านบาท ประกอบด้วย การชดเชยอัตราดอกเบี้ยให้แก่ธพว.จำนวน 900 ล้านบาท, ชดเชยค่าธรรมเนียมค้ำประกันให้แก่บสย.จำนวน 487.50 ล้านบาท และชดเชยการจ่ายค่าประกันชดเชยให้แก่บสย. ในส่วนต่างระหว่างค่าประกันชดเชยกับค่าธรรมเนียมที่ได้รับจำนวน 862.50 ล้านบาท

ทั้งนี้ คาดว่าจะช่วยให้เอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ประมาณ 3,000 ราย หรือปล่อยสินเชื่อเฉลี่ยรายละ 5 ล้านบาท รักษาการจ้างงานได้ไม่น้อยกว่า 24,000 คน และสร้างเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจได้ประมาณ 68,700 ล้านบาท

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์