ดื่มแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัม ประกันภัยไม่คุ้มครองชีวิต-ทรัพย์สินผู้ขับขี่ ดีเดย์ 1 มิ.ย.60

นายสุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันอุบัติเหตุบนถนนในไทยมีสถิติผู้เสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 1 ในภูมิภาคอาเซียน และสาเหตุการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ที่พบอันดับต้นๆ คือการเมาแล้วขับ เนื่องจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์มีฤทธิ์ทำให้ความสามารถในการขับขี่ลดลง ที่ผ่านมาได้ร่วมมือกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหลายฝ่ายเห็นตรงกันว่า ลำพังมาตรการเดิมๆ ที่เคยใช้รณรงค์ลดอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลวันหยุดเพียงอย่างเดียวนั้นไม่สามารถลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ จำเป็นต้องมีมาตรการใหม่ๆ หนึ่งในนั้นคือการใช้มาตรการทางด้านประกันภัย

ประกอบกับได้เปิดรับฟังความคิดเห็นทุกภาคส่วนแล้ว สำนักงาน คปภ.เห็นว่าการปรับแก้ข้อยกเว้นในกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์เรื่องลดปริมาณแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการจราจรทางบกกำหนดจะเป็นผลดีต่อประชาชนมากกว่า ดังนั้น ตนในฐานะนายทะเบียนอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 29 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ.2535 โดยออกคำสั่งนายทะเบียนที่ 11/2560 เรื่องให้แก้ไขแบบ ข้อความกรมธรรม์ประกันภัย และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัย ถือเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนมาตรการส่งเสริมความปลอดภัยทางถนน และเสริมสร้างวินัยจราจรแก่ประชาชน

โดยเป็นการปรับแก้ข้อยกเว้นตามคำสั่งนายทะเบียนที่ 22/2551 ลงวันที่ 29 กันยายน พ.ศ.2551 ข้อ 2 และ ข้อ 3 (เดิม) “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเส้นเลือดไม่น้อยกว่า 150 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์” สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์และเอกสารแนบท้ายของกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ที่บริษัทได้รับความเห็นชอบจากนายทะเบียน แก้ไขข้อความเป็น “การขับขี่โดยบุคคลซึ่งในขณะขับขี่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งเป็นไปตามกฎกระทรวงฉบับที่ 16 (พ.ศ. 2537) ออกตามความในพระราชบัญญัติจราจรทางบก พ.ศ.2522 กำหนดให้ถือว่า “เมาสุรา” ซึ่งคำสั่งนี้ให้มีผลใช้บังคับสำหรับการทำสัญญาประกันภัยกับบริษัทประกันภัยตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน 2560 เป็นต้นไป

สำหรับสาระสำคัญคือ กรณีที่ผู้ขับขี่รถเอาประกันภัยภาคสมัครใจมีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ประสบอุบัติเหตุจะไม่ได้รับความคุ้มครองทั้งชีวิตและทรัพย์สินจากกรมธรรม์ แต่ผู้ประสบภัยหรือบุคคลภายนอกที่ได้รับความเสียหายจากรถคันที่เอาประกันภัยดังกล่าวยังคงได้รับความคุ้มครอง โดยบริษัทประกันภัยของรถคันที่เอาประกันภัยฝ่ายผิดจะต้องให้ความคุ้มครองชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับผู้ที่ได้รับความเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน โดยบริษัทประกันภัยจะไปไล่เบี้ยเรียกคืนค่าสินไหมทดแทนที่บริษัทจ่ายไปจากผู้ขับขี่ที่มีปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเกินกว่า 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ต่อไป