ลมแดด คร่าชีวิต อภัยภูเบศร แนะนำใช้ สมุนไพรลดโรคมากับความร้อน

ลมแดด คร่าชีวิต อภัยภูเบศร แนะนำใช้ สมุนไพรลดโรคมากับความร้อน

ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม – 1 เมษายนนี้ มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ร่วมจัดงานเทศกาลเที่ยวเมืองไทย 2567 ครั้งที่ 42 ณ ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ กรุงเทพฯ จัดโดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) เพื่อเตรียมวางแผนท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลสงกรานต์ เทศกาลแห่งความสุข และเป็นปีแรกที่จะได้เฉลิมฉลองในโอกาสที่ยูเนสโกขึ้นทะเบียน “สงกรานต์” เป็นมรดกโลก

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวว่า ปีนี้มูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร อยู่ในโซนภาคตะวันออก โดยได้จัดกิจกรรมภายในพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง ที่ได้ถูกออกแบบไว้อย่างสวยงาม เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้มาเยี่ยมชม ถ่ายภาพ

บู๊ธในงานปีนี้

และร่วมกิจกรรมที่เน้นไฮไลต์สมุนไพรไทย ภูมิปัญญาไทย มีไว้เพื่อรับมือกับโลกร้อน ประกอบด้วย เมนูอาหารที่ให้ร่างกายชุ่มชื้น อาหารต้านอนุมูลอิสระ เมนูอาหารจากดอกไม้ รวมไปถึง หัตถการดูแลสุขภาพในช่วงอากาศร้อน

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ กล่าวอีกว่า โรคที่น่ากังวลในช่วงฤดูร้อนคือ ลมแดด หรือ Heatstroke ที่คร่าชีวิตผู้คนเป็นจำนวนมาก จากสถิติกรมการแพทย์พบ 7 ปี มีคนไทยเสียชีวิตจากโรคดังกล่าว 234 คน หรือปีละ 33 คน มากกว่านั้นคือ การสะสมความร้อนในร่างกายที่มากเกินไปอย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดภาวะการอักเสบเรื้อรังในร่างกายและส่งผลให้เกิดการเจ็บป่วยในอนาคตได้

ดังนั้น การป้องกันด้วยการนำองค์ความรู้ดั้งเดิม กินอยู่อย่างไทย มาใช้ร่วมกับผลการศึกษาวิจัยทางวิทยาศาสตร์ จะเป็นทางรอดต่อการดำรงชีวิตในภาวะที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ และจากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ประชาชนกลุ่มเสี่ยงที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษคือ เด็ก ผู้ที่มีร่างกายไม่แข็งแรง ผู้พิการ นักกีฬา หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ คนไร้บ้าน ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง

ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร

เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร กล่าวถึงการป้องกันและจัดการผลกระทบต่อสุขภาพจากความร้อน ตามภูมิปัญญาดั้งเดิมว่า ความร้อนที่สะสมในร่างกาย ทำให้เกิดการสูญเสียระบายความร้อน ส่งผลให้ไฟกำเริบ กระทบต่อจิตใจ ทำให้เกิดอารมณ์ฉุนเฉียว นอนไม่หลับ ความดันโลหิตสูงขึ้น กระทบต่อกลไกการควบคุมความร้อนของตับเสียสมดุล

อาจมีอาการร้อนในได้ง่ายขึ้น อ่อนเพลีย เบื่ออาหาร นอนไม่หลับ นอกจากนี้ ยังกระทบต่อสมอง ทำให้เกิดอาการปวดหัว หน้ามืด วิงเวียน สมุนไพรที่จะนำมาส่งเสริมกลไกขับความร้อนของร่างกายให้ทำงานได้ปกติได้แก่ ยาหอมเทพจิตร ดื่มน้ำลอยมะลิ น้ำใบบัวบก น้ำย่านาง น้ำมะพร้าว น้ำตรีผลา ลดอารมณ์ฉุนเฉียว

รับประทานอาหารรสขม ยาเขียวหอมในช่วง 10.00 น. หรือ 14.00 น. หลีกเลี่ยงของมันของทอดเพื่อควบคุมความร้อนในตับ และใช้ยาหอมทิพโอสถ กินอาหารที่มีฤทธิ์เย็น พอกยา พอกหน้า ใช้แป้งเย็น สระยาเย็น ยาอาบ ยาแช่ เพื่อลดอาการปวดหัว หน้ามืด และวิงเวียน

สนใจ

นอกจากนี้ ยังใช้อาหารเป็นตัวช่วย ซึ่ง ภญ.ดร.สุภาภรณ์ ได้ให้หลักในการนำสมุนไพรมาใช้ดูแลตัวเองในช่วงที่มีอากาศร้อนว่า อาบน้ำ เช็ดตัวหรือใช้แป้งร่ำ หรือพ่นด้วยสเปรย์รางจืด กินตำรับตรีผลา กินอาหารรสเย็น เช่น รางจืด ฟักแฟง แตงโม แตงกวา น้ำเต้า หรือใช้เมนูอาหาร ยำดอกแค ซุปฟักข้าว ข้าวแช่น้ำลอยดอกมะลิ เป็นต้น

กินอาหารที่ทำให้ร่างกายชุ่มชื่น เช่น กระเจี๊ยบแดง แตงโม ฟักแฟง ส่วนเมนูที่แนะนำคือ แตงโมหน้าปลาแห้ง สมูทตี้ดับกระหายคลายร้อน ต้มฟักใส่ไก่สับดอกบัวสาย กินอาหารรสเผ็ดร้อนให้เหงื่อออก จะช่วยระบายความร้อนที่สะสมอยู่ในร่างกาย และยังสามารถเสริมอาหารและเครื่องดื่มสมุนไพรที่ช่วยต้านอนุมูลอิสระลดการอักเสบ เช่น ขิง ขมิ้นชัน มะขามป้อม เป็นต้น

ของดี

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายในบูธของอภัยภูเบศร ยังมีการแนะนำอาหารจากดอกไม้และสมุนไพรเพื่อคลายร้อน พร้อมแจกสูตรฟรี อาทิ ยำดอกไม้น้ำปลาหวาน ยำดอกกุหลาบ แกงส้มผักปลัง ข้าวยำปักษ์ใต้ เมี่ยงคำกลีบบัว แกงจืดไข่น้ำดอกเล็บมือนาง ซุปดอกกระเจียว ข้าวแช่น้ำลอยดอกมะลิ ลาบดอกบัว ฯลฯ

ผู้สนใจสามารถเข้าเยี่ยมชมบูธอภัยภูเบศรได้ในโซนภาคตะวันออก มีจุดสังเกตคือพิพิธภัณฑ์พระจุฑาธุชราชฐาน เกาะสีชัง โดยจะมีผู้เชี่ยวชาญคอยแนะนำและให้บริการตลอดกิจกรรม โดยงานจะมีไปถึงวันที่ 1 เมษายนนี้