ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันศุกร์ (17 มีนาคม) ว่า ทีมนักวิทยาศาสตร์ชาวอาร์เจนตินาและบราซิลประจำพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาเบอร์นาดิโนริวาเดวา ในกรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา เปิดเผยการค้นพบกบเรืองแสงเองตามธรรมชาติครั้งแรก ซึ่งพวกเขาพบโดยบังเอิญในประเทศอาร์เจนตินาเมื่อเร็วๆ นี้ในระหว่างกำลังศึกษาสารกำเนิดสีที่มาจากกระบวนการเผาผลาญอาหารในกบ 3 สายพันธุ์ที่พบโดยทั่วไปในอเมริกาใต้ ทั้งนี้ ภายใต้แสงปกติ ผิวหนังใสๆ ของกบเรืองแสงที่พบจะเป็นสีน้ำตาลเหลืองและมีลายจุดสีแดง แต่เมื่อนักวิทยาศาสตร์ฉายแสงอัลตราไวไอเล็ตเข้าไป สีผิวของกบดังกล่าวกลับเรืองแสงสีเขียวสดใสขึ้นมาในทันที
นายคาร์ลอส ทาบัวดา หนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ชี้ว่า กรณีที่พบนี้ถือเป็นครั้งแรกในวงการวิทยาศาสตร์ที่พบกบเรืองแสงตามธรรมชาติ ส่วนจูเลียน เฟโววิช นักวิทยาศาสตร์ร่วมทีมเผยว่า เราตื่นเต้นมาก การค้นพบครั้งนี้ได้ทำให้ความรับรู้เข้าใจเกี่ยวกับการเรืองแสงในสภาพแวดล้อมของโลกที่เรามีอยู่เปลี่ยนไปมาก ทำให้เกิดการยอมรับว่าสารประกอบใหม่ของการเรืองแสงที่พบอาจมีความสัมพันธ์ทางหลักวิทยาศาสตร์หรือเทคโนโลยี และยังทำให้เกิดคำถามใหม่ๆ เกี่ยวกับการสื่อสารในการมองเห็นของสัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำด้วย
ทั้งนี้ ทีมนักวิทยาศาสตร์ได้ทำการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างมากกว่า 200 กลุ่มเพื่อความมั่นใจว่าปรากฎการณ์ที่พบไม่ได้เป็นผลจากการถูกขังของกบ และยังพบคุณลักษณะการเรืองแสงนี้ในกบทุกสายพันธุ์