ที่มา | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 5 กันยายน ที่อิมแพค ฟอรั่ม เมืองทองธานี ม.ล.ปุณฑริก สมิติ ปลัดกระทรวงแรงงาน และประธานกรรมการประกันสังคม เป็นประธานเปิดการประชุมวิชาการประกันสังคม ประจำปี 2559 โดยมีผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม (สปส.) ให้การต้อนรับ
นางพรพรรณ ศุภนคร รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวว่า กองทุนประกันสังคมเป็นกองทุนขนาดใหญ่ แต่ปัญหาของกองทุน และเป็นข้อกังวลของผู้ประกันตน คือ กองทุนบำนาญชราภาพ โดยเริ่มใช้มาตั้งแต่ปี 2542 เก็บเงินสมทบลูกจ้างมาร้อยละ 3 ของเงินเดือนไม่เกิน 15,000 บาท ปัจจุบันผ่านมา 17 ปี ประกันสังคมเริ่มจ่ายบำนาญมาตั้งแต่ปี 2557 โดยปีแรกมีคนรับบำนาญประมาณ 20,000 คน และเพิ่มขึ้นมาตลอด โดยปี 2558 ที่ผ่านมาเพิ่มเกือบ 3 เท่าตัวเป็น 60,000 คน และล่าสุดในปีนี้ยังไม่ครบปีเพิ่มเป็นแสนคนแล้ว และอีกไม่ถึง 10 ปีคนรับบำนาญจะเป็นหลักล้านคน ดังนั้น จึงต้องมาคิดว่าจะรับมืออย่างไร
นางพรพรรณ กล่าวอีกว่า สปส.จึงมี 3 แนวทางปฏิรูป คือ แนวทางปฏิรูปที่ 1.การขยายอายุเกษียณจากปัจจุบัน 55 ปี เป็น 60 ปี แต่การจะได้รับเงินบำนาญต้องจ่ายเงินสมทบ 180 วัน จึงจะได้เงินบำนาญ แต่หากจ่ายไม่ครบกำหนดจะได้เป็นเงินบำเหน็จแทน อย่างไรก็ตาม กรณีการขยายอายุเกษียณนั้น ในกลุ่มใกล้ 55 ปีอาจไม่เห็นด้วย เนื่องจากกลุ่มนี้มีการวางแผนแล้วว่า เมื่อเกษียณจะรับเงินเพื่อไปใช้ต่อหรือเก็บออม จึงอาจต้องมีการหารือว่า หากสุดท้ายจะขยายอายุเกษียณจริงๆ อาจเป็นแบบขั้นบันได กล่าวคือ เริ่มจาก 55 ปี 57 ปี ไปจนถึง 60 ปีก็เป็นได้ แนวทางปฏิรูปที่ 2 การปรับฐานเพดานอัตราเงินเดือนในการคำนวณสูตรของกองทุนประกันสังคม ปัจจุบันเพดานเงินเดือนที่นำมาคำนวณสูงสุดอยู่ที่ 15,000 บาท และต่ำสุดอยู่ที่ 1,650 บาท ซึ่งอยู่ระหว่างพิจารณาว่าจะปรับเพิ่มเท่าไร เบื้องต้นสูงสุดอาจเป็น 20,000 บาท และต่ำสุดอาจเป็น 3,600 บาท หรือ 4,800 บาท และแนวทางปฏิรูปที่ 3 สูตรการคำนวนเงินบำนาญ ปัจจุบันใช้สูตร 5 ปีสุดท้ายก่อนออกจากงานนำมาคิดคำนวณ แต่ล่าสุดอาจเปลี่ยนวิธีเป็นการใช้ตัวเลขค่าเฉลี่ยตลอดอายุการทำงานทั้งหมด ซึ่งจะทำให้ได้เงินบำนาญมากขึ้น
“ทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุป เป็นเพียงแนวทางปฏิรูปที่มีการพิจารณาไว้ แต่ต้องหารือกับผู้ประกันตน หน่วยงานที่เกี่ยวข้องว่าเห็นด้วยหรือไม่ และมีข้อเสนอใดเพิ่มเติม ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จและเริ่มดำเนินการได้ภายในเดือนมิถุนายน 2560” รองเลขาธิการ สปส.กล่าว
ผู้สื่อข่าวถามว่ามีแนวคิดในการเพิ่มสัดส่วน เงินสมทบของกองทุนบำนาญชราภาพด้วยหรือไม่ นางพรพรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันเก็บสัดส่วนสำหรับกองทุนชราภาพอยู่ที่ร้อยละ 3 ในอนาคตอาจปรับเปลี่ยนเป็นร้อยละ 5 แต่ทั้งหมดยังไม่ได้ข้อสรุป ต้องรอการหารือจากทุกฝ่ายก่อน
นายนูโน มีรา ไซมอส คุนฮา ผู้แทนองค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือไอแอลโอ (ILO) กล่าวว่า จริงๆ มองว่ากองทุนประกันสังคมอยู่ได้ เพียงแต่ต้องมีการเพิ่มเงินสมทบ และขยายอายุเกษียณ แต่ต้องค่อยเป็นค่อยไป และควรมีการกำหนดเป็นกฎหมายล่วงหน้า เพื่อให้ผู้ประกันตนเตรียมพร้อม นอกจากนี้ เป็นไปได้หรือไม่ที่สิทธิการรักษาพยาบาลของผู้ประกันตนจะไปอยู่ในระบบหลัก ประกันสุขภาพถ้วนหน้า ของกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติหรือบัตรทอง ส่วนเงินสมทบที่จ่ายเข้ากองทุนรักษาพยาบาลอาจย้ายไปใช้ในกองทุนอื่นๆ อย่างบำนาญชราภาพ