พัฒนาผลิตยีสต์ในไทย หวังลดนำเข้า 400 ล้านบาท/ปี

นายประพนธ์ วงษ์ท่าเรือ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดสัมมนา “ทิศทางการส่งเสริมการใช้และการผลิตเอทานอล” ว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการใช้เอทานอลอยู่ที่ 3.7 ล้านลิตร/วัน ในปี 2559 จากกำลังผลิตรวม 4.7 ล้านลิตร/วัน และตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (เออีดีพี) ปริมาณการใช้เอทานอลจะอยู่ที่ 11.3 ล้านลิตร/วัน ซึ่งการผลิตเอทานอลต้องมีการนำเข้ายีสต์ซึ่งเป็นส่วนผสมหลักทำให้ต้นทุนในการผลิตแพง โดยปัจจุบันโรงงานที่ผลิตเอทานอลในประเทศไทยทั้งหมด 20 โรงงาน แต่ละโรงมีต้นทุนการนำเข้ายีสต์ 20 ล้านบาท/ปี รวม 20 โรงงาน เป็นมูลค่ากว่า 400 ล้านบาท/ปี พพ.จึงได้ร่วมมือกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) เพื่อสนับสนุนวิจัยและพัฒนาการผลิตยีสต์ในประเทศไทย เพื่อเป็นตัวช่วยให้ต้นทุนเอทานอลถูกลง โดยกระบวนการศึกษาดังกล่าวจะทำให้ต้นทุนในกระบวนการผลิตลดลงประมาณ 70-80 สตางค์/ลิตร หากคิดเป็นราคาแก๊สโซฮอล์ที่ขายหน้าสถานีบริการจะลดลงประมาณ 6 สตางค์/ลิตร

“กระบวนการวิจัยพัฒนาดังกล่าวมีการทดลองกับโรงงานผลิตเอทานอลขนาด 300 ลิตร/วัน โดยได้รับการสนับสนุนเงินวิจัยจากกองทุนส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน รวมกว่า 7.9 ล้านบาท เบื้องต้นมีผู้ค้าน้ำมันบางรายสนใจในการวิจัยครั้งนี้ด้วย ในระยะต่อไปจะมีการเชิญชวนเอกชนรายใหญ่ที่มีกำลังผลิตเอทานอลขนาดกว่า 100,000 ลิตร/วัน เข้าร่วมและหารือต่อยอดเชิงพาณิชย์ โดยคาดว่าจะเริ่มทำรายละเอียดโครงการได้ในเดือนตุลาคม 2560 นี้” นายประพนธ์กล่าว