“กรมชลฯ”วอนเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยาพักทำนารอบ3-หลังพบทำนาปรังเกินแผนไปแล้วกว่า2เท่า

นายสัญชัย เกตุวรชัย อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำในเขื่อนขนาดใหญ่และขนาดกลางทั้งประเทศว่า มีปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำรวมกันทั้งสิ้น 45,673 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) คิดเป็น 61% ของความจุอ่างฯรวมทั้งหมด และมีปริมาณน้ำใช้การได้ 21,854 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 43% ของความจุอ่างฯรวมกัน ซึ่งมีปริมาณน้ำมากกว่าปี 2559 ที่ผ่านมา และสำหรับสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบัน ปริมาณน้ำใน 4 เขื่อนหลัก ทั้งเขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้รวมกัน 6,624 ล้านลบ.ม. คิดเป็น 36% ของปริมาณน้ำใช้การ

นายสัญชัยกล่าวว่า สำหรับผลการจัดสรรน้ำฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา กรมชลประทานได้วางแผนจัดสรรน้ำเพื่อสนับสนุนการใช้น้ำในช่วงฤดูแล้งรวมทั้งสิ้น 5,950 ล้านลบ.ม. ซึ่งในขณะนี้มีการใช้น้ำไปแล้ว 4,694 ล้านลบ.ม. หรือคิดเป็น 79% ของแผนการจัดสรรน้ำฯ มากกว่าแผนที่วางไว้ รวม 490 ล้านลบ.ม. และในส่วนของการเพาะปลูกพืชฤดูแล้งในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมีการทำนาปรังไปแล้ว 5.35 ล้านไร่ มากกว่าแผนที่วางไว้ 2.68 ล้านไร่ จากแผนการเพาะปลูกข้าวนาปรังลุ่มน้ำเจ้าพระยากำหนดไว้ 2.67 ล้านไร่

“จะเห็นได้ว่าพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยา เกินแผนไปแล้วกว่า 2 เท่า ทำให้มีการดึงน้ำจากภาคอื่นๆ ไปใช้ทำการเพาะปลูกมากขึ้น หากยังมีการเพิ่มพื้นที่เพาะปลูกจะกระทบต่อปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่อย่างจำกัด และอาจทำให้ผลผลิตเสียหายจากภาวะขาดแคลนน้ำได้ จึงขอให้เกษตรกรในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา พักการทำนารอบที่ 3(นาปรังรอบที่ 2) โดยขอให้อดใจรอไปทำนาปีพร้อมกันในช่วงต้นฤดูฝนหน้าที่จะถึงนี้ และขอให้ทุกภาคส่วนรณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างประหยัดและเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ไปจนถึงต้นฤดูฝนหน้าด้วย” นายสัญชัยกล่าว

นายสัญชัยกล่าวว่า นอกจากนี้กรมชลประทานยังได้เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ภัยแล้งที่จะเกิดขึ้น โดยการจัดเตรียมรถบรรทุกน้ำและเครื่องสูบน้ำ กระจายอยู่ในพื้นที่โครงการชลประทานทั่วประเทศ สำหรับรถบรรทุกน้ำเตรียมไว้ 295 คัน แบ่งเป็นภาคเหนือ 55 คัน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ (อีสาน) 90 คัน ภาคกลางรวมภาคตะวันออกและตะวันตก 114 คัน และภาคใต้ 36 คัน และได้ออกปฏิบัติไปการแล้ว 33 คัน สำหรับเครื่องสูบน้ำได้จัดเตรียมไว้ทั้งสิ้น 1,900 เครื่อง แบ่งเป็นภาคเหนือ 280 เครื่อง ภาคอีสาน 374 เครื่อง ภาคกลางรวมภาคตะวันออกและตะวันตก 395 เครื่อง ภาคใต้ 191 เครื่อง และสำรองไว้ที่ส่วนกลางอีก 660 เครื่อง โดยปัจจุบันมีเครื่องสูบน้ำออกปฏิบัติการแล้ว 206 เครื่อง

 

ที่มา มติชนออนไลน์