ปลูกกุหลาบมอญ แบบอินทรีย์ แปรรูปทำชากุหลาบขายเพิ่มมูลค่า กิโลกรัมละ 3,000-4,000 บาท

เพื่อนรุ่นน้องบอกว่า เขาไปปลูกผักสลัดที่ใกล้ๆ สวนกุหลาบ

“ปลูกสลัดที่ใกล้สวนกุหลาบจะปลอดภัยได้อย่างไร กุหลาบใช้ยาเยอะมาก”

“เป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์พี่ ได้ใบรับรองเกษตรอินทรีย์ด้วย” เขาบอก

“อาวเหรอ พี่เคยอยู่ใกล้ๆ สวนกุหลาบติดริมแม่น้ำปิง ใช้ยาเยอะมาก แรกๆ ดีใจมากอยู่ใกล้สวนกุหลาบ แต่ที่ไหนได้มีแต่กลิ่นยาฟุ้ง ไร้สุขมาก จนต้องย้ายเลย”

“ที่นี่เขาปลูกแบบอินทรีย์พี่ ไปไหมพาไปดู ไปเก็บผักมากินด้วย”

“จะรออยู่ทำไมเล่า ไปกันเลยสิ…”

เรื่องแบบนี้ฉันไม่ช้าอยู่แล้ว

สวนกุหลาบอยู่ไม่ไกลจากกาดทุ่งฟ้าบด หรือกาดวัว เป็นตลาดวันเสาร์ที่ใหญ่ที่สุดในเชียงใหม่ มีขายทุกอย่าง เราเข้าซอยไปประมาณกิโลเมตรกว่าๆ มีสวนกุหลาบซ่อนอยู่ตรงนี้จริงๆ สันป่าตองไม่ได้มีแค่ข้าวเหนียวสันป่าตองเท่านั้น มีกุหลาบสันป่าตองด้วย

กุหลาบมอญสีแดง สีชมพู กลิ่นหอมชื่นใจที่สุด กลิ่นหอมสะอาดจากกุหลาบเป็นอย่างนี้เอง

“ถ้าพี่รู้ว่ามีสวนกุหลาบอินทรีย์อยู่ตรงนี้พี่มานานแล้ว พี่คิดว่าเป็นสวนกุหลาบธรรมดา”

ผักสลัดถูกลืมไปเลยเมื่อมาเจอสวนกุหลาบ โชคดีได้พบเจ้าของสวนด้วย ลุงเสริฐ (ประเสริฐ สมโณ) แกเพิ่งเก็บกุหลาบเสร็จใหม่ๆ

ลุงเสริฐ เจ้าของสวนกุหลาบอินทรีย์

นั่งชมกุหลาบแล้วก็คุยกับเจ้าของสวน

ลุงเล่าว่า สมัยบรรพบุรุษมีผืนดินเป็นที่นา 33 ไร่ เมื่อ 7 ปีที่แล้ว ลูกสาวจบมาจากออสเตรเลีย เขาเริ่มมีความคิดว่า ปรับเป็นสวน เราก็คิดไว้แล้ว เมื่อก่อนก็ปลูกเป็นไร่นาผสมผสาน แต่เขาปรับเป็นสวนแล้วก็ทำเป็นพื้นที่เกษตรอินทรีย์ ก็เพื่อสุขภาพเราด้วย

ตอนนั้นเจ้าหน้าที่จากกรมวิชาการเกษตรมาตรวจเอาดินไปตรวจ ไม่ให้สารเคมีจากพื้นที่ใกล้เคียงมารบกวน ตรวจหลายครั้ง แล้วเขาก็ให้ใบอนุญาตเป็นสวนเกษตรอินทรีย์ จดทะเบียน บริษัท แฮนด์ฮาร์เวท จำกัด เก็บเกี่ยวด้วยมือ  เพราะฉะนั้นที่นี่ก็เป็นอินทรีย์ เป็นอินทรีย์ทั้งหมด ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ ห้ามใช้ยาฆ่าแมลง

ตอนแรกก็ปลูก มะลิ จำปา จำปี กุหลาบ ปลูกกล้วย ลูกสาวเอาดอกกุลาบมาทำเป็นชาขาย sarana rose ส่งไปทั่ว  ตอนนี้เขาเป็นอาจารย์อยู่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ภาควิชาพืชศาสตร์ พืชสวน ดร. สรณะ สมโน…มีที่มาที่ไปอย่างนี้” ลุงเสริฐกล่าวยิ้มๆ ชี้มือไปรอบ

“พื้นที่ปลูกกุหลาบตอนนี้เหลือแค่นี้ เมื่อก่อนปลูกเยอะ เติมพื้นที่นี้เลย ตอนแรกก็ปลูก มะลิ จำปา จำปี กุหลาบ  ปลูกกล้วย เมื่อก่อนปลูกมากกว่านี้ แต่จ้างคนไม่คุ้ม เหลือแค่นี้เอาแค่สบายใจ ไม่ไปไหนก็ลงสวนทุกวัน นอกจากไปงานสังคมบ้าง”

กุหลาบมอญเหมาะสำหรับการทำชา

ที่นี่ปลูกกุหลาบมอญต้นใหญ่ ดอกขนาดกลาง สีแดงสด มีชมพูเล็กน้อย เมื่อเก็บดอกลุงจะเด็ดด้วยมือ แค่ติดก้านดอกเท่านั้น ส่วนกิ่งนั้นค่อยตกแต่งเอาภายหลัง เก็บวันเว้นวัน เพื่อเอาไปทำชากุหลาบด้วยวิธีอบ มีโรงงานอบ

“ของดี ตรงเกสรเป็นส่วนสำคัญ ช่วยให้สดชื่นไม่แก่เร็ว” ลุงว่า

“ไม่แก่เร็ว อ้าว! น่าสนใจ” เพื่อนที่ยืนอยู่ใกล้ๆ อุทานออกมาคำแรกและเริ่มสนใจทันที ผู้หญิงใครก็ไม่อยากแก่เร็ว

ประโยชน์ของชากุหลาบนั้นมีเยอะมากเท่าที่ฉันไปค้นเพิ่มเติมมาได้ มีดังนี้

บำรุงหัวใจ แก้อาการอ่อนเพลีย

ช่วยลดคอเลสเตอรอล ลดระดับความดันในเลือด ลดความเสี่ยงเรื่องเส้นเลือดหัวใจอุดตัน มีวิตามินซีสูง ปรับสมดุลในร่างกาย ชะล้างสารพิษ ดื่มต่อเนื่องทำให้ดูอ่อนเยาว์ขึ้น ดอกแห้ง กลีบก็เป็นยาระบายอ่อนๆ ด้วย

โอ…มหาศาลอย่างนี้ ต้องเอาไปทำชาสักกิโล ลุงใจดีชวนไปเก็บทันใด ฉันรู้สึกอยากปลูกกุหลาบมอญเพื่อทำชาขึ้นมาทันทีทันใด ยิ่งรู้ว่า ชากุหลาบราคากิโลละสามถึงสี่พันบาท ยิ่งมีแรงบันดาลใจ

นอกจากได้ขายแล้วดีต่อสุขภาพ ถ้าปลูกเองกินเองเราจะได้กินดังใจ

มีคำถามว่า ถ้าไม่มีที่อบแล้วจะทำอย่างไร มีหนทางค่ะ ไปสืบเสาะแสวงหามาแล้วบอกต่อเลย

ตากแดดอ่อนๆ อย่าให้โดนแดดแรง ตากสักแปดถึงสิบชั่วโมง แล้วเก็บไว้ในที่อากาศเข้าไม่ได้ อีกวิธีหนึ่งใส่ผ้าตาข่ายแบบผ้าขาวบาง ผูกปากถุงแล้วห้อยไว้ไม่ต้องให้ถูกแดด เอาไว้ในที่ซึ่งกลิ่นอื่นเข้าไปรบกวนไม่ได้ ไม่อย่างนั้นเราจะได้กลิ่นอื่นๆ เข้าไปด้วย

กลับมาจากสวนลุงเสริฐ ได้กุหลาบมาถาดหนึ่ง ลองทำทั้งสองวิธี ใส่ถาดตากแดดอ่อนแปดชั่วโมง กับใส่ผ้าตาข่ายเล็กๆ แบบผ้าขาวบางห้อยไว้ สองสามดอกต่อหนึ่งถุง ปรากฏว่าแบบห่อผ้าขาวบางห้อยจะได้กลิ่นหอมกว่า จึงคิดว่าจะทำแบบนี้ต่อไปล่ะ

หรือจะใช้วิธีตุ๋นเอาน้ำมาดื่มแบบสดๆ ก็ได้เหมือนกัน วิธีการไม่ยุ่งยากอะไร เอากลีบดอกล้างน้ำให้ฝุ่นออกไปก่อนสักนิด น้ำสะอาดใส่หม้อสะอาดที่ไม่มีกลิ่นแกงใดๆ ใช้หม้อเฉพาะทำน้ำกุหลาบไม่ปนกับอย่างอื่น ใบเล็กๆ ก็ได้ ฉันเคยเห็นที่ร้านสายหมอกกับดอกไม้ เขาใช้หม้อดินใบเล็กๆ ใส่น้ำกับกลีบกุหลาบลงไป เปิดไฟให้เบาที่สุด และก็รอคอยเมื่อดอกไม้คลายสีออกหมดได้น้ำสีสวยแล้วก็เอามาดื่มได้ค่ะ

เอาละจบเรื่องกุหลาบสวยกินได้ ทำขายก็ได้ด้วย เป็นอาชีพทำของสวยๆ หอมๆ

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้าน