ธนาคารโลก แนะ3เส้นทาง นำไทยสู่การเติบโตทางเศรษฐกิจแบบยั่งยืน

นายลารส์ ซอนเดอร์การ์ด หัวหน้ากลุ่มงานด้านความยากจนและการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้  เปิดเผยรายงาน “การกลับสู่เส้นทาง : ฟื้นฟูการเติบโตและประกันความมั่งคั่งสำหรับทุกคน การวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาประเทศไทยอย่างเป็นระบบ ว่า จากนี้หากเศรษฐกิจไทยเติบโตเฉลี่ยปีละ 3.5% ต้องใช้เวลาอีกอย่างน้อย 20 ปี จึงก้าวสู่ประเทศที่มีรายได้สูง ซึ่งช่วงปี 2548-2558 เศรษฐกิจไทยชะลอตัวลงและเติบโตเหลือเฉลี่ยปีละ 3.3% และเติบโตช้ากว่าหลายประเทศในอาเซียน ต่างจากช่วงปี 2529-2539 ที่เติบโตเฉลี่ยปีละ 10%  ซึ่งมาจากการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม การเติบโตที่ต่างกันอย่างมากนี้ เพราะความได้เปรียบทางด้านขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย เช่น นวัตกรรม โครงสร้างพื้นฐาน สภาพแวดล้อมทางธุรกิจ การศึกษา ได้ถดถอยลงนับตั้งแต่ปี 2549-50 จนปี2558-59 ประเทศต่างๆ ที่เคยตามหลังไทยได้พัฒนาขึ้นมาทันไทย เช่น เวียดนาม มาเลเซีย โดยที่ไทยไม่ได้ใช้ความล้ำหน้าในอดีตให้เป็นประโยชน์

นอกจากนี้ ปี 2557 ไทยยังคงมีคนยากจนอยู่ 7 ล้านคน ซึ่งใช้จ่ายเพื่อการบริโภคต่ำกว่า 6.2 เหรียญสหรัฐฯต่อคนต่อวัน และอีก 6.7 ล้านคนมีความเสี่ยงจะกลับไปเป็นคนยากจนอีก หากเกิดเหตุไม่คาดฝัน ตกงาน และสูงอายุเพิ่มขึ้น โดยที่ผ่านมาการเติบโตทางเศรษฐกิจของไทยในระดับสูงช่วยลดอัตราความยากจนจาก 67% ในปี 2529 เหลือ 10.5% ในปี 2557 ดังนั้นปัจจัยสำคัญที่จะลดความยากจนจากนี้ คือ ราคาสินค้าเกษตรว่าจะเป็นอย่างไร เพราะคนจนเกี่ยวโยงกับภาคเกษตรจำนวนมาก หากราคาสินค้าเกษตรเพิ่มขึ้นอย่างในอดีตจะช่วยลดความยากจนได้ สังคมสูงวัยจะเป็นความท้าทายการเติบโตของเศรษฐกิจ คาดปี 2588 ผู้สูงอายุที่เพิ่มขึ้นกับคนในวัยทำงานจะลดลงเป็นจำนวนเท่าๆกัน ที่ 11 ล้านคน การเมืองที่ขาดเสถียรภาพและความตึงเครียดทางสังคม ซึ่งเป็นสิ่งที่นักลงทุนไม่ชอบและเป็นกังวล ส่งผลให้ชะลอลงทุนออกไป และช่องว่างระหว่างเมืองกับชนบทถ่างตัวมากขึ้น บางภูมิภาคที่ล้าหลังจะยิ่งล้าหลังมากขึ้น เช่น ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

” เพื่อสร้างการเติบโตแบบยั่งยืนของไทย  ต้องเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่องค์กรภาครัฐ ผ่าน 3 เส้นทางหลักได้แก่ 1.สร้างงานที่มีคุณภาพเพิ่มขึ้น  ด้วยการกระตุ้นการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านข้อตกลงการค้าเสรี ลดระเบียบข้อบังคับ และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรม 2.ให้การอุดหนุนให้ตรงเป้ากลุ่มประชากรที่จนที่สุด 40% ของประชากรไทยทั้งหมด ด้วยการพัฒนาคุณภาพการศึกษาทั้งระบบ เพิ่มทักษะของกำลังแรงงาน ดำเนินนโยบายที่เพิ่มผลิตภาพทางการเกษตร และสร้างระบบความคุ้มครองทางสังคมที่ฉลาด และมุ่งเน้นให้ความคุ้มครองแก่คนยากจน และ 3.ส่งเสริมการเติบโตที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการจัดการแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของไทย จัดการผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากการลงทุนภาครัฐขนาดใหญ่ ลดความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ส่งเสริมการใช้พลังงานที่มีประสิทธิภาพและสะอาด ทั้งนี้ไทยมีแผนยุทธศาสตร์ และแผนงานจำนวนมากเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าวและอยู่ระหว่างดำเนินการ เช่น การลงทะเบียนคนจน  สำคัญคือจะนำไปสู่การปฏิบัติได้อย่างไร” นายลารส์ กล่าว

นายอูลลิค ซาเกา ผู้อำนวยการธนาคารโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวว่า ขณะนี้ไทยยังไม่เข้าสู่ตามแนวทาง 3 เส้นทางหลักดังกล่าว ซึ่งรายงานที่นำเสนอจะเป็นไอเดีย เพื่อลดความยากจนและสร้างการเติบโตทางเศรษฐกิจ ขึ้นกับภาครัฐไทยจะนำไปปรับใช้อย่างไร ไม่ว่ารัฐบาลอยู่ในรูปแบบใด ก็ทำสิ่งดีๆให้กับประชาชนได้ เคยมีตัวอย่างจากหลายประเทศที่ว่าประเทศที่เป็นประชาธิปโตยก็ทำสิ่งไม่ดีกับประชาชนได้ และประเทศเผด็จการก็ทำสิ่งดีกับประชาชนได้ ไม่มีความสัมพันธ์กันกับความอยู่ดีกินดีของประชาชน ซึ่งไม่ขึ้นกับรูปแบบของรัฐบาล เชื่อว่าไทยมีโอกาสและศักยภาพที่จะกลับมาเติบโตเร็วขึ้นและมากขึ้นกว่าในอดีต

ที่มา มติชนออนไลน์