กระถางจากเศษใบไม้ นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม เตรียมขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ชุมชน

กระถางจากเศษใบไม้ นวัตกรรมสิ่งแวดล้อม เตรียมขึ้นแท่นผลิตภัณฑ์ชุมชน

รศ.ดร.ณัฏฐนียา โตรักษา ผู้อำนวยการโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวถึงบทบาทของอุทยานฯ ในปัจจุบันว่า เป็นไปตามมาตรฐานสวนพฤกษศาสตร์ระดับโลกที่ให้น้ำหนักต่อการปลูกฝังจิตสำนึกในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแก่ประชาชน ให้ได้รู้จักแสวงหาองค์ความรู้อันเป็น “ปัญญาของแผ่นดิน” ตามปณิธานของมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม นอกเหนือไปจากองค์ความรู้ด้านสมุนไพร และแมกไม้นานาพรรณ

โดย Re-leaf เกิดจากการส่งเสริมให้บุคลากรโครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่สร้างสรรค์ขึ้นเป็นนวัตกรรมที่นำไปสู่การเยียวยาสิ่งแวดล้อม ให้รอดพ้นมลพิษจากการเผาทำลาย กลายเป็นสื่อการสอนในห้องเรียนธรรมชาติ เพื่อเยาวชน และชุมชนได้เรียนรู้ร่วมกัน เพื่อต่อยอดสู่การทำประโยชน์ต่อไปในวงกว้าง

ด้าน นางสาวกมลชนก สาลี เจ้าหน้าที่บริหารงานทั่วไป โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะแกนนำโครงการ “Re-leaf“ ได้ใช้องค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมที่ได้จากการศึกษาในระดับบัณฑิตศึกษามาทำให้ใบไม้ที่มีอยู่เป็นจำนวนมหาศาลในแต่ละวันของอุทยานฯ มีค่า และมีความหมาย

เศษใบไม้ ไม่ไร้ค่า

จากการนำใบไม้มาประดิษฐ์เป็นกระถางที่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ แทนการใช้พลาสติก นอกจากจะช่วยลดการเผาทำลาย ซึ่งจะไปทำลายชั้นบรรยากาศทำให้โลกร้อนขึ้นแล้ว ยังช่วยลดการเร่งปฏิกิริยาที่จะก่อให้เกิดมลพิษ PM2.5 ซึ่งกำลังคุกคามทุกชีวิตบนโลกให้ทวีความรุนแรงน้อยลง

จากที่ได้ทดลองผลิตโดยพัฒนาเทคนิคและวิธีการที่ทำให้กระถางจากเศษใบไม้มีความคงทนแข็งแรงมากขึ้นด้วยตนเองอย่างต่อเนื่อง โดยได้ทดลองใช้กระดาษรียูสเป็นแกนกระถาง และพร้อมใส่ใจในทุกรายละเอียดของการผลิต เพื่อป้องกันการปนเปื้อนต่อสิ่งแวดล้อม โดยหลีกเลี่ยงไม่ใช้กระดาษที่มีหมึกเต็มหน้า

ซึ่งตั้งแต่งานวันแม่แห่งชาติเมื่อปี 2566 ที่ผ่านมา ได้ทดลองใช้กิจกรรมประดิษฐ์กระถางจากธรรมชาติ เป็นกิจกรรมสร้างเสริมความผูกพันในครอบครัว โดยได้รับความสนใจ และการตอบรับเป็นอย่างดีจากชุมชน

กระถางจากเศษใบไม้

ทั้งนี้ ก้าวต่อไปจะผลักดันให้ Re-leaf ได้เป็นผลิตภัณฑ์เสริมรายได้ของชุมชน โดยกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาจุดคุ้มทุน ซึ่งจะพิจารณาจากทุกปัจจัยที่เกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิต ไม่ให้สูงกว่ากระถางพลาสติกที่ใช้อยู่เดิม โดยจะต้องพัฒนาทั้งผลิตภัณฑ์ พร้อมสร้างจิตสำนึกต่อชุมชนให้เกิดความภาคภูมิใจต่อการได้มีส่วนร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมด้วยในขณะเดียวกัน

สนใจ ให้ Re-leaf ได้ Relief เยียวยาทุกหัวใจให้เป็นสีเขียว เพื่อให้ทุกคนบนโลกได้ตื่นขึ้นมาพร้อมอากาศบริสุทธิ์ ติดต่อขอรับคำปรึกษา และพัฒนาไอเดียเพื่อการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า และไม่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสิ่งแวดล้อมได้ที่ www.sr.mahidol.ac.th

ภาพ : โครงการจัดตั้งสถาบันอุทยานธรรมชาติวิทยาสิรีรุกขชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล