พลิกโฉมอภัยภูเบศรพัฒนาสมุนไพรดันพุ่งพันล้าน ยึด 8 ยุทธศาสตร์ บูรณาการ 5 กระทรวง

ตามที่รัฐบาลมีนโยบายผลักดันให้สมุนไพรเป็นพืชเศรษฐกิจที่สามารถสร้างรายได้ให้แก่ประเทศ โดยเฉพาะการกระจายรายได้สู่เกษตรกรและผู้ประกอบการรายย่อย มีการบูรณาการทำงานของ 5 กระทรวงหลัก ได้แก่ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีการพัฒนาแผนงานโครงการอย่างเป็นระบบ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยเน้นให้มีการพัฒนานวัตกรรม ตอบสนองต่อความต้องการของตลาดโลก และผลักดันให้อภัยภูเบศรเป็น นวัตกรรมธุรกิจ ที่สามารถสร้างรายได้จากการส่งออกได้ เพื่อเป็นกรณีศึกษาให้ผู้ประกอบการสมุนไพรไทยรายอื่น ๆ ได้เรียนรู้เส้นทางความสำเร็จ และสร้างความเข้มแข็งทางธุรกิจในต่างประเทศได้

เมื่อวันที่ 10 มีนาคม นพ.จรัญ บุญฤทธิการ ประธานมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ได้กล่าวถึงการขับเคลื่อนอภัยภูเบศรให้สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มได้มากขึ้นว่า ตามที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีนโยบายให้มีการพัฒนาด้านสมุนไพร รวมทั้งนโยบายไทยแลนด์ 4.0 ทำให้เห็นแนวทางในการทำงานที่ชัดเจนขึ้น โดยใช้กลไกทั้ง ประสิทธิผล การมีส่วนร่วม และการเติบโตแบบสีเขียว เพื่อให้เกิดการพัฒนาที่ยั่งยืน และประชาชนทุกกลุ่มได้รับประโยชน์ โดยเรามีการกลยุทธ์ในการดำเนินการ 8 ข้อ ได้แก่ เพิ่มช่องทางการกระจายสินค้า เพิ่มการการยอมรับในบุคลากรทางการแพทย์ พัฒนาบรรจุภัณฑ์หีบห่อให้แข่งขันได้ พัฒนาตลาดโดยบูรณาการกับการท่องเที่ยว ขยายตลาดต่างประเทศร่วมกับเครือข่าย สร้างงานวิจัยและนวัตกรรม พัฒนาการตลาดออนไลน์ และสร้างภาพลักษณ์ให้ประเทศไทยเป็นศูนย์ลางสุขภาพ ซึ่งหากการดำเนินงานในทั้ง 8 ยุทธศาสตร์นี้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ จะส่งผลให้อภัยภูเบศรมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 400-500 ล้านบาท รวมกับยอดเดิมที่ทำได้คือ 380 ล้านบาท ก็จะเกือบถึงพันล้านทีเดียวตามที่นายกรัฐมนตรีมีบัญชาอยากเห็นประเทศไทยไปถึงจุดนั้น ซึ่งจะสามารถสร้างรายได้หลังหักค่าใช้จ่ายแก่เกษตรกรได้เพิ่มขึ้นปีละ 200,000 บาท/ปี/คน

ด้าน ภญ.สุภาภรณ์ ปิติพร เลขาธิการมูลนิธิโรงพยาบาลเจ้าพระยาอภัยภูเบศร ผู้ก่อตั้งสมุนไพรอภัยภูเบศร กล่าวถึงผลตอบแทนทางสังคมที่จะได้รับจากการดำเนินงานของอภัยภูเบศรว่า จากการศึกษาพบว่า อภัยภูเบศรได้ก่อให้เกิดผลตอบแทนต่อสังคมในคนหลากหลายกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นเกษตรกร แรงงานในพื้นที่ หมอยาพื้นบ้าน เยาวชน บุคลากรทางสาธารณสุข เนื่องจากอภัยภูเบศรมีความสามารถในการเชื่อมร้อยเครือข่ายบนห่วงโซ่คุณค่าให้เห็นทิศทางเดียวกัน แต่จากโจทย์ที่รัฐบาลให้มานับว่าเป็นสิ่งท้าทายที่อภัยภูเบศรกำลังเผชิญ ครั้งนี้ต้องปรับองค์กรครั้งใหญ่ พัฒนาระบบการจัดการตลาดที่มีประสิทธิภาพในการเชื่อมร้อย ความต้องการทั่วโลก กับซัพพลายของเรา พัฒนานวัตกรรมบนเทคโนโลยีและความหลากหลายทางชีวภาพที่ประเทศไทยมี รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับเครือข่าย ขณะนี้มีเครือข่ายทั้งเอกชนที่จะพัฒนาตลาดต่างประเทศร่วมกัน เครือข่ายวิชาการที่จะพัฒนานวัตกรรมร่วมกัน เครือข่ายภาครัฐที่จะดำเนินการช่วยกันในการผลักดันนโยบายและมาตรฐานสมุนไพร ซึ่งต้องขอขอบคุณท่านนายกและรัฐบาลที่เห็นความสำคัญของสมุนไพรและช่วยเชื่อมต่อให้เครือข่ายต่าง ๆได้มาทำงานร่วมกัน ภายใน 1 ปีเราคาดว่าจะมีนวัตกรรมผลิตภัณฑ์และบริการที่ทำตลาดในอาเซียนได้อย่างแน่นอน

 

ที่มา มติชนออนไลน์