โดนจนได้! กรมอุทยานฯสั่งเอาผิด5หนุ่มเลี้ยงเหยี่ยว จัดแข่ง-พนันล่านกหายาก

เมื่อวันที่ 9 มี.ค. นายธัญญา เนติธรรมกุล อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวถึงกรณีกลุ่มผู้เลี้ยงเหยี่ยวนำเหยี่ยวไปเล่นการพนัน โดยการแข่งขันสั่งการหรือบังคับให้เหยี่ยวล่าเหยื่อ ซึ่งเป็นสัตว์ป่าที่อาศัยอยู่ตามธรรมชาติ หากเหยี่ยวของบุคคลใดล่าสัตว์ป่า ซึ่งเป็นเหยื่อตามธรรมชาติได้มากกว่า ก็จะได้รับเงินพนัน 9,000 บาทว่า กรมอุทยานฯ ได้ตรวจสอบแล้วพบว่ามีคณะบุคคล 5 คน เดินทางเข้าไปในหมู่บ้านใกล้ทุ่งนา อ.บางน้ำเปรี้ยว จ.ฉะเชิงเทรา จากนั้นร่วมมือกันควบคุม สั่งการให้เหยี่ยว ออกไปจับหรือล่าสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดอื่นในธรรมชาติเพื่อเป็นอาหาร โดยมีภาพของซากสัตว์ป่าคุ้มครอง ที่เหยี่ยวจับได้จากธรรมชาติ 3 รายการ คือ นกกวัก 4 ซาก นกพริก 3 ซาก และเป็ดแดง 2 ซาก รวมซากสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.และคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 ทั้งหมด 9 ซาก

นายธัญญา กล่าวว่า เหยี่ยวที่ปรากฏตามสื่อนั้น เป็นเหยี่ยวแฮริส ชื่อวิทยาศาสตร์ Parabuteo unicinctus ลักษณะทั่วไป จัดเป็นนกล่าเหยื่อขนาดกลาง พบได้ทั่วไปในอเมริกา ชิลี อาร์เจนติน่าและยุโรป เป็นสายพันธุ์ยอดนิยม ในการนำมาเลี้ยง และได้รับการฝึกให้เป็นเหยี่ยวสำหรับล่าสัตว์ ลำตัวมีขนสีน้ำตาลเข้ม ส่วนบริเวณหัวไหล่ และโคนขามีสีขนแบบลูกเกาลัด (Shestnut) ส่วนบริเวณด้านในปีก และปลายปีกมีขนสีขาว โดยมีขาและจะงอยปากสีเหลือง เพศผู้น้ำหนักประมาณ 546-850 กรัม เพศเมียน้ำหนักประมาณ 766-1,633 กรัม ทำรังวางไข่บนต้นไม้ขนาดเล็กหรือบนต้นกระบองเพชร ออกไข่ครั้งละ 2-4 ฟอง ไข่จะฟักออกเป็นตัว ใช้เวลา 31-36 วัน สามารถผสมพันธุ์ได้ปีละ 2-3 ครั้ง พฤติกรรมการล่า สามารถล่าได้เป็นฝูงๆละ 2-6 ตัว เป็นนกล่าเหยื่อเพียงชนิดเดียวที่ล่าเหยื่อเป็นฝูงได้ ราคาตัวละประมาณ 6-8 หมื่นบาท แต่เนื่องจากเหยี่ยวแฮริสไม่พบในประเทศไทยตามธรรมชาติ จึงไม่ได้เป็นสัตว์ป่าคุ้มครองตามพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 แต่อย่างใด

“การที่นำเหยี่ยวแฮริสออกไปจับหรือล่าสัตว์ป่าคุ้มครองชนิดอื่นในธรรมชาติ กรมอุทยานฯ เห็นว่าเข้าข่ายเป็นความผิดตามพระราชบัญญัติสงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า มาตรา 16 ข้อหาล่าหรือพยายามล่า ซึ่งสัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต และมาตรา 19 ข้อหามีซากสัตว์ป่าคุ้มครองไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต บทกำหนดโทษ ผู้ใดฝ่าฝืนมาตรา 16 มาตรา 19 ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน สี่ปีหรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ จึงได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่สายตรวจของสำนักป้องกันปราบปรามและควบคุมไฟป่า ดำเนินการกล่าวโทษต่อชายทั้ง 5 คน ต่อพนักงานสอบสวน สภ.บางน้ำเปรี้ยว เมื่อวันที่ 9 มี.ค.ไว้แล้ว ทั้งนี้เจ้าหน้าที่จะได้ดำเนินการติดตามผู้ถูกกล่าวหาเพื่อนำมาดำเนินคดีต่อไป” นายธัญญากล่าว

อธิบดีกรมอุทยานฯ กล่าวว่า ทั้งนี้กรมอุทยานฯ จะเร่งประชาสัมพันธ์ให้สาธารณชนทราบว่า การกระทำในลักษณะดังกล่าวเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย ถ้าผู้ใดพบเห็นให้แจ้งไปยังที่สายด่วน 1362 หรือแจ้งหน่วยงานของกรมอุทยานฯ ซึ่งกระจายอยู่ทั่วประเทศ เพื่อดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์