อย.แจง “ถอดกัญชา” ยาเสพติดเป็นสมุนไพร ไม่จริง! เตือนอย่าหลงเชื่อ อ้างรักษา “มะเร็ง”

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ช่วงที่ผ่านมาเกิดกระแสข่าวคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถอดกัญชาออกจากบัญชียาเสพติดประเภท 5 มาเป็นยาสมุนไพรเพื่อใช้ในการศึกษาวิจัยรักษาโรคมะเร็ง ประกอบกับมีการเผยแพร่ประกาศของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ซึ่งประกาศไปตั้งแต่วันที่ 2 สิงหาคม 2556 ที่ผ่านมา เกี่ยวกับการควบคุมกัญชา แต่เนื้อหาเป็นเรื่องการควบคุมกัญชง ซึ่งเป็นชนิดย่อยของกัญชา โดยกัญชงมีการนำไปใช้ประโยชน์ในเรื่องอุตสาหกรรมสิ่งทอ ส่วนประเทศไทยมีการศึกษาวิจัยเพื่อนำมาใช้เครื่องนุ่งห่ม เป็นพืชเศรษฐกิจ โดยได้ออกประกาศเรื่อง ระบุชื่อและประเภทยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 12) กำหนดเพิ่มเติมเงื่อนไขของกัญชา ให้ยกเว้นเปลือกแห้ง แกนลำต้นแห้ง เส้นใยแห้ง และผลิตภัณฑ์ที่ผลิตจากเปลือกแห้ง ฯลฯ เพื่อส่งเสริมการปลูกพืชกัญชงเป็นพืชเศรษฐกิจ ซึ่งได้ประกาศในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 31 กรกฎาคม 2556 โดยการปลูกพืชกัญชง รวมทั้งการผลิต การจำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง ต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการการควบคุมยาเสพติดให้โทษเป็นรายๆ ปรากฏว่ากลับมีการสื่อสารและเข้าใจผิดว่ามีการปรับเปลี่ยนให้ใช้กัญชาได้แล้วนั้น หนำซ้ำยังมีข่าวทางทางสังคมออนไลน์ในลักษณะว่ากัญชารักษามะเร็งได้ จนสร้างความสงสัยกับสังคมอย่างมาก

เมื่อวันที่ 4 กันยายน นพ.บุญชัย สมบูรณ์สุข เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า จากกรณีที่มีกระแสข่าว ครม.เห็นชอบในหลักการให้แก้ไขกฎหมายว่าด้วยยาเสพติดให้โทษตามที่ อย.เสนอ โดยให้ถอด “กัญชา” ออกจากบัญชียาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ที่ห้ามครอบครองมาเป็นยาสมุนไพร หรือยาควบคุมให้ใช้ประโยชน์ทางการแพทย์เพื่อใช้รักษามะเร็งนั้น อย.ขอชี้แจงว่า ปัจจุบันกัญชายังจัดอยู่ในกลุ่มยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ.2522 ห้ามมิให้ผู้ใดผลิต จำหน่าย นำเข้า ส่งออก หรือมีไว้ในครอบครอง เว้นแต่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขจะได้อนุญาตโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการควบคุมยาเสพติดให้โทษ และ อย.ยังไม่มีการรับรองให้ใช้กัญชาหรือรับขึ้นทะเบียนยาจากกัญชาแต่อย่างใด เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยทางวิชาการในคนเพียงพอที่จะยืนยันว่าสามารถรักษาโรคมะเร็งได้

“ปัจจุบันในต่างประเทศมีการใช้ยาที่ได้จากสารสกัดของกัญชาและที่เป็นสารสังเคราะห์ โดยมีข้อบ่งใช้ของยา ได้แก่ เพื่อบรรเทาอาการคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากการใช้เคมีบำบัดในผู้ป่วยมะเร็ง เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ รักษาภาวะปวดเกร็งในผู้ป่วยโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง รักษาอาการปวดในผู้ป่วยโรคมะเร็ง ส่วนการนำกัญชามาใช้ในการรักษาโรคนั้น ขณะนี้ยังอยู่ในระหว่างการศึกษาวิจัย เช่น การศึกษาวิจัยในการรักษาผู้ป่วยมะเร็งชนิดต่างๆ เป็นต้น ในต่างประเทศ เช่น สหรัฐอเมริกา ยังไม่มีการรับรองให้มีการนำพืชกัญชามาใช้ในการรักษาโรคมะเร็ง เนื่องจากยังไม่มีข้อมูลการศึกษาวิจัยทางคลินิกในคนเพียงพอที่จะยืนยันประสิทธิผลและความปลอดภัย ทั้งนี้ อย.ยังคงมุ่งมั่นส่งเสริมให้เกิดการพัฒนายาที่ดี มีประสิทธิภาพในการรักษา และไม่เคยปิดกั้นความก้าวหน้าทางวิชาการแต่อย่างใด” นพ.บุญชัยกล่าว