ราคายางใต้ตกรูด! กระทบผู้ปกครอง-ม.ราชภัฏสุราษฎร์ ประกาศเลื่อนเปิดเทอมช่วยลูกสวนยาง

เมื่อวันที่ 8 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ผลการประมูลซื้อขายยางพาราแผ่นดิบในภาคใต้ ปรากฏว่าราคาลดลงทุกแห่ง โดยที่ตลาดกลางประมูลยางหาดใหญ่ (สงขลา) ได้ราคา 74.3 บาท/ก.ก. ลดลง 1.90 บาท/ก.ก. ปริมาณยาง 8,406 ก.ก. ลดลง 9,704 ก.ก. ส่วนที่ตลาดกลางประมูลยางสุราษฎร์ธานี(โคออฟ) ได้ราคา 73.73 บาท/ก.ก. ลดลง 1.86บาท/ก.ก. ปริมาณยาง 3,100 ก.ก. เพิ่มขึ้น 200 ก.ก. และที่ตลาดกลางประมูลยางนครศรีธรรมราช(จันดี) ได้ 73.88 บาท/ก.ก.ลดลง 2.24 บาท/ก.ก. ปริมาณยาง 7,850 ก.ก.เพิ่มขึ้น 3,150 ก.ก.โดยทั้ง 3 ตลาดมีราคาเฉลี่ย 73.47 บาท/ก.ก.ราคาเฉลี่ยลดลง 2.01 บาท/ก.ก.

สำนักงานตลาดกลางยางพารา จ.สุราษฎร์ธานี ชี้แจงว่า สาเหตุราคาลดลงเนื่องจากตลาดล่วงหน้าโตเกียวปรับตัวลดลงจากค่าเงินบาทและเงินเยนที่แข็งค่า และราคาน้ำมันที่ปรับลดลง ประกอบกับนักลงทุนมีความวิตกกังวลเกี่ยวกับธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) อาจจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยส่งผลให้นักลงทุนชะลอซื้อ รวมถึงผู้ประกอบการในประเทศไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเร่งซื้อ เพราะมีปริมาณยางเพียงพอจากการซื้อเก็บไว้ก่อนหน้านี้ และแผนระบายยางในสต็อกของภาครัฐยังคงเป็นปัจจัยที่กดดันราคายางได้ในระดับหนึ่ง คาดว่าราคาอาจมีแนวโน้วปรับลดลงได้อีกเนื่องจากสถานการณ์เศรษฐกิจโลกยังผันผวน

ด้าน รศ.ดร.ชูศักดิ์ เอกเพชร ที่ปรึกษาคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี เปิดเผยว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี (มรส.) ได้ประกาศเลื่อนวันเปิดภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2560 จากเดิมที่มีกำหนดเปิดต้นเดือนสิงหาคม 2560 มาเป็นวันที่ 26 มิถุนายน 2560 แทนเพื่อไม่ให้นักเรียนที่จบ ม.ปลายทิ้งช่วงการศึกษาต่อมหาวิทยาลัยนานเกินไป ซึ่งเดิมจะต้องทิ้งช่วงการเรียนนาน 4–5 เดือนและเพื่อต้องการแบ่งเบาภาระของผู้ปกครองที่ทำสวนยางพารา เนื่องจากสวนยางจะไม่ให้ผลผลิตในเดือนเมษายน แต่การเปิดเทอมแบบเดิมนักศึกษายังต้องมาเรียนในเดือนเมษายนอยู่ จะส่งผลกระทบต่อผู้ปกครองโดยตรง

รศ.ดร.ชูศักดิ์ กล่าวอีกว่า การเปิดเทอมแบบเดิมนั้นเปิดคร่อมเดือนเมษายน ซึ่งเป็นฤดูกาลที่ร้อนและแล้ง ชาวสวนไม่สามารถกรีดยางได้ ขณะที่นักศึกษาต้องมีค่าใช้จ่ายระหว่างเรียนทุกวัน หากมหาวิทยาลัยเลื่อนการเปิดเทอมให้เดือนเมษายนตรงปิดภาคเรียนก็จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ปกครองได้มาก ส่วนนักศึกษาที่อาจได้รับผลกระทบจากการเลื่อนวันเปิดเทอมให้เร็วขึ้นในปีนี้สามารถทำบันทึกถึงมหาวิทยาลัยเพื่อขอผ่อนผันการชำระค่าเทอมได้

“ม.ราชภัฏสุราษฎร์ธานี เป็นมหาวิทยาลัยท้องถิ่น เรามีพันธกิจหลักในการพัฒนาท้องถิ่น ดังนั้นวิธีคิดหลายๆ อย่างจึงต้องอ้างอิงสภาพจริงและร้อนหนาวของชุมชนท้องถิ่น ปัจจุบันนักศึกษากว่าร้อยละ 80 ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนยางพารา ราคายางจะขึ้นหรือลง หรือหยุดชะงัก ล้วนส่งผลกระทบอย่างสำคัญต่อครอบครัวของนักศึกษา และมหาวิทยาลัยมีหน้าที่จะต้องประคับประคองแบ่งเบาภาระ หรือให้ความช่วยเหลือเท่าที่จะสามารถทำได้” รศ.ดร.ชูศักดิ์กล่าว

ด้านนายจำลอง โฮฮิน อาชีพทำสวนยาง ผู้ปกครองของ น.ส.พิมพาวรรณ โฮฮิน นักศึกษาชั้นปีที่ 2 สาขาวิทยาศาสตร์ทั่วไป คณะครุศาสตร์ มรส.กล่าวว่า ช่วงปลายเดือนมีนาคม–พฤษภาคมแต่ละปี เป็นช่วงปิดหน้ายางพารา เนื่องจากต้นยางเริ่มผลัดใบและแตกใบอ่อน ใบยางจะร่วงหล่นทำให้ไม่มีใบสังเคราะห์แสงและน้ำยางจะเริ่มให้ผลผลิตน้อยลง หากยังฝืนกรีดยาง จะส่งผลให้ยางจะตายได้ ฉะนั้นการที่มหาวิทยาลัยเลื่อนวันเปิดเทอมเพื่อทำให้ช่วงปิดหน้ายางตรงกับวันปิดเทอม ถือเป็นการช่วยเหลือผู้ปกครองทางหนึ่ง จึงขอขอบคุณมหาวิทยาลัยที่เข้าใจผู้ปกครองชาวสวนยาง