ผู้เขียน | มติชนออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
วันที่ 3 มีนาคม ผศ.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ รองคณบดีคณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (มก.) และผู้เชี่ยวชาญเรื่องทะเล เปิดเผยว่า หลังจากที่กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ได้เข้าไปฟื้นฟูพื้นที่เกาะตาชัย ที่เป็น 1 ใน 11 ของพื้นที่หมู่เกาะสิมิลัน ภายหลังจากที่เกาะถูกใช้งานอย่างหนักหน่วงจากนักท่องเที่ยวที่แห่กันไปเที่ยว จนสร้างความเสียหายกับพื้นที่อย่างหนักและต้องปิดฟื้นฟูอย่างไม่มีกำหนดนั้น ปรากฏว่า แม้จะปิดเกาะตาชัยไปแล้ว แต่ไม่ทำให้ปริมาณนักท่องเที่ยว ที่หลั่งไหลกันไปยังหมู่เกาะสิมิลัน ในภาพรวมลดปริมาณลงเลย อีกทั้งยังเพิ่มปริมาณมากกว่าเดิมอีกด้วย เฉลี่ยแล้วเดือนละประมาณ 8-9 หมื่นคนหรือวันละอย่างน้อย 3 พันคน นักท่องเที่ยวที่เข้ามาเที่ยวส่วนใหญ่เป็นชาวจีน และชาวรัสเซีย มีคนไทยไปเที่ยวน้อยมาก พื้นที่ละไม่เกิน 15% ของนักท่องเที่ยวทั้งหมด ปัญหาที่เกิดขึ้นและไม่สามารถควบคุมได้คือ ปัญหาขยะล้นเกาะ ปะการังเสื่อมโทรม และปัญหาน้ำเสีย ซึ่งทุกปัญหาล้วนแก้ไขยากมาก นอกจากนี้ ยังพบอีกว่ามีปริมาณเจ้าหน้าที่ ที่จะเข้าไปควบคุม ดูแล และเฝ้าระวัง เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาดังกล่าวนี้น้อยมาก
“แทบไม่น่าเชื่อว่า พื้นที่ท่องเที่ยวทางทะเล ในแถบ จ.ภูเก็ต พังงา กระบี่ ระนอง ที่รวมแล้ว มีนักท่องเที่ยว เข้ามาเที่ยววันละหมื่นกว่าคน แต่เรามีเจ้าหน้าที่คอยดูแลแค่ 12 คนเท่านั้น ตัวอย่างที่ผมประสบมากับตัวเอง ตอนไปทำงานที่ เกาะไข่ จ.พังงา ไปอยู่ 10 วัน พบว่ามีคดีที่นักท่องเที่ยวทำผิด ทั้งระเบียบ ทั้งกฎหมาย 200 กว่าคดี ทั้งให้อาหารปลา เก็บปะการัง ทิ้งขยะ เจ้าหน้าที่เห็นก็จับ ไม่เห็นก็รอดไป เรื่องเก็บปะการังนี่น่าเป็นห่วงมาก บางคนก็ทำไม่รู้ไม่ชี้ เก็บใส่กระเป๋าเฉย ไปจับได้อีกทีก็ที่สนามบิน ผมโมโห จนไม่รู้จะโมโหอย่างไรแล้ว สำรวจปะการังครั้งล่าสุดนั้น พื้นที่เกาะไข่ เหลืออยู่ไม่ถึง 10% เกาะพีพี เหลืออยู่ประมาณ 30% เท่านั้น” ผศ.ธรณ์กล่าว
ผศ.ธรณ์กล่าวว่า ได้เข้าหารือเรื่องนี้กับ พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร รองนายกรัฐมนตรี ที่ดูแลเรื่องการท่องเที่ยว โดยในส่วนของการท่องเที่ยวนั้นปริมาณนักท่องเที่ยวที่เข้ามามาก ก็หมายถึงเม็ดเงินที่เข้ามาพร้อมกัน แต่ในขณะเดียวกันก็จะทำให้เกิดความกังวลเรื่องการดูแลจัดการพื้นที่ ซึ่งมีแนวโน้มมากว่าหากจัดการไม่ดีนั้นทรัพยากรที่มีอยู่จะหายไปในเร็ววัน หมายความว่าต่อไปก็จะหาเงินเข้าประเทศจากการท่องเที่ยวไม่ได้อีกต่อไป เพราะไม่รู้ว่าจะเข้ามาดูอะไร เพราะสิ่งสวยงามถูกทำลายไปหมดแล้ว
“มีเรื่องหนึ่งที่ผมเองก็เพิ่งทราบมาเป็นครั้งแรกในชีวิตเหมือนกัน โดยทั้งท่านผู้ว่าราชการ จ.ภูเก็ต และท่านนายกเทศมนตรี ได้เล่าให้ฟังถึงปัญหาใหม่ ที่เกิดขึ้นกับทะเล จ.ภูเก็ต โดยเฉพาะพื้นที่หาดป่าตอง ที่พบว่า เวลานี้ มีประชากรแฝงอยู่ในบริเวณดังกล่าวมากถึง 1.5 แสนคน อาศัยอยู่ในห้องเช่า หอพัก อพาร์ตเมนต์ ห้องแถว อาคารชุด ซึ่งทุกแห่งของสถานที่เหล่านี้ล้วนแต่มีบริการเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญนับหมื่นๆ เครื่อง ปัญหาที่เกิดขึ้นก็คือ ไม่มีระบบบำบัดน้ำเสียรองรับเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญพวกนี้เลย ทุกวันจึงมีน้ำเสียไหลลงท่อระบายน้ำเสียโดยตรง และลงไปในทะเลโดยไม่ผ่านการบำบัด เวลานี้ก็ไม่มีใครรู้เหมือนกันว่าปริมาณน้ำเสียจากเครื่องซักผ้าหยอดเหรียญพวกนี้ ปล่อยน้ำเสียลงทะเลจำนวนเท่าไร รู้แต่ว่ามันมีจำนวนมาก” ผศ.ธรณ์กล่าว
รองคณบดี คณะประมง กล่าวอีกว่า ระบบบำบัดน้ำเสียพื้นที่หาดป่าตอง นั้นส่วนใหญ่ มีไว้เพื่อรองรับกับน้ำเสียที่ปล่อยออกมาจากโรงแรม และสถานประกอบการขนาดใหญ่ แต่เครื่องซักผ้าแบบหยอดเหรียญนั้นเป็นปัญหามาก เพราะไม่สามารถรวบรวมน้ำที่ปล่อยออกมาไว้ด้วยกันแล้วนำไปบำบัดได้ เวลานี้ จึงมักเกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลเปลี่ยนสี เพราะเกิดปรากฏการณ์ แพลงตอนบลูม เนื่องจากมีปริมาณฟอสเฟส ที่เป็นส่วนผสมในผงซักฟอกปนเปื้อนอยู่ในน้ำทะเลบริเวณหาดป่าตองบ่อยครั้งกว่าที่ผ่านมามาก ยังไม่มีใครคิดวิธีจัดการกับปัญหาดังกล่าว ซึ่งอาจจะเป็นเรื่องใหญในอนาคตอันใกล้นี้