โรงงานอาหารสัตว์ท้อ สกัดส่งออกกากถั่วไม่ได้

สมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ ค้านเปิดเสรีส่งออกกากถั่วเหลืองอุ้มโรงสกัดน้ำมัน แต่ไม่ยอมลดภาษีกากถั่วเหลือ 2% เป็น 0% “พาณิชย์” แง้มมีกลไกคุมการส่งออกทำได้แค่ 20% ของกากถั่วในประเทศ ไม่ขาดแคลนแน่

นายพรศิลป์ พัชรินทร์ตนะกุล เลขาธิการสมาพันธ์ปศุสัตว์และเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเมื่อวันที่ 12 เมษายน 2559 อนุมัติหลักการร่างประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้กากถั่วเหลืองเป็นสินค้าที่ต้องขออนุญาตส่งออกไปนอกราชอาณาจักร พ.ศ. … ตามที่กลุ่มผู้ประกอบการโรงสกัดน้ำมันพืชร้องขอกระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เปิดเสรีส่งออกกากถั่วเหลืองจากเดิมห้ามส่งออก เพราะปริมาณกากถั่วเหลืองภายในประเทศไม่เพียงพอ แต่หลังจาก ครม.อนุมัติให้ส่งออกได้อาจจะส่งผลกระทบต่อราคากากถั่วเหลืองที่ใช้ในการ ผลิตอาหารสัตว์ และราคาอาหารสัตว์

“ปัจจุบันโรงงานอาหารสัตว์ใช้กาก ถั่วเหลืองนำเข้า มีภาษีนำเข้า 2% แต่โรงงานผลิตน้ำมันถั่วเหลืองใช้เม็ดถั่วเหลืองนำเข้าซึ่งภาษี 0% แต่ละปีมีการนำเข้าเม็ดถั่วเหลือง 2.5 ล้านตันนำไปแปลงเป็นน้ำมันได้ 20% และเหลือกากประมาณ 80% หรือ 1.9 ล้านตันมาขายให้อาหารสัตว์แต่ความต้องการใช้มี 4-5 ล้านตัน ทางโรงงานอาหารสัตว์จึงยังต้องนำเข้ากากถั่วเหลืองอีก 3 ล้านตันในราคาตลาดโลก บวกภาษีนำเข้า 2% และยังต้องรับซื้อกากถั่วเหลืองในประเทศทั้งหมดอีกด้วย”

ทั้งนี้ ที่ผ่านมาสมาพันธ์ได้ออกมาแสดงจุดยืนและทำหนังสือคัดค้านประเด็นนี้มาเป็น เวลากว่า 1 ปี นับตั้งแต่วันที่ 28 มกราคม 2558 เรื่อยมาจนหลังจากที่ ครม.เห็นชอบก็ยังได้ทำหนังสือค้านให้กระทรวงพาณิชย์ชะลอการออกประกาศไปถึง 4-5 ครั้ง นับรวมจดหมายกว่า 10 ฉบับ เพื่อให้กระทรวงพาณิชย์ทบทวนเรื่องดังกล่าว

“ผู้ผลิตอาหารสัตว์ออก ไปลงทุนในกัมพูชา ลาว นำเข้ากากถั่วเหลืองโดยตรงไม่ได้ เพราะถ้านำเข้ามาต้องมีปริมาณ 50,000 ตันขึ้นไป ขณะที่ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ก็ยังมีขนาดเล็กอยู่ ไม่รู้จะซื้อจากที่ไหน ต้นทุนแพงวิธีเดียวนำเข้าจากไทย เนื่องจากไทยมีการนำเข้ามา 50,000-60,000 ตัน ขึ้นไปซึ่งถูกมาก บริษัทเล็ก ๆ ในประเทศไทยก็ซื้อในพื้นที่นำเข้าเองไม่ได้ ถ้าจะนำเข้าต้องรวมกันนำเข้าเพื่อลดต้นทุน แต่โรงสกัดกลับขอส่งออกได้ เพราะเห็นโอกาสในตลาด CLMV หากให้ส่งออกได้ 10,000-20,000 ตัน แนวโน้มราคาก็จะปรับขึ้น ปริมาณภายในไม่พอ เราก็แจ้งไปว่ามีปัญหา และมีต้นทุนนำเข้ากากมาแล้ว 2% ซึ่งไม่ยุติธรรม ส่งจดหมายไปกว่า 10 ฉบับก็ยังเงียบแต่มติ ครม.ให้ส่งออกได้เฉพาะธุรกิจโรงสกัดได้คนเดียว สมาคมจะขอลดภาษีกากถั่วจาก 2% เป็น 0% บ้างได้หรือไม่ เพื่อการแข่งขัน โรงงานที่ลงทุนในเวียดนาม กัมพูชา ต้องนำเข้าจากกลุ่มผู้ประกอบการโรงสกัด ส่วนเราส่งออกให้บริษัทลูกไม่ได้ กลุ่มที่ลงทุนในต่างประเทศจึงต้องอาศัยโรงสกัด ซึ่งมีเพียง 3-4 โรง”

แหล่ง ข่าวจากกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการออกประกาศตามมติ ครม. หลังจากที่ล่าช้ามา 4 เดือนว่า ขณะนี้กรม อยู่ระหว่างการเตรียมออกร่างประกาศ โดยหลักการกำหนดให้มีคณะทำงาน 1 ชุด เพื่อพิจารณาปริมาณการนำเข้า-ส่งออกในแต่ละปี โดยมีองค์ประกอบจากหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมการค้าต่างประเทศ สำหรับปริมาณการส่งออกในแต่ละปี กำหนดให้ผู้ประกอบการโรงสกัดสามารถส่งออกได้สูงสุด 20% ของปริมาณการผลิตกากในประเทศ 1 ล้านตัน หรือ คิดเป็นปริมาณเพียง 200,000 ตัน และต้องมาขออนุญาตจากกรมก่อนส่งออก แต่หากปีใดคณะทำงานพิจารณาแล้วว่ามีความต้องการใช้ในประเทศเพิ่มมากขึ้นอาจ พิจารณาลดปริมาณการส่งออกกากถั่วเหลืองไม่ถึง 20% ก็ได้ หรือหยุดไม่ให้มีการส่งออก

“โรงสกัดขอส่งออกมาเป็นเวลานานแล้ว เพราะปริมาณกากที่ผลิตได้เฉลี่ยปีละ 1 ล้านตัน ซึ่งต้องพึ่งพาการจำหน่ายให้กับผู้ผลิตอาหารสัตว์ในประเทศทั้งหมด แต่มักจะมีปัญหาเรื่องการจำหน่ายระหว่างกัน จึงได้ขอเพิ่มช่องทางการส่งออก ซึ่งหากเปรียบเทียบราคาจำหน่ายในประเทศ ปัจจุบัน กก.ละ 18 บาทสูงกว่าราคาต่างประเทศที่ขาย กก.ละ 15 บาท ถ้าขายในประเทศได้ทั้งหมด ก็คงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องมาขอส่งออก แต่ปัญหาที่เกิดขึ้นคือไม่หมด”

ทั้ง นี้ กรมได้พิจารณา และมีจดหมายตอบข้อคัดค้านไปหลายครั้งแล้วว่า มีกลไกดูแลป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดแคลนวัตถุดิบ อีกทั้งผู้ผลิตอาหารสัตว์สามารถนำเข้าเม็ดถั่วเหลืองมาหีบและส่งออกกากได้ เช่นกัน