อย. ถกร่วม ‘วิษณุ’ ปมปลดล็อก ‘สิทธิบัตรยา’ กลุ่มค้านฯ จี้เปิดกระบวนการให้ชัด

จากกรณีเครือข่ายประชาสังคมออกมาคัดค้านคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เตรียมใช้ ม.44 แก้ปัญหาความล่าช้าคำขอสิทธิบัตรที่ค้างอยู่กว่า 12,000 ฉบับ ซึ่งคาดว่าเป็นคำขอเกี่ยวกับยาถึง 3,000 ฉบับ และเกือบทั้งหมดเป็นคำขอสิทธิบัตรแบบ Evergreening หรือสิทธิบัตรที่ไม่มีความใหม่ เป็นสิทธิบัตรไม่มีวันตายนั้น

เมื่อวันที่  3 มีนาคม  นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข(สธ.) กล่าวว่า  ได้กำชับทาง นพ.วันชัย สัตยาวุฒิพงศ์ เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ซึ่งจะไปประชุมร่วมกับ นายวิษณุ เครืองาม  รองนายกรัฐมนตรี ว่า อย.ทำเรื่องอะไรบ้างเกี่ยวกับยา เพื่อให้ชัดเจน โดยในเรื่องสิทธิบัตร จากนี้ให้ทางกรมทรัพย์สินทางปัญญาเป็นคนให้ข้อมูลดีกว่า   โดยให้ผู้รับผิดชอบเป็นคนตอบ ส่วนของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา(อย.) จะเน้นเรื่องการขึ้นทะเบียนยาเป็นหลัก

“เรื่องสิทธิบัตรยาที่เป็นประเด็น ก็ต้องไปแยกกันให้ชัด  และอยากให้ไปถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาดีกว่า เพราะก่อนหน้านี้ที่ผมได้ยินมาคือ คำขอสิทธิบัตรที่ยังอยู่ระหว่างดำเนินการมี  20,000 รายการ โดยมีประมาณ 12,000 รายการที่จะออกมาใน 3 เดือน ส่วนเรื่องของยาประมาณ 5,000 รายการไม่เกี่ยว โดยท่านนายกฯ ฝาก อย.ช่วยประสานเรื่องนี้ ว่า อาจมีส่วนเกี่ยวข้องในแง่ อย.ต้องขึ้นทะเบียนยา แต่สิทธิบัตรก็ต้องเป็นกรมทรัพย์สินทางปัญญา แต่จะให้ชัดเจนผมว่า ก็ลองไปถามกรมทรัพย์สินทางปัญญาดีกว่า” นพ.ปิยะสกล กล่าว

นายเฉลิมศักดิ์ กิตติตระกูล ผู้แทนมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ กล่าวว่า เครือข่ายภาคประชาชนยืนยันว่า ให้ใช้กระบวนการพิจารณาสิทธิบัตรตามปกติ โดยต้องพิจารณาเข้มแยกคำขอที่มีอายุเกิน 5 ปีหรือคำขอที่ถูกละทิ้งแล้วออกไป รวมถึงพิจารณาว่าเป็นสิทธิบัตรไม่มีวันตายหรือไม่ และตัดทิ้ง    ก็จะช่วยให้เหลือคำขอสิทธิบัตรที่สมควรได้รับจริงๆ

“ กระบวนการพิจารณาคำขอสิทธิบัตร หลังจากการประกาศโฆษณาว่าบริษัทนี้ยื่นคำขอสิทธิบัตรเรื่องอะไร จะเปิดโอกาสให้มีการยื่นคัดค้านคำขอในเวลา 90 วัน อย่างกรณียาโซฟอสบูเวียร์ ที่ใช้รักษาไวรัสตับอักเสบซี พวกเราก็ยื่นคัดค้านไป เพื่อให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาพิจารณาว่าสุดท้ายแล้วจะให้สิทธิบัตรกับยาดังกล่าวหรือไม่ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีคำตอบ  โดยสิ่งที่กังวลยิ่งกว่านั้นคือ หากมีการใช้ ม.44 จริง เพื่อเร่งรัดให้คำขอสิทธิบัตรผ่าน เพราะรัฐบาลระบุชัดว่าหากต่างประเทศให้ผ่านก็ไม่ต้องพิจารณามากให้ผ่านได้เลย หากจะค้านก็ให้ไปฟ้องกันทีหลัง ตรงนี้จะมีผลกระทบถึงการยื่นคัดค้านคำขอหรือไม่ เพราะจะกลายเป็นการกดดันกรมทรัพย์สินทางปัญญาให้รีบผ่านคำขอสิทธิบัตร กระบวนการคัดค้านของพวกเราจะเป็นผลหรือไม่ หรือผ่านไปเลยโดยไม่มีการนำมาพิจารณา อยากให้มีการพูดเรื่องนี้ให้ชัดๆ” นายเฉลิมศักดิ์ กล่าว

 

ที่มา มติชนออนไลน์