“พาณิชย์”เร่งค้าชายแดนตั้งเป้าปีนี้แตะ1.8 ล้านล.-อาศัยYEN-Dสร้างเครือข่ายไทย-เพื่อนบ้าน

นางอภิรดี ตันตราภรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ กล่าวภายหลังเป็นประธานเปิดตัวโครงการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการรุ่นใหม่ของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน (YEN-D) ซีซั่น 3 ว่า ปีนี้ได้ตั้งเป้าหมายมูลค่าการค้าชายแดนให้เติบโตแบบก้าวกระโดดโดยมีมูลค่าอยู่ที่ 1.8 ล้านล้านบาท จากปีที่ผ่านมามีมูลค่า 1.47 ล้านล้านบาท ด้วยการเดินกลยุทธ์หลัก คือ พัฒนาด่านการค้าชายแดนใหม่ๆ ที่มีศักยภาพเพิ่มขึ้นมา พัฒนาด่านค้าชายแดนเดิมให้มีการนำเอาไอทีมาใช้อำนวยความสะดวก ใช้(จังหวัด)เลยโมเดล ซึ่งพัฒนาผู้ประกอบการที่อยู่ในจังหวัดติดชายแดนทำการค้า และการสานต่อโครงการ YEN-D ผลักดันความร่วมมือให้กับผู้ประกอบการไทยและประเทศเพื่อนบ้าน

“มั่นใจว่าโครงการ YEN-D รุ่นที่ 3 จะมีส่วนช่วยขยายการค้าได้เพิ่มขึ้นอีก โดยเฉพาะการขยายการค้าเข้าไปยังจังหวัดชายแดนที่มีศักยภาพของประเทศเพื่อนบ้านที่ติดกับไทย โดยรุ่นนี้ได้เชิญผู้ประกอบการเพื่อนบ้านที่อยู่ตามแนวชายแดนเข้ามาร่วมเพิ่มมากขึ้น เช่น ตองยี เมียวดี เมาะลำไย เชียงตุง ท่าขี้เหล็ก ของพม่า พระตะบอง ไพลิน และศรีโสภณ ของกัมพูชา หลังจากจัดโครงการมา 2 ปี ได้รับการตอบรับดี สร้างมูลค่าการค้าได้แล้วกว่า 1,700 ล้านบาท”นางอภิรดีกล่าว

นางอภิรดี กล่าวอีกว่า ยังได้ลงนามบันทึกความเข้าใจระหว่างกรมการค้าต่างประเทศกับบริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท ตลาดต่อยอด เออีซี จำกัด เพื่อให้การสนับสนุนผู้ประกอบการในโครงการนี้ให้มีต้นทุนลดลงในการขยายการค้าและการลงทุนกับประเทศเพื่อนบ้าน ครั้งนี้มีกำหนดมีผู้เข้าร่วมโครงการ 240 คน คือ รุ่นที่ 1 ไทย-กัมพูชา รุ่นที่ 2 ไทย-ลาว รุ่นที่ 3 ไทย – พม่า และรุ่นที่ 4 ไทย-เวียดนาม โดยมีรุ่นละ 60 คน แบ่งเป็นไทยและประเทศเพื่อนบ้านอย่างละ 30 คน ร่วมกิจกรรมสร้างเครือข่ายและฝึกอบรมด้านธุรกิจ เริ่มโครงการตั้งแต่ 11 มีนาคม – 25 พฤษภาคมนี้

นายพิศิษฐ์ เสรีวิวัฒนา กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM Bank) กล่าวว่า 2 ปีที่ผ่านมา ของโครงการ YEN-D มีผู้ประกอบการโดยเฉพาะเอสเอ็มอีขอสินเชื่อเพื่อการส่งออกกับธนาคารแล้วกว่า 10 ราย โดยแรกเริ่มได้ปล่อยสินเชื่อให้อย่างน้อยรายละ 5 แสนบาท และสามารถขอเพิ่มเติมได้ โดยไม่ต้องมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน แต่ใช้คำสั่งซื้อสินค้ามาใช้ขอสินเชื่อได้ คาดว่าปีนี้ปริมาณการขอสินเชื่อจะเพิ่มมากขึ้นจากแนวโน้มการส่งออกดีขึ้น โดยปี 2559 ธนาคารมีสินเชื่อนุมัติใหม่ 28,000 ล้านบาท เติบโต 13% จากปี 2558 ที่มียอดสินเชื่อคงค้าง 75,000 ล้านบาท และมีหนี้เสียที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้(NPL) 3.5% จากปี 2558 ที่มีอยู่ 5% สำหรับปีนี้ตั้งเป้าสินเชื่ออนุมัติใหม่ 35,000 ล้านบาท มี NPL ลดลงเหลือ 3% โดยจะช่วยตรวจสอบคู่ค้าให้ผู้ประกอบการเวลาส่งออก สำหรับลูกค้าธนาคารส่วนใหญ่เป็นเอสเอ็มอีประมาณ 70% ซึ่งส่งออกไปยังประเทศซีแอลเอ็มวี (กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม) เป็นหลัก รวมทั้งตลาดสหรัฐฯ ยุโรป และแอฟริกา

 

ที่มา มติชนออนไลน์