รู้จักอิสราเอล ท่ามกลางปัญหาคุกรุ่น ประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่กว่า 4 พันปี

รู้จักอิสราเอล ท่ามกลางปัญหาคุกรุ่น ประเทศที่มีวัฒนธรรมเก่าแก่กว่า 4 พันปี

อิสราเอลถูกจัดให้เป็นประเทศพัฒนาแล้ว จากประชากรที่มีคุณภาพ การได้รับการสนับสนุนจากอเมริกาและยุโรป และการพัฒนาคนในประเทศท่ามกลางปัญหาที่คุกรุ่น นอกจากนี้ ยังมีอัตราค่าแรงที่สูงทำให้ 90% ของแรงงานเป็นคนไทยเสียส่วนใหญ่ในภาคการเกษตร

นี่เป็นเพียงข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับอิสราเอล วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะพาไปรู้จักกับประเทศอิสราเอล และความสัมพันธ์อันยาวนานที่ดีกับประเทศไทย

อิสราเอลและประเทศไทยสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันเมื่อวันที่ 12 มีนาคม 2497 

โดยอิสราเอลได้เปิดสถานเอกอัครราชทูตประจำประเทศไทยในปี 2500 ส่วนไทยเปิดสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ ในเดือนมกราคม 2539 โดยมี นายรณรงค์ นพคุณ ดำรงตำแหน่งเป็นเอกอัครราชทูตไทยประจำอิสราเอล ณ กรุงเทลอาวีฟ คนแรก 

ด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไทยและอิสราเอล เป็นทวิภาคีและความร่วมมืออันดีทั้งทางด้านเศรษฐกิจและการค้า ความร่วมมือทางวิชาการและเทคโนโลยี ความร่วมมือในกรอบองค์การระหว่างประเทศ และแรงงานไทยที่ทำงานในอิสราเอล

ทั้งนี้ แรงงานไทยเป็นที่ต้องการของอิสราเอลเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในภาคการเกษตรซึ่งแรงงานไทยทำงานอยู่ในปัจจุบันประมาณ 26,000 คน (คิดเป็นร้อยละ 90 ของแรงงานเกษตรของอิสราเอลทั้งหมด) กระจัดกระจายตามชุมชนการเกษตร (Kibbutz หรือ Moshav) ทั่วอิสราเอล โดยแรงงานเหล่านี้ได้รับอนุญาตให้เข้าไปทำงานในอิสราเอลเพียงชั่วคราว และมีการหมุนเวียนเข้าออกอิสราเอลอยู่ตลอดเวลา 

ข้อมูลน่ารู้เกี่ยวกับประเทศอิสราเอลสำหรับคนไทย

เมืองหลวง     

เทลอาวีฟ

เมืองสำคัญ    

เยรูซาเล็ม ไฮฟา เอลัท และเบียร์เชวา

ประชากร       

มีจำนวนประมาณ 9.4 ล้านคน (สถานะ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2564) ร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่ทันสมัย แต่ก็มีบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเก่า ส่วนประชากรอีกร้อยละ 6 อยู่ในชนบท โดยเป็นสมาชิกสหกรณ์ 2 ลักษณะคือ คิบบุตซ์ และโมชาฟ ชาวอิสราเอลมีหลายชาติพันธ์ุ ทั้งชาวยิว และชนอาหรับพื้นเมือง รวมทั้งชาวยิวที่อพยพมาจากยุโรป แอฟริกา เอเชีย และประเทศตะวันออกกลางอื่นๆ ประชากรส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเมืองใหญ่ๆ อาทิ เทลอาวีฟ เยรูซาเล็ม และไฮฟา ที่เหลือกระจัดกระจายตามพื้นที่การเกษตรทั่วประเทศ ชาวอิสราเอล ร้อยละ 79.8 นับถือศาสนายูดาย (Judaism) ที่เหลือนับถือศาสนาอิสลาม (14 %) คริสต์ (2%)

ภาษา    

ภาษาฮิบรู (Hebrew) เป็นภาษาราชการ โดยชาวอิสราเอลเชื้อสายอาหรับจะใช้ภาษาอารบิก (Arabic) ทั้งนี้ ประชาชนส่วนใหญ่สามารถพูดภาษาอังกฤษได้ดี

ภูมิอากาศ   

แบบเมดิเตอร์เรเนียน ร้อนแห้งในฤดูร้อน เย็นปานกลาง และมีฝนตกเล็กน้อยในฤดูหนาว อุณหภูมิเฉลี่ย ระหว่าง 8-36 องศา ฝนตกประมาณปีละ 64 วัน ปริมาณ 539 มิลลิเมตร

ภูมิประเทศ  

หลายลักษณะทั้งที่ราบชายฝั่งทะเล (ภาคตะวันตก) หุบเขาเทือกเขา (ภาคตะวันออก) และทะเลทราย (ภาคใต้) ทะเลสาบ Dead Sea บริเวณภาคใต้ถือว่าเป็นจุดที่อยู่ต่ำสุดของโลก อิสราเอลมีพื้นที่ 27,800 ตารางกิโลเมตร (รวมพื้นที่ของฝ่ายปาเลสไตน์) จากเหนือถึงใต้มีความยาว 470 กิโลเมตร สามารถเดินทางด้วยรถยนต์จากเหนือสุดถึงใต้สุดใช้เวลา 9 ชั่วโมง จากตะวันตกไปตะวันออก มีความกว้างสุด 135 กิโลเมตร ใช้เวลา 90 นาที 

การเมืองภายใน 

นายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของอิสราเอลคือนาย Yair Lapid 

อัตราแลกเปลี่ยน   

1 เชคเกล = ประมาณ 10 บาท

วัฒนธรรม

อิสราเอลมีวัฒนธรรมทั้งเก่าและใหม่ผสมผสานกัน กล่าวคือ วัฒนธรรมโบราณของยิวที่เก่าแก่กว่า 4,000 ปี และวัฒนธรรมใหม่ที่เกิดจากการหลั่งไหลของชาวยิวจากทั่วโลกที่กลับเข้าไปตั้งถิ่นฐานในอิสราเอลภายหลังการก่อตั้งรัฐอิสราเอลเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2491 

ชาวอิสราเอลร้อยละ 90 อาศัยอยู่ในเขตเมืองที่ทันสมัย แต่ก็มีบางส่วนที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองเก่า ส่วนประชากรอีกร้อยละ 6 อยู่ในชนบทโดยเป็นสมาชิกสหกรณ์ 2 ลักษณะคือ คิบบุตซ์ และโมชาฟ

ข้อมูลแรงงานที่ควรทราบ

– สำหรับระบบการว่าจ้างแรงงานต่างชาติอิสราเอล รัฐจะให้วีซ่าแก่นายจ้าง เพื่ออนุญาตให้นายจ้างนั้นรับโควตาว่าจะสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้จำนวนเท่าใด หากมีการเปลี่ยนนายจ้าง นายจ้างใหม่ต้องมีวีซ่าว่าง จึงจะสามารถรับโอนได้ โดยต้องได้รับคำยินยอมจากกระทรวงมหาดไทยเสมอ โดยตั้งแต่กลางปี 2549 นายจ้างเก่าไม่จำเป็นต้องเซ็นยินยอมให้คนงานย้ายโอนงาน

– แรงงานต่างชาติสามารถทำงานในอิสราเอลได้ไม่เกิน 5 ปี (เว้นแต่งานดูแลผู้สูงอายุและคนพิการซึ่งไม่จำกัดจำนวนปีไว้)

– ปัจจุบันค่าแรงขั้นต่ำของอิสราเอลสำหรับแรงงานคือ 5,300 เชคเกลต่อเดือน (ต่อการทำงานปกติ 186 ชั่วโมงต่อเดือน) นายจ้างมีสิทธิหักเงินค่าจ้างได้ตามกฎหมาย เช่น ภาษีรายได้ การประกันสังคมแห่งชาติ ค่าที่พักอาศัย ค่าประกันสุขภาพ และเงินที่นายจ้างจ่ายล่วงหน้าให้ลูกจ้างไปก่อน ทั้งนี้ เงินที่หักในแต่ละเดือนรวมกันแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 25 ของค่าจ้าง

– ค่าจ้างล่วงเวลา : แรงงานที่ทำงานเกินวันละ 8 ชั่วโมง มีสิทธิได้รับค่าล่วงเวลาตั้งแต่ชั่วโมงที่ 9 เป็นต้นไป โดย 2 ชั่วโมงแรกที่เกินชั่วโมงทำงานปกติ จะได้รับค่าล่วงเวลาชั่วโมงละร้อยละ 125 ของค่าจ้างปกติ ส่วนชั่วโมงที่ 3 เป็นต้นไปจะได้รับค่าล่วงเวลาชั่วโมงละร้อยละ 150 ของค่าจ้างปกติ

คำแนะนำในการทำงาน

– ตั้งใจปฏิบัติงานด้วยความขยันขันแข็ง

– มีความซื่อสัตย์สุจริต

– เป็นมิตรกับนายจ้างและคนท้องถิ่น

– สามัคคีและช่วยเหลือคนไทยด้วยกัน

– ปฏิบัติตามกฎหมายท้องถิ่น และเว้นการดื่มสุรา

– ละเว้นการทะเลาะวิวาท/ทำร้ายร่างกาย

– ละเว้นการเสพและจำหน่ายสิ่งเสพติด

– ละเว้นการเล่นการพนัน

– ละเว้นการล่าสัตว์ทุกชนิด

ข้อพึงระมัดระวัง

> การเป็นแรงงานผิดกฎหมายมีเหตุจากการกระทำ ดังนี้

– เปลี่ยนนายจ้างเองโดยพลการ

– วีซ่าขาดอายุ  ดังนั้น ควรเตือนให้นายจ้างต่อวีซ่าก่อนวันหมดอายุ

> การขอใบรายการจ่ายเงินเดือนหรือสลิปเงินเดือนจากนายจ้าง หากนายจ้างไม่ออกให้แรงงานจัดทำหลักฐานการทำงานและการคิดค่าจ้างด้วยตนเอง โดยให้เพื่อนร่วมงานลงชื่อรับรองไว้เป็นหลักฐานได้

> บริษัทจัดหางานไม่มีอำนาจเรียกเก็บเงิน หรือโฉนดเพื่อประกันการหนีสัญญาจ้างแรงงานซึ่งถูกเรียกเก็บเงิน โดยแรงงานสามารถขอรับเงินคืนจากบริษัทจัดหางานที่เกี่ยวข้อง หากบริษัทไม่ให้ความร่วมมือ สามารถยื่นร้องทุกข์ที่กรมการจัดหางาน หรือจัดหางานจังหวัดที่เกี่ยวข้อง

> ขอให้ระมัดระวังอันตรายที่อาจเกิดจากการลอบก่อวินาศกรรมในพื้นที่ต่างๆ ทั่วอิสราเอล ทั้งร้านอาหาร แหล่งชุมชนอื่นๆ ป้ายรถเมล์ หรือบนรถเมล์ และติดตามข่าวสารด้านความปลอดภัยอย่างใกล้ชิด

> หากมีปัญหาด้านแรงงาน กรุณาแจ้งบริษัทจัดหางานที่ดูแล หากไม่ได้รับความช่วยเหลือ โปรดแจ้งสถานเอกอัครราชทูตฯ หมายเลขโทรศัพท์ (972-9) 954-8412 หรือ 954-8431-3 หรือฝ่ายแรงงานฯ หมายเลขโทรศัพท์ (972-9) 954-8431-3

ขอบคุณข้อมูล 

กระทรวงการต่างประเทศ

สถานเอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย

สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงเทลอาวีฟ