หนุนใช้ บัสอีวี ส่งรถตระกูลไทย ขยายตลาดต่างประเทศ พร้อมพัฒนาคน

หนุนใช้ บัสอีวี ส่งรถตระกูลไทย ขยายตลาดต่างประเทศ พร้อมพัฒนาคน

เมื่อเร็วๆ นี้ สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MoU) เรื่อง การสนับสนุนการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ และรถรับ-ส่งพนักงาน ในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ร่วมกับ

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM) สมาคมพลังงานหมุนเวียนไทย (อาร์อี100) และมูลนิธิพลังงานสะอาดเพื่อประชาชน โดย ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์ ผู้อำนวยการ สอวช. เป็นผู้ร่วมลงนามและกล่าวถึงความร่วมมือระหว่างหน่วยงานในอนาคต

ดร.กิติพงค์ พร้อมวงค์

ดร.กิติพงค์ กล่าวว่า พิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีและเป็นมิติใหม่ของการพัฒนาประเทศ ในการริเริ่มคิดและขับเคลื่อนการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะ หรือรถบัสอีวีของไทย ที่นอกจากจะช่วยเรื่องสิ่งแวดล้อม การพัฒนาเมือง การพัฒนาอุตสาหกรรมของเราเอง นิมิตหมายที่ดีมากในอีกมุมหนึ่งคือ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรม เกิดเป็นรถบัสตระกูลไทย ที่เชื่อว่าในอนาคตไม่เฉพาะขายและใช้งานในประเทศ 120,000 คันเท่านั้น แต่ยังสามารถขยายตลาดต่อไปในประเทศอาเซียนได้

ในส่วนของ สอวช. สนับสนุนเรื่องการทำนวัตกรรม เทคโนโลยี รวมถึงด้านการศึกษา เรามีสภานโยบายด้านการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน และมีกระทรวงต่างๆ อีกกว่า 10 กระทรวง ร่วมกันทำนโยบายให้รัฐบาล และทำระบบสนับสนุนการพัฒนาทางด้านทักษะ ด้านกำลังคน และด้านนวัตกรรม ซึ่งการพัฒนาคน ที่ผ่านมาก้าวหน้าไปมาก สอวช. ได้ทำแพลตฟอร์มพัฒนากำลังคนเพื่อสนับสนุนอุตสาหกรรมเป้าหมาย

ปีที่แล้วมีผู้ผ่านการฝึกอบรมกว่า 50,000 คน และส่งเสริมการจ้างงานบุคลากรทักษะสูงกว่า 5,000 คน ทั้ง 2 ส่วนนี้รัฐบาลยังให้สิทธิประโยชน์คือการนำค่าใช้จ่ายในการฝึกอบรมบุคลากรไปขอยกเว้นภาษีเงินได้จากกรมสรรพากรได้ 250% และค่าใช้จ่ายที่ใช้ในการจ้างงานบุคลากรสามารถนำไปขอยกเว้นภาษีเงินได้ ได้ 150%

“ในมุมการสนับสนุนทางด้านการวิจัยและนวัตกรรม เรื่องที่กำลังเข้า ครม. เร็วๆ นี้ จะมีการจัดระบบการสนับสนุนทางด้านวิจัยและนวัตกรรมรูปแบบใหม่ สนับสนุนไปจนถึงการออกมาเป็นสินค้า และมีเม็ดเงินสนับสนุนให้เกิดเป็นนวัตกรรม รวมถึงยังสามารถสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมได้โดยตรง เป็นสิ่งที่รัฐบาลให้ความสำคัญ และเป็นเป้าหมายหลักของประเทศ” ดร.กิติพงค์ กล่าว

สำหรับวัตถุประสงค์ของความร่วมมือในครั้งนี้ เพื่อส่งเสริมและผลักดันการรับมือกับภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ส่งเสริมและผลักดันการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของไทย

นอกจากนี้ ยังเป็นความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชน ในการพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายทอดองค์ความรู้และการใช้รถยนต์ไฟฟ้าในระบบขนส่งสาธารณะและรถรับ-ส่งพนักงานในภาคอุตสาหกรรม ภาคธุรกิจ และอื่นๆ ส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด การลดปริมาณคาร์บอน และการบริหารจัดการคาร์บอนเครดิตในเขต EEC ที่เป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ สร้างรายได้ กระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศ รวมไปถึงการสร้างสังคมที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ บันทึกข้อตกลงฯ ข้างต้น สอวช. มีบทบาทในการสนับสนุนการเสนอแนวทางการพัฒนาศักยภาพของกลุ่มผู้ประกอบการตามแผนยุทธศาสตร์ชาติและแผนแม่บทในประเทศให้มีความสอดคล้องกับพระราชบัญญัติเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก และสนับสนุนส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาเทคโนโลยีการถ่ายทอดองค์ความรู้และการพัฒนาบุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาให้กับผู้ประกอบการในประเทศ