ผู้เขียน | ยศพิชา คชาชีวะ |
---|---|
เผยแพร่ |
อยากมีกิจการร้านอาหาร ซื้อแฟรนไชส์ หรือ คิดเองทำเอง แบบไหนดีกว่า
คนรุ่นใหม่เจนที่เท่าไหร่แล้วก็ไม่รู้ตั้งกันมั่วย้อนไปย้อนมา รู้แต่ว่าหนุ่มสาวยุคนี้เป็นคนใจเร็ว ใจถึง ไม่ชอบเป็นลูกน้องใคร อยากเป็นเจ้านายตัวเอง ชอบลงทุนทำธุรกิจที่มีโอกาสเติบโตเร็ว ให้กำไรเร็ว แต่ต้องง่ายๆ นะ ทำอะไรยุ่งยากซับซ้อนไม่เอา ที่ว่ามานี้ไม่ได้เหมารวมทั้งหมด คนหนุ่มสาวที่เขาคิดต่างจากนี้ก็มี
ข้อด้อยของคนรุ่นนี้คือ ขาดประสบการณ์ และความรู้ในธุรกิจที่ต้องการทำ พออยากลงทุนทำอะไรเลยไม่รู้จะทำอะไรเพราะไม่เคยทำอะไร คิดจะเปิดร้านอาหาร หรือดีลิเวอรี ก็คิดวนไปวนมา อุ๊ย! หม่าล่ากำลังฮิต ขายหม่าล่าดีกว่า เอ๊ะ! หรือขายพวกอาหารจานเดียวดีกว่า ขายง่าย แต่จะทำไงหว่า เริ่มต้นยังไงดี
หลายคำถามวนไปวนมา เลยมาลงที่ซื้อธุรกิจแฟรนไชส์มาเปิดเลยดีกว่า ไม่ต้องคิด ไม่ต้องทำเยอะ รวมไปถึงเรื่องตกแต่งร้าน จุดขาย รถเข็น มีให้หมด ของวัตถุดิบ หน้าร้าน แบรนด์ เขาก็จัดประเคนไว้ให้ โฆษณาประชาสัมพันธ์ไม่ต้องทำเอง อยู่ในแผนธุรกิจของแฟรนไชส์ พนักงานขอให้จัดหาคนได้ส่งไปอบรมกับเขาเดี๋ยวก็เปิดได้
ดูๆ แล้วการซื้อธุรกิจแฟรนไชส์มาเปิดเป็นทางเลือกที่ดีในการทำธุรกิจ เพราะแม้แต่การคาดการณ์ กำไรสุทธิเหลือเท่าไหร่เขาก็คิดให้ หลังจากหักค่าแฟรนไชส์ ค่าธรรมเนียม วัตถุดิบ พนักงาน ค่าจิปาถะต่างๆ ไปแล้ว
เคยมีนักเรียนคนหนึ่งมาเรียนคอร์สอาหารอีสานที่โรงเรียนแม่บ้านทันสมัย คุยไปคุยมาเขาสารภาพว่าเปิดร้านอาหารอีสานอยู่แล้วแต่ทำอาหารไม่เป็น ไปซื้อแฟรนไชส์เขามา ยี่ห้อดังเล็กน้อย ตอนแรกก็ดูดี มีแบรนด์ ช่วยออกแบบร้าน มีสูตร ระบบ จัดหาพนักงานให้ด้วย วัตถุดิบจัดส่งให้หมด ค่าแฟรนไชส์หลายแสน ยังไม่รวมค่าส่วนแบ่งรายเดือน ค่าเปอร์เซ็นต์การตลาด
ช่วงเปิดใหม่ๆ ขายดีเชียว เปิดๆ ไป เอ๊ะ! ทำไมค่าวัตถุดิบแพงจัง เหลือกำไรน้อย เพราะทีมกุ๊กเป็นคนจัดซื้อ ก็ทู่ซี้เปิดไป พอเจ้าของคิดปล่อยไว้ไม่ได้แล้ว เข้าไปคุมเข้มการขาย รายจ่าย ทีมกุ๊กยกพวกลาออกเลย คราวนี้ก็เคว้งซิ เจ้าของเลยต้องยกทีมมาเรียนทำอาหารอีสาน เรียนเสร็จนักเรียนบอกว่า รู้อย่างงี้มาเรียนทำเองซะตั้งนานแล้ว แค่หลักพัน ไม่ต้องไปเสียหลักแสน
ไม่ใช่ว่าแฟรนไชส์ทุกเจ้าจะเป็นอย่างนี้ไปหมด แฟรนไชส์ดีๆ มีเยอะไปครับ จะซื้อแฟรนไชส์มาเป็นธุรกิจควรต้องดูอะไรบ้าง
หนึ่ง แบรนด์ดังไหม หรือโนเนม ถ้าแบรนด์ดังมีร้านแฟรนไชซีเปิดเยอะแยะ ดูแล้วประสบความสำเร็จทุกร้าน อย่างนี้ก็น่าซื้อ แต่ถ้าโนเนมต้องพิจารณาอย่างอื่นประกอบด้วยอีกหลายประการ
สอง สินค้า คืออะไร เอกลักษณ์ของร้านแฟรนไชส์ที่สำคัญคือ สินค้านั้นต้องยากต่อการทำเองหรือลอกเลียนแบบ มีความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว คนเขาถึงจะมาซื้อไปขาย เช่น แฟรนไชส์บะหมี่ เส้นบะหมี่นั้นทำขึ้นมาเฉพาะ ใครเอาไปทำเองไม่เหมือน ยังไงต้องใช้เส้นจากแฟรนไชส์นี้ ไม่งั้นไม่ใช่แบรนด์นี้ หรือแฟรนไชส์ชาต้องใช้ชายี่ห้อนี้เท่านั้น และมีวิธีการชงตามที่กำหนดถึงจะเป็นชารสนี้ของแบรนด์นี้
แต่ถ้าเป็นพวกทั่วๆ ไป เนื้อปิ้ง หมูปิ้ง หมูสะเต๊ะ ข้าวมันไก่ ปาท่องโก๋ อย่างงี้ต้องย้อนกลับไปดูข้อแรก ถ้า แบรนด์ดัง โฆษณาดี การตลาดดี สาขาเยอะ อาจจะซื้อมาขายก็ได้ แต่ถ้าแบรนด์โนเนมก็ไม่จำเป็นต้องไปซื้อเขา พวกอาหารอย่างนี้สามารถหัดทำเอง ทำสูตรขายได้ เพราะเอาแบรนด์เขามาต้องเสียตังค์ให้เขา แต่ไม่ได้ช่วยการขายเราสักเท่าไหร่ ในส่วนของสินค้านี้ต้องถามตัวเราเองด้วยว่าชอบไหม อยากกิน อยากทำหรือเปล่า มันต้องมีความอยาก ถึงจะน่าทำ อย่าไปฝืนขายของที่เราไม่ชอบ จะไม่ได้ดี
สาม มีระบบแฟรนไชส์ คือแฟรนไชส์จะให้อะไรบ้าง เช่น ป้าย ซุ้ม รถเข็น ออกแบบตกแต่งร้าน การพิจารณาทำเล ช่องทางการขาย เครื่องมือ อุปกรณ์ แผนการตลาด โฆษณา ประชาสัมพันธ์เป็นยังไง เราเข้าไปแล้ว เขาจะช่วยโฆษณายังไงให้มั่ง สินค้า วัตถุดิบสั่งซื้อ จัดส่งยังไง ต้องสั่งอะไรบ้าง ยอดขั้นต่ำแค่ไหน คิดค่าธรรมเนียมแรกเข้าเท่าไหร่ ค่าส่วนแบ่งเท่าไหร่ มีหรือไม่ ถ้าต้องการยกเลิกแฟรนไชส์ก่อนหมดสัญญามีค่าปรับไหม
ต้องจ่ายค่าการตลาดอีกไหม รวมหมดแล้ว หรือการตลาดไม่ทำอะไรให้เลย ให้รถเข็นกับขายวัตถุดิบให้เป็นจบ ไปจนถึงกระบวนการวิธีทำงาน การจัดหาพนักงาน อบรม เช่น การจัดหน้าร้าน ขั้นตอนการประกอบอาหาร การเสิร์ฟ และอีกจิปาถะ แฟรนไชส์ที่ดีควรจะเป็นแฟรนไชส์ที่ไม่ทอดทิ้งแฟรนไชซี ติดตามให้ความช่วยเหลือ ให้คำแนะนำตลอด ไม่หวังขายของแต่เพียงอย่างเดียว ต้องช่วยแฟรนไชซีให้รอดด้วย
สี่ เงินลงทุนและผลกำไรที่คาดว่าจะได้ ทุกแฟรนไชส์จะคิดสะระตะโฆษณามาเสร็จสรรพ ต้องลงทุนกี่หมื่น กี่แสน คนซื้อได้อะไรบ้าง น่าจะคืนทุนได้ภายระยะเวลาเท่าไหร่ มันเป็นตัวเลขกลมๆ ที่แฟรนไชส์อ้างมา ซึ่งคนซื้อต้องมานั่งกดเอาเองว่าจริงๆ มันจะเป็นอย่างนั้นไหม