มีอยู่จริง Starbucks ถูกฟ้องข้อหาขายน้ำผลไม้ที่ไม่มีผลไม้ ลั่นพร้อมสู้คดีที่ไม่มีคุณธรรม

“ขายน้ำผลไม้ที่ไม่มีผลไม้” เป็นข้อหาที่สตาร์บัคส์ (Starbucks) แบรนด์ร้านกาแฟยักษ์ใหญ่ของโลกโดนผู้บริโภคในสหรัฐฯ ยื่นฟ้อง และศาลปฏิเสธคำขอยกฟ้องของสตาร์บัคส์ เดินหน้ากระบวนการพิจารณาคดีต่อไป 

เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2023 ที่ผ่านมา สำนักข่าวรอยเตอร์ส (Reuters) รายงานว่า ศาลชั้นต้นของรัฐบาลกลางสหรัฐฯ สั่งฟ้องร้องสตาร์บัคส์ (Starbucks) แบรนด์กาแฟยักษ์ใหญ่ระดับโลก ในข้อหาขายเครื่องดื่มหลายเมนูในไลน์ “Refresher” โดยระบุว่าเป็นเครื่องดื่มน้ำผลไม้ แต่เครื่องดื่มนั้นกลับไม่มีส่วนผสมที่สำคัญ นั่นก็คือ “ผลไม้”

ก่อนหน้านี้ ผู้บริโภคยื่นคำฟ้องว่าเครื่องดื่ม 6 เมนูของสตาร์บัคส์ ได้แก่ Mango Dragonfruit, Mango Dragonfruit Lemonade, Pineapple Passionfruit, Pineapple Passion Fruit Lemonade, Strawberry Açai และ Strawberry Açai Lemonade Refreshers ไม่มีผลไม้เป็นส่วนผสมตามที่โฆษณาว่าเป็นเครื่องดื่มรสมะม่วง เสาวรส และอาซาอิ

ล่าสุด เมื่อวันที่ 18 กันยายน 2023 จอห์น โครแนน (John Cronan) ผู้พิพากษาศาลเขตแมนฮัตตัน ในนครนิวยอร์ก ซึ่งเป็นศาลชั้นต้นในระบบศาลรัฐบาลกลางสหรัฐฯ ได้ปฏิเสธคำร้องของสตาร์บัคส์ที่ร้องขอให้ศาลเพิกถอนคำฟ้อง 9 ข้อหา จากทั้งหมด 11 ข้อหา ในการดำเนินคดีแบบกลุ่ม

โดยผู้พิพากษากล่าวว่า ผู้บริโภคส่วนใหญ่ในกระบวนการทดสอบผู้บริโภคที่สมเหตุสมผล (reasonable-consumer test) คาดหวังว่าเครื่องดื่มที่ได้รับจะมีผลไม้ตามที่ระบุอยู่ในชื่อเมนู

โจน โคมินิส (Joan Kominis) โจทก์รายหนึ่งจากเมืองแอสโตเรีย รัฐนิวยอร์ก และเจสัน แม็กอัลลิสเตอร์ (Jason McAllister) จากเมืองแฟร์ฟิลด์ รัฐแคลิฟอร์เนีย กล่าวว่า ส่วนผสมหลักของเครื่องดื่มเหล่านี้คือน้ำ น้ำองุ่นเข้มข้น และน้ำตาล และกล่าวว่า ชื่อที่ทำให้เข้าใจผิดของสตาร์บัคส์ทำให้ลูกค้าต้องจ่ายเงินในราคาแพงจริง ซึ่งเป็นการละเมิดกฎหมายคุ้มครองผู้บริโภค

ในการยื่นคำขอให้ศาลยกฟ้อง สตาร์บัคส์โต้แย้งว่า ชื่อโปรดักต์บอกถึงรสชาติของเครื่องดื่ม ไม่ใช่ส่วนผสม และป้ายเมนูของร้านก็โฆษณารสชาติเหล่านั้นอย่างถูกต้องแล้ว และยังบอกอีกว่า ไม่มีผู้บริโภคที่สมเหตุสมผลคนไหนหรอกที่จะสับสน และพนักงานบาริสต้าของบริษัทก็สามารถขจัดความสับสนได้ดีพอ หากผู้บริโภคมีคำถาม

ฟังดูอาจเหมือนว่าจะคล้ายกับคำว่า “วานิลลา” ที่อยู่ในเครื่องดื่ม ขนม ไอศกรีม ซึ่งก็เป็นที่เข้าใจกันว่าไม่มีส่วนผสมของ “วานิลลา” แท้ๆ แต่เป็นสารแต่งกลิ่นเท่านั้น

แต่ผู้พิพากษากล่าวว่า คดีนี้ไม่เหมือนกับคำว่า “วานิลลา” ซึ่งเคยเป็นประเด็นของการฟ้องร้องหลายคดีก่อนหน้านี้ เนื่องจากไม่มีอะไรที่บ่งชี้ได้ว่าคำว่า “มะม่วง” “เสาวรส” และ “อาซาอิ” เป็นคำที่เข้าใจได้โดยทั่วไปว่าเป็นคำที่บอก “รสชาติ” โดยที่ไม่ได้บอกถึง “ส่วนผสม” ด้วย

ผู้พิพากษาบอกอีกว่า ความสับสนของผู้บริโภคเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เนื่องจากผลิตภัณฑ์อื่นๆ ของสตาร์บัคส์นั้นมีส่วนผสมตามชื่อเมนูจริงๆ เช่น Ice Matcha Tea Latte ซึ่งมีมัตฉะจริง และ Honey Citrus Mint Tea ซึ่งมีน้ำผึ้งและมินต์เป็นส่วนผสมจริงๆ

อย่างไรก็ตาม ผู้พิพากษายกฟ้องในข้อกล่าวหาเรื่องการฉ้อโกง เนื่องจากไม่พบข้อพิสูจน์ว่าสตาร์บัคส์มีเจตนาฉ้อโกงผู้บริโภค และยกฟ้องข้อกล่าวหาเรื่องลาภมิควรได้ (จากการขายเครื่องดื่มในราคาสูงเกินควร)

ทั้งนี้ ในแถลงการณ์ของสตาร์บัคส์ ระบุว่า ข้อกล่าวหาในคดีนี้ “ไม่ถูกต้องและไม่มีคุณธรรม” และระบุว่า บริษัทตั้งหน้าตั้งตารอที่จะต่อสู้คดี