เผยแพร่ |
---|
จากกรณีกรมสรรพสามิตเตรียมออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดอัตราภาษีใหม่ของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รองรับร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพสามิต ฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการพิจารณาจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว และเตรียมประกาศลงในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งจะมีการปรับเปลี่ยนวิธีการจัดเก็บภาษี โดยใช้ฐานภาษีจากราคาขายปลีกแนะนำแทนราคาขายส่ง และคิดภาษีทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณ ซึ่งจะทำให้เก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น โดยอัตราภาษีเพิ่มขึ้นสูงสุดถึง 150%
เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ร่าง พ.ร.บ.ภาษีสรรพาสามิตฉบับใหม่ที่จะมีผลบังคับใช้ภายในปีนี้ เป็นการประมวลกฎหมายภาษีสรรพสามิต 7 ฉบับมารวมเป็นฉบับเดียว ซึ่งจะมีในส่วนของเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ด้วย ซึ่งหากกฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้จะส่งผลให้เกิดการปรับเปลี่ยนรูปแบบการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และช่วยให้เก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้นและลดความไม่เท่าเทียมของการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ลง
“ในอดีตประเทศไทยใช้วิธีการจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แบบ “2 เลือก 1” คือ พิจารณาว่าระหว่างภาษีตามปริมาณหรือดีกรี และภาษีตามมูลค่าหรือราคาของเครื่องดื่ม แบบใดเก็บภาษีได้มากกว่า ก็เลือกเก็บภาษีด้วยวิธีนั้น และมีการปรับเปลี่ยนวิธีเก็บภาษีใหม่เมื่อปี 2556 เป็นแบบ “3 เก็บ 2″ คือ เก็บทั้งภาษีตามมูลค่าและตามปริมาณ แต่ภาษีตามปริมาณนั้นจะเลือกว่า ระหว่างภาษีตามปริมาณดีกรี หรือภาษีตามปริมาตรของเครื่องดื่มคือนับตามมิลลิลิตร แบบใดจัดเก็บได้สูงกว่าก็จะเลือกแบบนั้น ซึ่งวิธีดังกล่าวมีความไม่เท่าเทียมและเป็นการเอื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภท ยกตัวอย่าง หากเก็บภาษีตามปริมาตรเพราะได้ภาษีสูงกว่าตามดีกรี เบียร์ที่มีปริมาตรเท่ากัน แต่ยี่ห้อหนึ่งมี 5 ดีกรี อีกยี่ห้อมี 3 ดีกรี เบียร์ที่มีดีกรีต่ำกว่าก็จะต้องเสียภาษีมากกว่า เพราะต้นทุนสูงกว่า เป็นต้น” นพ.บัณฑิต กล่าว
นพ.บัณฑิต กล่าวว่า วิธีเก็บภาษีแบบเดิมนี้เป็นการอุ้มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์บางประเภท โดยเฉพาะเครื่องดื่มที่ผลิตในประเทศไทย ซึ่งเข้าใจว่าต้องการช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจของประเทศ แต่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไม่ใช่สินค้าทั่วไปที่ควรมีการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันกัน ซึ่งร่าง พ.ร.บ.สรรพสามิตฉบับใหม่นี้ เก็บภาษีจะเป็นลักษณะ 1+1 คือ เก็บทั้งตามมูลค่าและตามปริมาณดีกรี ไม่เก็บตามปริมาตร ก็จะช่วยลดปัญหาความไม่เท่าเทียมตรงนี้ลงไปได้ อย่างไรก็ตาม ในส่วนของสุรายังมีความไม่เท่าเทียมในเรื่องของอัตราภาษี ซึ่งมีการแบ่งเป็นหลายประเภท ทั้งสุราขาว สุราผสม สุราพิเศษ และสุราปรุงพิเศษ อัตราภาษีก็จะไม่เท่ากัน ดังนั้น การออกกฎหมายลูกเพื่อกำหนดโครงสร้างและอัตราภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ใหม่ ก็ต้องพิจารณาเรื่องเหล่านี้เพื่อลดความไม่เท่าเทียมในการจัดเก็บภาษีด้วย รวมถึงคำนึงเรื่องของการขึ้นภาษีที่ต้องครอบคลุมทั้งกระดานเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ทุกประเภท เพราะหากขึ้นแค่บางประเภท ผู้บริโภคจะหันไปบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ที่มีราคาถูกกว่าแทน
เมื่อถามว่ารัฐบาลจัดเก็บภาษีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ได้มากขึ้น แต่มีกระแสว่าจะลดงบประมาณ สสส.ลง นพ.บัณฑิต กล่าวว่า เรื่องนี้ตนไม่ทราบ แต่หากมีการลดงบประมาณจริง อาจกระทบการดำเนินงานของ สสส. ที่เป็นกลไกทางสังคมในการช่วยภาครัฐในประเด็นการสร้างเสริมสุขภาพได้
ที่มา มติชนออนไลน์