เปิดใจ “แป้ง zbing z.” จากเด็กติดเกม สู่แคสเตอร์เกมหญิงเบอร์หนึ่งของไทย

เอ่ยถึงเหล่าเน็ตไอดอล ที่สร้างรายได้บนยูทูบและโซเชียลมีเดีย หลายคนคงคุ้นชินแต่ “บิวตี้ บล็อกเกอร์” ผู้ทำหน้าที่รีวิวเครื่องสำอาง ตลอดจนเรื่องไลฟ์สไตล์ ที่ได้รับความสนใจจากชาวเน็ตจนมีผู้ติดตามขึ้นเรื่อยๆ ทำเงินมหาศาล

แต่ยังมีอีกอาชีพหนึ่งที่เรียกว่า นักแคสเกม หรือแคสเตอร์เกม ที่จะสรรหาเกมต่างๆ มาเล่นเป็นตัวอย่างให้กับคนที่ต้องการรู้วิธีเล่นให้ผ่านด่าน ที่คนไทยยึดอาชีพนี้อยู่ไม่น้อยด้วยตัวเลขหลักหมื่น

ซึ่งถ้าเอ่ยถึงนักแคสเกมเบอร์ต้นๆ ของเมืองไทย ชื่อของ แป้ง-นัยรัตน์ ธนไวทย์โกเศส แคสเตอร์เกมหญิงอันดับหนึ่งของไทยย่อมไม่เคยหลุดจากโผ แถมยังก้าวแซงผู้ชายที่ครองตลาดมายาวนานหลายคนขึ้นมา ด้วยตัวเลขผู้ติดตามในยูทูบกว่า 1 ล้าน 7 แสนคน มียอดฟอลโลว์ในเฟซบุ๊กกว่า 1 แสน 7 หมื่นคน สามารถทำรายได้จากการเล่นเกมได้เดือนละครึ่งแสนเป็นอย่างต่ำ ในเวลาเพียงแค่ 2 ปี ขึ้นแท่นเน็ตไอดอลขวัญใจวัยรุ่น

เช่นเดียวกับนักแคสเกมคนอื่นๆ เเป้งเป็นเด็กติดเกมคนหนึ่ง ไม่ว่าเกมบอย เกมตลับไปจนถึงเกมออนไลน์อย่างแร็กนาร็อก แต่ยอมรับว่าไม่เคยทำให้เสียการเรียน กระทั่งเรียนจบปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ในด้านคอมพิวเตอร์ธุรกิจ ความชื่นชอบนี้ก็ยังคงอยู่ บวกกับได้เห็นนักแคสเกมต่างประเทศเป็นแรงบันดาลใจ จึงเป็นที่มาให้เธอยึดอาชีพนี้

แต่คิดอย่างเดียวคงไม่พอ เเป้งจึงต้องศึกษาเพิ่มเติมทั้งการตัดต่อ ทำกราฟิก ซึ่งทุกอย่างหาได้บนยูทูบจากแชนแนลต่างๆ ก่อนจะออกมาเป็นคลิปแรกบนช่องยูทูบของเธอว่า zbing z (ซีบิง ซี) ที่มีคนชมเพียงแค่หลักร้อยในช่วงแรก ก่อนจะไต่ระดับเรื่อยมาจนตอนนี้มียอดชมคลิปที่มากที่สุดอยู่ที่ 5 ล้าน 6 แสนวิว และมียอดคลิกชมในเดือนๆ หนึ่งมากกว่า 61 ล้านวิวด้วยกัน

จุดเด่นของการทำคลิปของ ซีบิง ซี อยู่ที่การใส่เรื่องราวและการพากย์เสียงเป็นตัวละครต่างๆ ใส่อารมณ์ขันส่วนตัวเข้าไปในเกม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกมอินดี้ทั่วไปที่หาเล่นตามได้ ทั้งยังเน้นความสม่ำเสมอในการอัพคลิปวิดีโอทุกๆ วัน เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามาชม ทำให้กลุ่มผู้ชมกระจายตัวตั้งแต่ประถมต้น ไปจนถึงมหาวิทยาลัย

ซึ่งเเป้งบอกว่านี่คือข้อดีของแคสเตอร์เกมที่เป็นผู้หญิง

“ที่มีคนติดตามเยอะแป้งคิดว่าด้วยการพากย์ที่เป็นสไตล์ และจุดเด่นอย่างการเป็นผู้หญิงที่เล่นเกมได้หลายแนว ทั้งฮาร์ดคอร์ หรือสดใสน่ารัก ผู้หญิงจึงเข้าสู่วงการเกมมากขึ้น แม้ว่าแรกๆ จะเป็นข้อด้อยเพราะวงการนี้คนจะมองว่ามีแต่ผู้ชาย คนจะเข้ามาติดตามเพราะเห็นเป็นผู้หญิงโดยไม่ดูความสามารถที่แท้จริง เราก็ต้องพิสูจน์ตัวเองให้เขาเห็น”

“ทุกคลิปเราจึงต้องตั้งใจ ทุกครั้งเราจึงต้องเตรียมตัวให้ดี ศึกษาเกม วางพล็อตเรื่อง อัดคลิป มีการตัดต่อนำกรีนสกรีนมาใช้ แต่ละคลิปไม่ง่าย มีบ้างบางคลิปที่คนดูน้อย แต่มันก็แล้วแต่คนดู เราไปขอร้องให้เขามาดูแล้วบอกว่าเราตั้งใจมากไม่ได้ แต่ต้องคอยศึกษาว่าคนชอบแบบไหน แล้วไปพัฒนา ปรับปรุงอยู่ตลอด”

ที่สำคัญคือต้องสร้างสรรค์

“ปัจจุบันยูทูบเหมือนช่องทางหนึ่งที่เด็กใช้ชีวิตอยู่ด้วยมากกว่าโทรทัศน์เขาเปิดดูสิ่งต่างๆ มากมาย ด้วยผู้ชมแป้งส่วนใหญ่เป็นน้องๆ เด็กๆ เราจะคิดเสมอว่าต้องไม่หลุดคำหยาบบ่อย เพราะผู้ปกครองจะคิดว่าเราสอนอะไรลูกเขา มีบ้างที่ผู้ปกครองจะขอให้เราบอกลูกเขาว่าให้ตั้งใจเรียน แบ่งเวลา ซึ่งแป้งพูดในคลิปตลอด ยกตัวอย่างว่า อย่างน้อยเราก็จะได้เรียนรู้ศัพท์ต่างๆ ในเกมได้ เราคิดว่าแคสที่ดีไม่ใช่อยากพูดอะไรก็พูด เราต้องใส่ใจคนดูด้วย”

ทุกวันนี้นอกจากจะสร้างรายได้จากโฆษณาบนยูทูบแล้ว

เธอยังมีรายได้จากการสังกัดออนไลน์สเตชั่น โอเอส แคสเตอร์ ที่รวบรวมเหล่าแคสเตอร์ ทำไอเท็มต่างๆ อย่างพ็อกเก็ตบุ๊ก สมุด ริสต์แบนด์ รวมทั้งรีวิวอุปกรณ์ต่างๆ ออกอีเวนต์พบปะแฟนๆ บ้าง เป็นรายได้อีกช่องทางหนึ่ง แม้จะไม่อยากเปิดเผยรายได้นักแต่ก็พอเลี้ยงตัวเองได้ ส่งเงินให้ที่บ้านโดยไม่ลำบาก

ก่อนจะฝากไว้เป็นตัวอย่างของความสำเร็จว่า

“คนเห็นแคสเตอร์ต่างชาติได้เงินเยอะชอบคิดว่าทำอาชีพนี้แล้วรวย จริงๆ ไม่ใช่เลย เดือนแรกที่ลงทุนซื้อไมค์ ซื้อคอมพ์ใหม่ มีค่าตอบแทนแค่ 300 บาท มันไม่ใช่ว่าลงทุนแล้วจะได้เงิน แป้งใช้เวลาตั้ง 2 ปีกว่าจะมีวันนี้ เราต้องขยัน ใจต้องรัก ไม่ใช่คิดถึงแต่รายได้อย่างเดียว หากอยากจะทำแล้วเราต้องลงมือเลย เพราะหากผัดไปเรื่อยๆ เราก็คงยังไม่มีคลิปแรกสักที”

อีกหนึ่งเน็ตไอดอลขวัญใจวัยทีน