ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
สาระมาเต็ม เจ้าพ่อเกรย์ฮาวด์ แชร์มุมคิด กลยุทธ์พิชิตความสำเร็จ
กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ เดินหน้าสานต่อ “โครงการส่งเสริมนักออกแบบไทยสู่ตลาดโลกปี 2566” ภายใต้ชื่อ Designers’ Room / Talent Thai & Creative Studio Promotion 2023 โดยมีเป้าหมายเพื่อสร้างผู้ประกอบการและนักออกแบบรุ่นใหม่ที่มีศักยภาพด้านการส่งออกในทุกภูมิภาค มีโอกาสเข้าสู่การเป็นแบรนด์นักออกแบบ และมีบทบาทต่อระบบเศรษฐกิจของไทย
โดยได้คัดเลือกนักออกแบบจากทั่วประเทศกว่า 60 ราย ให้ได้รับการบ่มเพาะ เสริมสร้างความรู้ด้านการสร้างแบรนด์ การจัดทำแผนธุรกิจ ครอบคลุมตั้งแต่การทำความเข้าใจลักษณะของตลาดแต่ละประเทศ พฤติกรรมผู้บริโภค เทรนด์ความยั่งยืน การตลาดดิจิทัลและการใช้สื่อออนไลน์ องค์ความรู้ที่ตอบสนองความต้องการของตลาด Megatrends และ Next Normal
เพื่อเพิ่มขีดความสามารถของนักออกแบบไทยรุ่นใหม่ ให้สามารถพัฒนาธุรกิจและปรับตัวตามความต้องการของตลาดต่างประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านหลักสูตรการฝึกอบรมให้ความรู้แก่นักออกแบบ ทั้ง 2 หลักสูตร ได้แก่ ความรู้พื้นฐานของการเป็นนักออกแบบระดับสากลและค่ายบ่มเพาะนักออกแบบไทยสู่สากล
ซึ่งปีนี้ ได้เชิญ คุณภาณุ อิงคะวัต ที่ปรึกษาในองค์กรเพื่อสังคม และผู้ก่อตั้งบริษัทแบรนด์ Greyhound มาให้ความรู้ในหัวข้อ “การสร้างแบรนด์ในระดับสากล”
คุณภาณุ ได้สะท้อนมุมมองการออกแบบไว้อย่างน่าสนใจว่า ความคิดสร้างสรรค์ และความสามารถของคนไทยถือเป็นที่ยอมรับอันดับต้นๆ ของเอเชีย และเป็นที่จับตามองของหลายประเทศทั่วโลก แต่เรื่องหนึ่ง ที่บ้านเรายังขาดอยู่คือ การคิดอย่างเป็นระบบ รวมถึงการวางแผนและมีกลยุทธ์ที่ชัดเจน ซึ่งมีผลต่อการแข่งขันในตลาดและแนวทางการดำเนินธุรกิจในระยะยาว
ดังนั้น นักออกแบบทุกคน ต้องเริ่มจากการเปลี่ยนความคิดที่มีต่องานออกแบบ ว่า “All Design = Business” เพราะเราต้องการขายงานให้มีรายได้ และใช้ความคิดสร้างสรรค์คู่กับการสร้างธุรกิจเพื่อนำไปสู่ความสำเร็จ
สำหรับการทำธุรกิจให้ยั่งยืนและอยู่ได้นานต้องเกิดจากการสร้างแบรนด์ ซึ่งหมายถึง การเป็นที่รู้จักและถูกยอมรับจากลูกค้าจนเกิดเป็นความชอบ ความผูกพันและประสบการณ์ที่ลูกค้ามีต่อแบรนด์ เนื่องจากแบรนด์เป็นพลังที่ซ่อนอยู่ในใจของผู้คน มีอิทธิพลต่อความคิด ความรู้สึก ทัศนคติ และมีผลต่อการตัดสินใจซื้อ
ซึ่งการสร้างแบรนด์ที่เข้มแข็งจะทำให้เกิดเป็นจิตวิญญาณของแบรนด์ หรือที่หลายคนเรียกว่า Brand Value อันเป็นเสน่ห์เฉพาะตัวของแบรนด์ที่ลูกค้าจับต้องได้ทั้งทางความรู้สึกและจับต้องได้จริง นำไปสู่การต่อยอดและสร้างคุณค่าได้อีกมากมาย
คุณภาณุ บอกอีกว่า การสร้างธุรกิจให้สำเร็จ จำเป็นต้องอาศัยหลักการที่เป็นหัวใจสำคัญ 3 ประการ ได้แก่หนึ่ง ทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักและได้รับความนิยม จะทำให้เกิดความเชื่อถือในหมู่ลูกค้า และขยายวงกว้างออกไปเป็นความต้องการสินค้าที่เพิ่มมากขึ้น
สอง สิ่งที่เราอยากทำต้องมาบรรจบกันกับสิ่งที่ลูกค้าต้องการ การทำงานต้องมาจาก Passion ที่ตัวเองมี โดยต้องนำมาปรับใช้ให้สอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า เพื่อสร้างความต้องการในการซื้อขายสินค้า
และ สาม ความร่วมมือจากหลายส่วน ความสำเร็จไม่สามารถเกิดได้จากคนเดียว แต่ต้องเกิดจากคนหลายส่วน เช่น ดีไซเนอร์ พนักงานขาย นักประชาสัมพันธ์ และกราฟิกดีไซเนอร์ หรือแม้แต่การทำงานร่วมกันระหว่างแบรนด์ (Collaboration) เพื่อทำให้เกิด The Best of Totality ของแบรนด์
มาถึงเคล็ดลับในการค้นหาจิตวิญญาณของแบรนด์ คุณภาณุ บอกว่า จิตวิญญาณของแบรนด์ คือรากฐานสำคัญที่ทำให้แบรนด์แข็งแรง มั่นคง และยืนหยัดได้อย่างโดดเด่นท่ามกลางการแข่งขันของตลาด ซึ่งเคล็ดลับ ที่จะช่วยค้นหาจิตวิญญาณของแบรนด์
ประกอบด้วย รู้จักสินค้าอย่างดีและเข้าใจเอกลักษณ์ที่แตกต่างของตัวเอง สามารถอธิบายและบอกเล่าถึงเอกลักษณ์ที่โดดเด่นของตัวเองได้ผ่านสินค้าหรือการตลาด เรียนรู้เกี่ยวกับตลาดหรือคู่แข่ง ทั้งเรื่องเทรนด์ ราคา หรือแนวโน้มตลาดอื่นๆ เพื่อมองหาโอกาสและช่องว่างที่จะยืนในตลาดได้อย่างมั่งคง
และ เรียนรู้ความต้องการของลูกค้า โดยเริ่มจากการแยกแยะกลุ่มเป้าหมายที่ชัดเจน เพื่อเรียนรู้และทำความเข้าใจพฤติกรรมและความชอบของลูกค้าเหล่านี้ นำไปสู่การออกแบบสินค้าและบริการที่ตรงใจ
ทั้งนี้ เมื่อสร้างแบรนด์จนมั่นคงแล้ว การขยายโอกาสไปสู่ตลาดต่างประเทศ อาจเป็นสิ่งที่หลายคนมองหา แต่อันดับแรก ควรตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าธุรกิจที่ทำอยู่จำเป็นต้องไปต่างประเทศหรือไม่ และมีความพร้อมแค่ไหนทั้งในแง่ของการจัดการธุรกิจ การบริการ และค่าใช้จ่าย รวมทั้งตลาดในประเทศไทยอิ่มตัวจนไม่สามารถขยายธุรกิจได้แล้วหรือไม่ หากสามารถตอบคำถามเหล่านี้ได้ และพบว่าตัวเองมีความพร้อมที่จะไปต่างประเทศแล้ว
ซึ่ง คุณภาณุ ได้ให้คำแนะนำไว้ ดังนี้ รู้ว่าแบรนด์ของตัวเองเป็นที่รู้จักในต่างประเทศ เพราะหากแบรนด์ไม่ได้เป็นที่รู้จักในต่างประเทศ อาจมีผลต่อการลงทุนในสายตาของนักลงทุน และจำเป็นต้องใช้ทรัพยากรมากกว่าแบรนด์ที่คนต่างชาติรู้จัก ดังนั้น ควรเริ่มต้นจากการทำให้แบรนด์เป็นที่รู้จักในหมู่คนต่างชาติ
เช็กลิสต์ความพร้อมไปต่างประเทศ ทั้งในแง่ของคุณภาพและความแตกต่างของสินค้า ราคาการบริการที่มีประสิทธิภาพ รวมไปถึงการตลาดที่จะช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจตั้งแต่การสร้างคอนเทนต์เพื่อใช้สื่อสารกับลูกค้า การออกงานอีเวนต์หรืองานแฟร์ที่ช่วยโปรโมตแบรนด์ให้มีตัวตน รวมถึงการทำโปรโมชันต่างๆ
และรู้ Position ของแบรนด์ ผ่านการทำ Brand Mapping ระหว่างแบรนด์ของตัวเองกับแบรนด์คู่แข่งในตลาดของประเทศที่จะไป เพื่อใช้กำหนดทิศทางและกลยุทธ์ที่เหมาะสม
ทั้งนี้ ผู้สนใจสามารถติดตามและสอบถามข้อมูลของโครงการเพิ่มเติมได้ที่ กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ (DITP) กระทรวงพาณิชย์ www.ditp.go.th สายด่วนการค้าระหว่างประเทศ โทร. 1169 หรือผ่านทาง Facebook page : Talent Thai & Designers’ Room