ทำความรู้จัก “คิดโคตรใหญ่” นโยบายเพื่อไทย หวัง ‘สร้างงาน สร้างรายได้ 20 ล้านครัวเรือน’ ด้วย OFOS และ THACCA

ทำความรู้จัก “คิดโคตรใหญ่” นโยบายเพื่อไทย หวัง ‘สร้างงาน สร้างรายได้ 20 ล้านครัวเรือน’ ด้วย OFOS และ THACCA

เราต่างรู้จักดีกับคำว่า ซอฟต์พาวเวอร์ (Soft Power) เป็นคำที่ใครต่อใครก็รู้หน้าที่ของคำนี้ว่าคืออะไร ตัวอย่างง่ายๆ ลองนึกภาพลิซ่าถือลูกชิ้นยืนกิน ลิซ่าใส่ผ้าถุง ลิซ่าเที่ยวอยุธยา ลิซ่าใส่เครื่องประดับรัดเกล้ายอดประยุกต์ นี่แหละที่เราเคยเห็น

แต่นโยบายของเพื่อไทยไปไกลกว่านั้น เพราะเมื่อวันที่ 28 สิงหาคมที่ผ่านมา เพจเฟซบุ๊ก CARE คิด เคลื่อน ไทย ได้หยิบนโยบายที่เกือบถูกลืมนี้ขึ้นมาอธิบายอีกครั้งถึง ‘OFOS’ และ ‘THACCA’ ซึ่งมีส่วนสำคัญในการดันซอฟต์พาวเวอร์ “คนไทย” ทั้ง 8 ด้าน ได้แก่ อาหาร ดนตรี ภาพยนตร์ หนังสือ ศิลปะ การออกแบบ/แฟชั่น กีฬา และการท่องเที่ยว จาก “1 ครอบครัว 1 Soft Power”

เพื่อ “Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศ!” ให้เกิด “แรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูง” กว่า 20 ล้านคนจาก 20 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ และสามารถสร้างงานได้มากถึง 20 ล้านตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นนโยบายที่สร้างงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์

วันนี้ เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ จะชวนไปรู้จัก OFOS และ THACCA “คิดโคตรใหญ่” ว่าแท้จริงแล้วคืออะไร

แล้ว Soft Power ของเพื่อไทย คืออะไร

เมื่อเพื่อไทยประกาศนโยบาย Soft Power ออกมา หลายคนต่างค่อนแคะสบประมาทกันว่า “รู้เหรอว่า Soft Power คืออะไร” แน่นอนว่าพวกเราก็สงสัยเช่นกันว่าในสายตาเพื่อไทยแล้ว Soft Power คืออะไร?

เราได้พูดคุยกับคนที่อยู่เบื้องหลังนโยบาย Soft Power ของเพื่อไทย จึงพอสรุปได้ว่าเพื่อไทยไม่ได้ยึดตามตำราที่มอง Soft Power เพียงมิติการเมืองระหว่างประเทศ แต่เน้นประยุกต์ใช้ในมิติทางเศรษฐกิจเช่นเดียวกับเกาหลีใต้ สิ่งที่จะโน้มน้าวให้คนประเทศอื่นอยากได้ อยากมี อยากเป็น แบบไทยมากที่สุดคือ “คนไทย”

ในสายตาของเพื่อไทยแล้ว “คนไทย” คือคนที่จะทำให้ต่างชาติประทับใจในประเทศไทยได้ดีที่สุด เพราะนอกจากอัธยาศัย ไมตรี รอยยิ้มและอารมณ์ขันที่จะมัดใจคนทั้งโลกแล้ว “ฝีมือคนไทย” ก็เป็นอีกสิ่งที่จะสร้างความประทับใจจนทำให้คนทั่วโลกหลงใหล ทั้งฝีมือการทำอาหาร การต่อสู้ การร้องเพลง การแสดงภาพยนตร์ การวาดรูป และอื่นๆ

ดังนั้น การจะพัฒนา Soft Power ของประเทศไทยให้ไปไกลสู่ระดับโลกได้ต้องเริ่มที่จุดตั้งต้นของเสน่ห์ที่จะครองใจคนทั้งโลก นั่นก็คือคนไทย และนี่จึงเป็นที่มาของนโยบาย “1 ครอบครัว 1 Soft Power” หรือ OFOS นั่นเอง

แล้วนโยบาย OFOS คืออะไร

เมื่อเพื่อไทยตีโจทย์ว่า Soft Power คือคนไทย จึงอยากมุ่งพัฒนาทักษะฝีมือคนไทยขนานใหญ่ ผ่านนโยบาย OFOS โดยจะเปิดโอกาสให้ “ทุกครัวเรือน” สามารถเข้ามาฝึกอบรมผ่าน “ศูนย์บ่มเพาะสร้างสรรค์” เพื่อยกระดับศักยภาพสร้างสรรค์ของตัวเองให้สูงขึ้น ทั้งการร้องเพลง การทำอาหาร การทำหนัง การเขียนนิยาย และอื่นๆ

ซึ่งการฝึกอบรมจะแบ่งเป็นระดับตามขั้นบันได จากระดับพื้นฐานสู่ความเป็นเลิศ และจะมีใบรับรองศักยภาพสร้างสรรค์ผ่านการร่วมมือกับสถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ โดยศูนย์บ่มเพาะฯ จะกระจายตัวไปทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกครัวเรือนเข้าถึงได้ตั้งแต่ระดับตำบล จังหวัด จนถึงระดับประเทศ และหากตั้งใจจะพัฒนาศักยภาพตัวเองต่อ ก็จะมีทุนให้ไปเรียนในต่างประเทศต่อไป ซึ่งการอบรมเรียนรู้ทักษะจากศูนย์บ่มเพาะนี้จะ “ไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆ”

ดังนั้น OFOS จึงเป็นนโยบายที่ “Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศ!” โดยเชื่อว่าหากคนไทยทุกครัวเรือนผ่านการยกระดับศักยภาพของตัวเองแล้ว ประเทศไทยจะมี “แรงงานสร้างสรรค์ทักษะสูง” กว่า 20 ล้านคนจาก 20 ล้านครอบครัวทั่วประเทศ และนี่คือ “นโยบายสร้างคน” ของเพื่อไทย

อะไรคือ THACCA

เมื่อสร้างคน สร้างแรงงานทักษะสูงมากถึง 20 ล้านคนแล้ว เราจะปล่อยให้เขาตกงานก็คงไม่ได้ เพื่อไทยจึงต้อง “สร้างงาน 20 ล้านตำแหน่ง” ควบคู่ไปด้วย ผ่านการ “สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์” เพื่อรองรับแรงงานเหล่านี้ ซึ่งการจะสร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในประเทศได้ ต้องมีแม่งานในการรับผิดชอบที่ชัดเจน และนั่นจึงเป็นที่มาของ “THACCA”

THACCA หรือ Thailand Creative Content Agency จะเป็นองค์กรที่ออกแบบมาเพื่อ “สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ” เช่นเดียวกับเกาหลีใต้ที่มี KOCCA หรือไต้หวันที่มี TAICCA โดย THACCA จะเป็นแม่งานในการรับผิดชอบ มีอำนาจเบ็ดเสร็จและประสานงานหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงพาณิชย์ กระทรวงการต่างประเทศ และอื่นๆ เพื่อทำงานร่วมกันในการส่งเสริมอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ

THACCA จะสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้ง 8 ด้าน คือ อาหาร ดนตรี ภาพยนตร์ หนังสือ ศิลปะ การออกแบบ/แฟชั่น กีฬา และการท่องเที่ยว ด้วยการรื้อกฎหมายที่เป็นอุปสรรค ปลดปล่อยเสรีภาพทางความคิด สนับสนุนเงินทุนผ่านกองทุนรวม Soft Power ลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานที่เกี่ยวข้อง และ THACCA ยังออกแบบองค์กรให้ตัวแทนของแต่ละอุตสาหกรรมเข้ามามีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายอีกด้วย

ดังนั้น THACCA จึงเป็นองค์กรที่ “สร้างงาน สร้างอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ทั้งระบบ” โดยมองว่าหากรัฐบาลเข้ามาสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อย่างจริงจัง เป็นระบบครบวงจรในหน่วยงานเดียว จะสามารถสร้างงานได้มากถึง 20 ล้านตำแหน่ง ซึ่งจะเป็นนโยบายที่สร้างงานมากที่สุดในประวัติศาสตร์ และนี่คือ นโยบาย “สร้างงาน” ของเพื่อไทย

นโยบายต่างประเทศคือสิ่งที่ขาดไม่ได้

เมื่อสร้างคน สร้างงานแล้ว ก็ต้องหาช่องทางสร้างเงินให้กับอุตสาหกรรมด้วย เพื่อไทยจึงต้อง “สร้างตลาด” เพื่อให้อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทยเติบโตอย่างแข็งแกร่งในระยะยาว และตลาดที่ใหญ่ที่สุดที่เพื่อไทยจะพาธุรกิจไทยไปค้าขายคือ “ตลาดโลก” นโยบายต่างประเทศจึงเป็นสิ่งที่ขาดไม่ได้สำหรับนโยบาย Soft Power

เพื่อไทยจึงประกาศว่าจะเร่งรัดเจรจาการค้าเสรี (FTA) กับประเทศต่างๆ เพื่อขยายโอกาสในการส่งออกของสินค้าไทย ใช้การทูตเพื่อขยายการค้าชายแดน รวมทั้งรื้อฟื้นนโยบาย “ครัวไทยสู่ครัวโลก” เพื่อสนับสนุนให้เกิดการตั้งธุรกิจร้านอาหารไทยในต่างประเทศมากขึ้น เพราะจะทำให้การส่งออกสินค้าวัตถุดิบอาหารไทยเติบโตขึ้นตามไปด้วย

นอกจากการค้าระหว่างประเทศแล้ว เพื่อไทยได้ประกาศ “ยกระดับพาสปอร์ตไทย” เพื่อให้นักธุรกิจไทยสามารถเดินทางไปค้าขายกับทั่วโลกได้โดยไม่มีปัญหาเรื่องวีซ่า และประกาศนโยบายเชื่อมประเทศไทยสู่โลกด้วยการตั้งเป้าให้ไทยเป็น “ศูนย์กลางการบินในภูมิภาค” และประกาศจะดึงเทศกาลระดับโลกมาจัดที่ไทย ดันเทศกาลไทยไปสู่ระดับโลก เพื่อดึงนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลกให้เข้ามาในประเทศ มากินอาหารไทย มาเสพงานฝีมือของคนไทย มาใช้จ่ายเพื่อสร้างรายได้ให้กับคนไทย

ยิ่งไปกว่านั้น จะมีแนวคิดขยายสำนักงาน THACCA ไปยังต่างประเทศ เพื่อดึงดูดนักลงทุนในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มาที่ไทย ดึงดูดนักสร้างสรรค์ฝีมือดีจากทั่วโลก และผลักดันให้นักสร้างสรรค์ไทยไปแสดงผลงานยังต่างประเทศ ดังนั้น THACCA ในต่างประเทศ จะเป็นแม่งานหลักในการดึงความร่วมมือจากทั่วโลกมาสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ไทย

และนี่คือนโยบาย “สร้างตลาด” ของเพื่อไทย

นโยบายที่คิดโคตรใหญ่

เห็นได้ว่า นโยบาย Soft Power ของเพื่อไทย เป็นนโยบาย 3 สร้าง คือ

1. สร้างคน ด้วยการ Upskill-Reskill คนไทยทั้งประเทศ ผ่าน OFOS เพื่อสร้างแรงงานทักษะสูง 20 ล้านคน

2. สร้างงาน ด้วยการสนับสนุนทุกรูปแบบสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ผ่าน THACCA เพื่องาน 20 ล้านตำแหน่ง

3. สร้างตลาด ด้วยการมองว่าโลกทั้งใบคือตลาดของคนไทย ผ่านนโยบายต่างประเทศเพื่อเศรษฐกิจ

การสร้างคน สร้างงาน สร้างตลาด การทำทั้งระบบแบบนี้ เป็นอะไรที่ “คิดโคตรใหญ่” และเป็นนโยบายที่ทะเยอทะยานที่สุดในประวัติศาสตร์เลยก็ว่าได้ เพราะไม่ได้เป็นแค่โครงการหรือนโยบายเดียวโดดๆ แต่เกี่ยวพันกับหลายนโยบายย่อย เหมือนกับจิ๊กซอว์ที่ต้องประกอบกันหลายชิ้นจึงจะได้ภาพใหญ่ที่สวยงาม และภาพใหญ่ที่ว่านั้นคือนโยบาย Soft Power ฉบับเพื่อไทย

แต่ก็เป็นเรื่องที่ท้าทายมากในสถานการณ์ทางการเมืองขณะนี้สำหรับรัฐบาลใหม่ อย่างไรก็ตาม เราคงต้องรอลุ้นกันว่า รัฐบาลเพื่อไทยจะสามารถผลักดันนโยบายที่ “คิดโคตรใหญ่” นี้ให้เป็นจริงได้หรือไม่ เพราะนโยบาย Soft Power นี้จะสร้างผลประโยชน์มหาศาลให้แก่เศรษฐกิจภาพใหญ่ทั้งประเทศ และประโยชน์เหล่านั้นจะตกถึงมือประชาชนในเกือบทุกครัวเรือน

หากนโยบายนี้ทำได้จริง เราเชื่อว่าคนไทยทั้งประเทศจะหลุดพ้นจากความยากจนได้อย่างแน่นอน

ขอบคุณข้อมูลจาก CARE คิด เคลื่อน ไทย